Dethrone: From Quantitative Easing to Digital Currencies - What's Next for the Dollar's Status Quo? (TH)

Dethrone: From Quantitative Easing to Digital Currencies - What's Next for the Dollar's Status Quo? (TH)

In the long run we are all dead.
- John Maynard Keynes

QE กับทฤษฏีเงินเฟ้อ (ตอนที่ 1): Oversupply Always Leads to Devaluation

June 2015

นี่คือกฎเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่เราคุ้นเคยกันดี เมื่อน้ำมันล้นตลาด ราคาน้ำมันก็ตกต่ำ เมื่อแรงงานในประเทศมีมากเกินไป ค่าแรงก็ถูกกดให้ต่ำลง และเมื่อรัฐบาลทั่วโลกดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่องตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ตามคำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์สายเคนส์ จนเกิดภาวะเงินล้นตลาด นักเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียนที่ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงเศรษฐกิจของภาครัฐจึงเชื่อมั่นว่าเงินจะต้องด้อยค่าลงอย่างมาก หรือเกิดภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกกลับแตกต่างจากที่นักเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียนคาดการณ์ไว้อย่างมาก

ความจริงแล้ว ไม่ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์สายเคนส์ถูกและสายออสเตรียนผิด แต่ทั้งสองฝ่ายต่างมีข้อบกพร่องในการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

บางคนมองว่าเรากำลังอยู่ในยุคของเงินฝืด (Deflation) ในขณะที่บางคนเชื่อว่าเรากำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ความจริงแล้ว ทั้งสองมุมมองนี้ถูกต้อง เพราะเงินฝืดไม่ใช่คู่ตรงข้ามของเงินเฟ้อ ทั้งสองสภาวะสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะเงินฝืด (การหมุนเวียนของเงินลดลงอย่างมาก) แต่ในขณะเดียวกัน ราคาสินค้าและบริการกลับสูงขึ้น (เงินเฟ้อ)

ในอดีต เราเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจซบเซา ประชาชนมีกำลังซื้อน้อยลง ราคาสินค้าจะปรับตัวลดลงจนถึงจุดที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้ นั่นหมายความว่าเมื่อเงินหายากขึ้น มูลค่าของเงินก็จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้า ทำให้สามารถใช้เงินจำนวนน้อยซื้อสินค้าได้มากขึ้น นี่คือภาวะเงินฝืดที่หลายคนวิตกกังวล

แต่ในโลกปัจจุบัน ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมไม่สามารถอธิบายสถานการณ์ได้อย่างครบถ้วน แม้จะมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านนโยบาย QE อย่างมหาศาล แต่เงินเหล่านี้กลับไม่ได้ไหลเวียนไปถึงมือประชาชนทั่วไป ทำให้คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเงินหายาก แม้ปริมาณเงินในระบบจะมากขึ้นก็ตาม เราจึงไม่รู้สึกว่าเงินมีมูลค่าลดลง

เมื่อประชาชนยังคงต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพและรู้สึกว่าเงินหายากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่ารัฐบาลจะพิมพ์เงินออกมามากเพียงใด หากเงินเหล่านั้นไม่ถึงมือประชาชน ย่อมนำไปสู่พฤติกรรมการกักตุนเงิน (hoarding) เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งยิ่งทำให้เงินหมุนเวียนในระบบน้อยลง สถานการณ์นี้คือปรากฏการณ์เงินฝืดที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดในยุคนี้ไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าลดลงเหมือนในทฤษฎี ผู้ประกอบการไม่สามารถลดราคาสินค้าได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาวะที่ราคาสินค้าแพงขึ้นในขณะที่เกิดเงินฝืดนี้ เราเรียกว่า Stagflation (มาจาก Stagnation + Inflation)

แต่ Stagflation ในปี 2015 แตกต่างจาก Stagflation ในปี 1983 อย่างมาก ในช่วงปี 1983 ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการปฏิวัติในอิหร่าน (Iranian Revolution) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทั่วโลกสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ปี 2015 ราคาน้ำมันลดลงถึง 50% แต่ค่าครองชีพของเรากลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วย

สาเหตุสำคัญมาจากความล้มเหลวในการบริหารงานของภาครัฐ ธนาคารกลางพิมพ์เงินอย่างมโหฬาร ทำให้ต้นทุนของรัฐสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือก่อให้เกิดผลผลิตที่แท้จริงได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือภาระหนี้ที่รัฐบาลจะต้องแบกรับหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจที่ดำเนินนโยบายพิมพ์เงินอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และล่าสุดคือกลุ่มประเทศในยูโรโซน

ต้นทุนของรัฐที่สูงขึ้นนี้เองที่กดดันให้ราคาสินค้าและบริการแทบทุกอย่างในโลกแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เรายังคงห่างไกลจากภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) การเกิดอภิมหาเงินเฟ้อไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากการพิมพ์เงินไม่จำกัดของรัฐบาลอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เกิดจากการสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง ก่อนที่จะถึงจุดนั้น เราอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนเงินที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ (หลักฐานที่ชัดเจนคือ แม้สหรัฐฯ จะพิมพ์เงินมาตลอด 4 ปี แต่ค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ก็ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะ Hyperinflation ที่เงินควรจะมีมูลค่าต่ำลงมากและราคา Commodity ควรจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว)

คำถามสำคัญคือ หากเงินที่รัฐพิมพ์ออกมาจำนวนมหาศาลไม่ได้ไหลเวียนไปถึงมือประชาชน แล้วเงินเหล่านี้หายไปไหนในระบบเศรษฐกิจโลก? ดังนั้น หัวใจสำคัญของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในโลกยุคปัจจุบันควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์การไหลเวียนของเงินทุน (Capital flow) มากกว่า

เพื่อที่จะเข้าใจภาพรวมของ "เศรษฐศาสตร์ใหม่" อย่างครบถ้วน เราจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ทั้งในเรื่องของภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) การไหลเวียนของเงินทุน (Capital Flow) ภาวะเงินฝืด (Deflation) นโยบายอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Policy) และอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate) ผมจะทยอยนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในบทความต่อๆ ไป เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอย่างครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

QE กับทฤษฎีเงินเฟ้อ (ตอนที่ 2): Hyperinflation

June 2015

ความหมายของภาวะอภิมหาเงินเฟ้อคืออะไร? ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อคือสถานการณ์ที่ "เงินด้อยค่ามากจนไม่มีใครต้องการ" เมื่อได้รับเงินมา คนจะรีบเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่นโดยเร็วที่สุด

ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลพังทลาย ไม่มีใครต้องการเงินอีกต่อไป ส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว ไข่ที่เคยขายฟองละ 5 บาท อาจขึ้นไปถึงฟองละ 1 ล้านบาทแต่ก็ยังไม่มีใครอยากขาย

คนรวยที่มีเงินฝากหลายล้านบาทอาจเหลือมูลค่าเพียงพอซื้ออาหารได้แค่มื้อเดียว ทุกคนจะทิ้งเงินสดเพราะไม่เชื่อว่าจะใช้แลกเปลี่ยนได้อีก และจะกักตุนสินทรัพย์ที่แลกเป็นปัจจัยสี่ได้

หากคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้เป็นไปไม่ได้ ลองศึกษาประวัติศาสตร์โลกดู มีภาวะอภิมหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น:

ไวมาร์ เยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เงินเฟ้อ 21% ต่อวัน

ยูโกสลาเวียตอนแยกประเทศปี 1994 เงินเฟ้อ 65% ต่อวัน

ซิมบับเวช่วงพิมพ์เงินปี 2008 เงินเฟ้อ 98% ต่อวัน

ฮังการีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เงินเฟ้อ 207% ต่อวัน

ข้อมูลเหล่านี้หาอ่านได้จากอินเทอร์เน็ต

ทฤษฎีเงินเฟ้อระบุว่าการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของประเทศมหาอำนาจจะทำให้เกิดภาวะอภิมหาเงินเฟ้อและเงินดอลลาร์จะล่มสลาย ผมเคยเชื่อเช่นนั้น แต่ตอนนี้ยอมรับว่าคิดผิด

ผมจึงอยากแบ่งปันมุมมองใหม่ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นของ "เศรษฐศาสตร์ใหม่" ที่ทฤษฎีเก่าๆ ในตำราใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ซิมบับเวพิมพ์เงินจนประเทศล่มสลาย แต่เมื่อสหรัฐฯ ทำแบบเดียวกัน ทำไมผลลัพธ์จึงต่างกัน?

เราต้องเข้าใจความหมายของ "ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ" ให้ตรงกันก่อน

สำหรับผม มันคือการสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินสกุลใดสกุลหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่เงินเฟ้อสูงเหมือนในทศวรรษ 1980 (อาจจะเงินเฟ้อถึง 20% หรือ 100%) ตราบใดที่ประชาชนยังเชื่อมั่นในรัฐและต้องการถือครองเงิน นั่นยังไม่ใช่ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ

ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อคือช่วงที่คนส่วนใหญ่พร้อมใจทิ้งเงินไปถือสินทรัพย์อื่น ความเชื่อมั่นต่อรัฐพังทลาย ราคาสินทรัพย์ทุกอย่างพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่เพราะค่าเงินลดลงจนเกือบเป็นศูนย์

หลังวิกฤตอภิมหาเงินเฟ้อ ประเทศมักปฏิรูประบบการเงินใหม่ เงินสกุลเดิมล่มสลายถาวร มีการสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาแทน เช่น ฝรั่งเศสหลังปฏิวัติปี 1641 เกิดภาวะอภิมหาเงินเฟ้อจนเงินลีฟร์ทัวนัวส์ล่มสลาย รัฐบาลใหม่ประกาศใช้เงินฟรังก์ในปี 1795 ใช้ต่อเนื่องหลายร้อยปีจนเปลี่ยนเป็นยูโรในปี 1999

ในแง่เศรษฐศาสตร์ ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อคือการหมุนเวียนของเงินที่เร็วมาก (Velocity of Money เพิ่มสูงขึ้น) หลังการพิมพ์เงิน

แต่ถ้าดูเงินดอลลาร์สหรัฐ ความเร็วในการหมุนเวียนของเงินปัจจุบันต่ำสุดในรอบ 100 ปี เงินดอลลาร์ปี 2015 หมุนเวียนช้ากว่าช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ปี 1929 เสียอีก

เห็นได้ชัดว่าตรงข้ามกัน! สหรัฐฯ ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณไม่อั้น แต่คนก็ยังถือครองดอลลาร์อยู่

สาเหตุหลักที่สหรัฐอเมริกาไม่เข้าใกล้ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อมีหลายประการ:

ทุกคนยังยึดถือดอลลาร์ - คุณรู้จักเปโตรดอลลาร์ไหมครับ? ข้อตกลงระหว่างสหรัฐกับกลุ่ม OPEC ที่บังคับให้ทุกประเทศซื้อขายน้ำมันด้วยเงินดอลลาร์เท่านั้น ใครฝ่าฝืนต้องเผชิญสงคราม ตราบใดที่น้ำมันยังเป็นพลังงานหลักของโลกและการซื้อขายยังใช้ดอลลาร์ ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อหรือการทิ้งดอลลาร์คงไม่เกิดขึ้น

ตลาดพันธบัตรยังคงอยู่ - หากคุณเป็นเจ้าหนี้สหรัฐ คุณจะยอมให้สหรัฐล้มละลายหรือ? เงินดอลลาร์ที่คุณให้สหรัฐกู้จะหายไปทันทีที่เกิดภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ! ประเทศโลกที่สามอย่างซิมบับเวเกิดภาวะนี้ได้ง่ายเพราะรัฐบาลพิมพ์เงินล้างหนี้ ไม่เหลือเจ้าหนี้ จึงไม่มีใครอยากเห็นค่าเงินสกุลนี้อีก แต่สหรัฐอเมริกา (ณ ตอนนี้) ไม่ใช่ เจ้าหนี้จะกดดันลูกหนี้ บังคับให้หาเงินมาชำระหนี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ขึ้นภาษี หารายได้ รีดเงินจากประชาชน ดึงเงินจากธุรกิจ ทำอย่างไรก็ได้

หลังจากนี้วิกฤตหนี้ยุโรปจะรุนแรงขึ้น เงินยูโรจะสั่นคลอนจากปัญหาหนี้ภาครัฐที่หนักขึ้นเรื่อยๆ เงินทุนจากยุโรปและทั่วโลกจะไหลเข้าดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากในช่วงวิกฤตยุโรป (ผมไม่คิดว่าหยวนจีนจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้เร็วๆ นี้ จีนจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแน่ แต่ต้องใช้เวลาสั่งสมบารมี)

ขณะที่ยุโรปล่มสลาย ตลาดทุนประเทศอื่นๆ จะย่ำแย่เพราะเงินทุนไหลออกไปถือดอลลาร์ ราคาทองคำอาจร่วงแรงต่ำกว่า $1,000 ต่อออนซ์ (ผมยังเชื่อมั่นในทองคำ แต่คิดว่ามีโอกาสสูงที่จะตกหนักในช่วงเงินฝืดก่อนกลับตัวขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ) ประเทศลูกหนี้ในโลกที่สามจะเผชิญภาวะเงินฝืดรุนแรงขึ้นจากภาระหนี้ดอลลาร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อัพเดท 2024

ในช่วงที่ผมเขียนบทความ ประมาณ 6 เดือน ทองคำลงไปทดสอบแถวๆ $1,000 แต่ไม่หลุด $1,000 อย่างที่ผมคาดการณ์ แล้วหลายปีหลังจากนั้นทองคำก็กลับเป็นขาขึ้นจริง แต่ทองคำมาพร้อมโรคระบาดโควิด-19 ไม่ได้มาจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐอย่างที่ผมคาดการณ์

โลกเราไม่ได้เสี่ยงกับวิกฤตภาวะอภิมหาเงินเฟ้ออย่างที่กลัวกัน แต่กำลังจะเผชิญวิกฤตภาวะเงินฝืดรุนแรงในระบบเศรษฐกิจโลก จนถึงจุดหนึ่งเงินฝืดจะถึงจุดสูงสุด แล้วลูกตุ้มจึงจะแกว่งกลับ

หลายปีหลังจากเงินทุนไหลเข้าสหรัฐ สหรัฐจะประสบปัญหาใหญ่กว่าที่ยุโรปเคยเจอ และอาจเป็นวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 250 ปี

ระบบการเงินโลกใหม่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า แต่จะก่อนหรือหลังวิกฤตสหรัฐผมไม่อาจทราบได้ เพราะยังมีตัวแปรอีกมากทั้งจีนและรัสเซียที่ยังไม่ได้พูดถึง

แต่ทุกมหาอำนาจที่จะเผชิญวิกฤตหลังจากนี้ จะเกิดจาก "วิกฤตหนี้ภาครัฐ" ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา เมื่อมีเวลาผมจะมาเล่าต่อถึงประเด็นหลักของวิกฤตหนี้ภาครัฐ ที่มาจากตลาดพันธบัตรและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงระบบการเงินโลกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตหนี้ทั่วโลก

QE กับทฤษฎีเงินเฟ้อ (ตอนที่ 3): Why Does the US Need to Raise Interest Rates?

July 2015

"เงิน" ในระบบเศรษฐกิจโลกยุคนี้มีความผิดปกติอยู่หลายเรื่อง

ปริมาณเงินในโลกนี้มันเพิ่มขึ้นเยอะมากจาก QE แต่ "บทบาทที่แท้จริงของเงิน" ในยุคนี้ที่พิมพ์ออกมากลับไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการซื้อขายสินค้า (Medium of Exchange) แต่มีไว้เพื่อเป็นอาวุธในการเก็งกำไร

ดังนั้นเมื่อเราพยายามคาดการณ์อนาคต โดยยึดติดกับ "บริบทของเงิน" ในอดีต ผลลัพธ์จึงผิดพลาด เพราะเงินที่พิมพ์ออกมามันไม่ได้ไหลมาสู่โลกแห่งการซื้อขายสินค้า แต่กลับไหลไปอยู่ในโลกอีกฟากหนึ่งที่พวกเราไม่คุ้นเคย (พิมพ์เงินแต่เงินกลับไม่เฟ้อ เศรษฐกิจกลับไม่ฟื้น)

แถมยุคนี้เงินมันไม่ได้ไหลเวียนอยู่ในประเทศๆ เดียวเหมือนในอดีต แต่มันหมุนเวียนไหลไปมาในระบบเศรษฐกิจโลกจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่งในคลิกเดียว ตามผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนในโลกยุคโลกาภิวัตน์

เช่น การที่หุ้นจะขึ้นหรือจะลงในยุคนี้ ในระยะสั้นมันแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ หรือพื้นฐานของบริษัทอีกแล้ว แต่มันมาจากผลลัพธ์ของการไหลเวียนของเงินทุน (Capital Flow) ที่ไหลเข้าไหลออกตามสถานการณ์ต่างหาก (ดังนั้นในระยะสั้น ถ้าคุณเป็น VI คุณจะต้องทนความผันผวนที่มากยิ่งกว่าที่เคยเจอในอดีตให้ได้)

เมื่อเงินไหลไปอยู่ในโลกการลงทุน แทนที่ QE จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ เลยกลับทำให้เงินฝืดอย่างรุนแรงไปแทน เมื่อโลกพลิกกลับตาลปัตรแบบนี้ อนาคตของโลกจะไปทางไหน?

เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาไม่ใช่จากการด้อยค่าของเงินที่พิมพ์ออกมาจำนวนมากหรอกครับ

แต่ระเบิดเวลา มันอยู่ที่หนี้ภาครัฐที่มากจนเกินกว่าที่จะจัดการได้ต่างหาก

  • สหรัฐอเมริกามีหนี้ในและนอกงบประมาณงอกมามากกว่า $90 ล้านล้าน
  • ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะ $10 ล้านล้าน
  • กลุ่มยูโรมีหนี้สาธารณะมากกว่า €12 ล้านล้าน

และทุกประเทศหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะชะลอ

(อย่าลืมว่าเลขทั้งหมดข้างบนคือหนี้เมื่อปี 2015)

รัฐบาลส่วนใหญ่ ทำยังไงกับปัญหานี้?

เมื่อคุณต้องขอยืมเงินคนอื่นจำนวนมากๆ แบบรัฐบาลทั่วโลกเป็นอยู่ขณะนี้ วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดภาระให้คุณได้ก็คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ควรจะต้องต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

อัตราดอกเบี้ยของโลกยุคนี้จึงต่ำติดดิน

สหรัฐอเมริกามีอัตราดอกเบี้ย 0.25%

ญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ย 0%

เยอรมันมีอัตราดอกเบี้ย 0.05%

สวิสเซอร์แลนด์มีอัตราดอกเบี้ย -0.75%! (หรือพูดอีกแง่ ถ้าคุณให้รัฐบาลสวิสกู้เงิน คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้รัฐ!?)

โลกเรากำลังเข้าใกล้ยุคแห่ง NIRP: Negative Interest Rate Policy เข้าไปทุกทีๆ แล้วครับ

พออัตราดอกเบี้ยถูก รัฐบาลก็กู้สนุกมือ แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนานหลายๆ ปีเข้า ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจก็จะตามมาครับ เพราะจะมีแต่การกู้ๆๆ จนหนี้สินท่วมล้นพ้นตัว ไม่มีปัญญาจะใช้คืน (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน)

เมื่อหนี้มาก เศรษฐกิจก็เปราะบาง และหากเกิดปัญหาอะไรมากระทบเพียงเล็กน้อยฟองสบู่หนี้ก็สามารถแตกได้ทุกเมื่อ (เช่นไทยตอนต้มยำกุ้ง พอลอยค่าเงินบาท พวกหนี้สินที่เป็นเงินดอลลาร์ก็เพิ่มพรวดหนึ่งเท่าตัวทันที เอกชนจำนวนมากล้มทั้งยืน)

กลับมาเรื่องอเมริกาต่อ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากขนาดนี้มาเป็นเวลาร่วมๆ สิบปี ทำให้เกิดการส่งออก (ปล่อยกู้) ดอลลาร์จำนวนมากไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนามีการกู้ดอลลาร์จำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่ไม่มีทางที่อเมริกาจะรักษาอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำขนาดนี้ไว้ได้นานๆ ปัญหาแรกที่อเมริกาจะเจอคือ พวกกองทุนสวัสดิการของรัฐจะประสบปัญหาเรื่องผลตอบแทน

คือโดยปกติกองทุนเหล่านี้จะต้องเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นการให้เงินรัฐบาลกู้ (คือซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง) แต่ผลตอบแทนของพันธบัตรที่ต่ำมาก ทำให้กองทุนสวัสดิการเหล่านี้มีความเสี่ยงจะล้ม เพราะไม่สามารถเพิ่มฐานทุนได้มากพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในสังคมแห่งผู้สูงอายุที่รายจ่ายสวัสดิการจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ครับ เพราะประชาชนคนอเมริกันจำนวนมากที่เอาชีวิตแขวนบนสวัสดิการรัฐ อเมริกาจะยอมให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความเชื่อมั่นในรัฐบาลจะถูกทำลาย และอาจจะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมา

แถมการพิมพ์เงินของ FED ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดเงินเฟ้ออย่างที่ควรจะเป็น เพราะแทนที่ปริมาณเงินที่มากขึ้นจะไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา มันกลับไหลออกไปเก็งกำไรในตลาดทั่วโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผลอย่างที่คาดไว้

หนักไปกว่านั้น ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกายังไม่ฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น ตลาดหุ้นกลับร้อนแรง จากสภาพคล่องที่ล้นเหลือที่เกิดจากการพิมพ์เงิน (เงินไม่ถูกอัดฉีดไปที่ real sector เพราะความเสี่ยงสูง แต่กลับถูกอัดฉีดเข้าไปที่ตลาดหุ้นแทน เศรษฐกิจแย่ แต่หุ้นขึ้น) อาการนี้คล้ายๆ กับสถานการณ์ที่เกิดในอเมริกาช่วงก่อนวิกฤติ The Great Depression ที่ FED ลดดอกเบี้ยจากระดับ 7% มาเหลือ 3% ในระหว่างปี 1921-1927 หุ้นใน Wall Street วิ่งอย่างร้อนแรงตลอดหลายปีติดต่อกัน

FED จึงเจอปัญหาสองทาง ทางแรกคือ ต้องป้องกันฟองสบู่ที่จะเกิดกับอเมริกา และต้องช่วยเหลือพวกกองทุนสวัสดิการให้อยู่รอดให้ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ด้วยการ "ขึ้นดอกเบี้ย"

ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เมื่อขึ้นดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและรัฐก็จะสูงขึ้น จะช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้ เงินทั้งหลายจะถูกดูดซับออกจากระบบเศรษฐกิจ และเมื่อดอกเบี้ยขึ้น กองทุนสวัสดิการทั้งหลายก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น รอดพ้นจากภาวะล้มละลาย

แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การขึ้นดอกเบี้ย มันจะเป็นทางแก้ปัญหาจริงหรือไม่? อัตราดอกเบี้ยของ FED กับเงินทุนทั่วโลกมันเกี่ยวข้องกันยังไง

ไว้ผมจะมาเล่าต่อให้ฟังครับ

QE กับทฤษฎีเงินเฟ้อ (ตอนที่ 4): Capital Flow

July 2015

ปัญหาหลักที่ตามมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ คืออะไร?

ผมไม่ได้หมายถึงต้นทุนของหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นเพราะการขึ้นดอกเบี้ย เพราะสหรัฐฯ ไม่เคยใส่ใจเรื่องภาระหนี้สินอยู่แล้ว (ไม่เช่นนั้นคงไม่ปรับเพดานหนี้หลายสิบครั้งโดยไม่ลังเล)

แต่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กู้เงินในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐต่างหากที่จะเผชิญปัญหาภาระหนี้ที่หนักขึ้นจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

บางคนเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่ค่อยๆ เพิ่มดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งผมค่อนข้างเห็นต่างในประเด็นนี้ แต่หากเกิดขึ้นจริง ประเทศที่กู้เงินจำนวนมากในสกุลดอลลาร์สหรัฐจะเผชิญปัญหาใหญ่แน่นอน

ก่อนหน้านี้ภาระหนี้สูงเกิดกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่หากเกิดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างฉับพลัน อีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะประสบปัญหาจากภาระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้นตามๆ กัน กลายเป็นภาวะหนี้สูงทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลองนึกภาพประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ในโลกเริ่มมีสภาวะเหมือนกรีซในปัจจุบัน กู้เพิ่มเรื่อยๆ ไม่สามารถชำระหนี้เดิมได้ เพราะจ่ายเท่าไหร่ก็ลดได้แค่ดอกเบี้ย แต่เงินต้นกลับพอกพูน อีกทั้งภาระหนี้ยังหนักขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งตัว ทำให้ต้องจ่ายมากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศตนเอง

นอกจากนี้ ผมจะกล่าวถึงปัญหาฟองสบู่ที่เกิดจากการไหลเข้าของเงินทุนอีกประเด็น

มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ปี 1929 หลังจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมาหลายปี ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถูกกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อชะลอความร้อนแรงของตลาดหุ้นและภาวะฟองสบู่ ดอกเบี้ยเพิ่มจาก 4% เป็น 6%

แต่ปรากฏว่าดัชนีดาวโจนส์กลับไม่ได้ชะลอตัวลงเลย

แปลกไหมล่ะ ทฤษฎีบอกว่าเมื่อขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง เพราะต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ธุรกิจขยายตัวยากขึ้น อีกทั้งเมื่อดอกเบี้ยสูง บางคนจะเลิกลงทุนในหุ้น หันไปฝากเงินกับธนาคารแทน

แล้วทำไมตลาดหุ้นกลับพุ่งขึ้นอีกเท่าตัว?

จริงอยู่ที่นักลงทุนบางกลุ่มเลิกลงทุน ย้ายเงินจากตลาดหุ้นไปฝากธนาคาร แต่สัดส่วนของเงินนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับเงินทุนที่ไหลกลับเข้าสหรัฐฯ จากการขึ้นดอกเบี้ย (ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยเพราะเงินดอลลาร์แข็งค่ามาก เงินทุนไหลเข้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ พยายามผลักดันเงินทุนกลับยุโรป ด้วยการลดดอกเบี้ยจาก 7% เหลือ 3% ในช่วงปี 1921-1927 ตามที่ผมเล่าในตอนที่แล้ว)

ในปี 1927 เมื่อขึ้นดอกเบี้ย เงินทุนไหลกลับมามากกว่าส่วนที่ถูกดูดซับออกจากระบบ ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ทำจุดสูงสุดใหม่ที่ประมาณ 390 จุด ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกและเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศตามมา

ดัชนีดาวโจนส์ร่วงจาก 390 จุดเหลือประมาณ 40 จุด หรือพูดง่ายๆ คือลดลง 90% หากนึกภาพความเสียหาย 90% ไม่ออก ลองจินตนาการว่าถ้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปัจจุบันพังทลายเหมือนดัชนีดาวโจนส์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ดัชนีจะร่วงจาก 1,500 จุดไปอยู่ที่ 150 จุด ซึ่งเลวร้ายกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งมาก

และการไหลเวียนของเงินทุนในยุคนี้มีปริมาณมหาศาลกว่ายุคปี 1929 มาก
อีกทั้งการไหลเวียนของเงินทุนในยุคนี้มีสภาพคล่องสูงกว่ายุคปี 1929 มาก

เมื่อเงินจำนวนมากไหลเข้าสหรัฐฯ สิ่งที่จะเกิดตามมาอีกประการคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย ในขณะที่ยุโรปยังมีความไม่แน่นอนเรื่องปัญหาหนี้ เงินทุนน่าจะเริ่มไหลออกจากยุโรปเข้าสู่สหรัฐฯ มากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง

หากเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น สหรัฐฯ จะเริ่มประสบปัญหาคล้ายกับญี่ปุ่นในช่วงปี 1985 ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฟองสบู่เศรษฐกิจแตกและญี่ปุ่นไม่สามารถฟื้นตัวได้นับแต่นั้นมา ผมจะเล่าให้ฟัง ต้นเหตุก็มาจากการไหลเวียนของเงินทุนเช่นกัน

ก่อนปี 1985 เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองมาก หลังจากปฏิรูปประเทศภายหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนั้นค่าเงินเยนอ่อนค่า ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า (ในทศวรรษ 1980 เกิดวิกฤตเงินเฟ้อทั่วโลกจากการปฏิวัติในอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น จนสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีเกือบ 20% เพื่อรักษาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างรวดเร็วตามที่ผมเล่าไว้ในตอนก่อนๆ)

ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นเติบโตต่อเนื่องหลายปี พร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ของญี่ปุ่นที่ขายดีไปทั่วโลก ทั้งรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ในช่วงนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นดูมีอนาคตสดใสมาก ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง

หลังจากแพ้สงครามโลก ปี 1950 หนังสือพิมพ์นิกเกอิ (Nihon Keizai Shimbun) เริ่มคำนวณดัชนีนิกเกอิ โดยนำหุ้นใหญ่ 225 ตัวในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวมาคำนวณดัชนี (คล้ายกับ SET50 ของไทย)

ดัชนีนิกเกอิเริ่มต้นในปี 1950 ที่ 100 จุดเหมือนกับดัชนีอื่นๆ ทั่วโลก ผ่านไป 35 ปี นิกเกอิวิ่งจาก 100 จุดไปทะลุ 10,000 จุด หรือเพิ่มขึ้น 100 เท่าตัว! (เทียบกับ SET ของไทย ผ่านมา 40 ปี วิ่งจาก 100 จุดไป 1,500 จุด)

ในทางกลับกัน เมื่อสหรัฐอเมริกาสู้เพื่อยื้อชีวิตดอลลาร์สำเร็จ ต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น

คนจำนวนมากเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นน่าจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกด้วยซ้ำ เพราะช่วงนั้นอเมริกาเพิ่งฟื้นเมาหมัดจากวิกฤติเงินเฟ้อ อาการยังไม่นิ่ง

อเมริกายอมไม่ได้ ญี่ปุ่นลูกหม้อตัวเอง จู่ๆ จะมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกแทนที่ เหยียบหน้ากันชัดๆ

ประเทศญี่ปุ่นจึงโดนสหรัฐอเมริกาบีบด้วยข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ให้ต้องปรับค่าเงินตัวเองให้แข็งขึ้นเท่าตัว (พูดง่ายๆ ว่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินเยนอ่อนลงถึง 50% แบบผิดธรรมชาติ - ลองค้นหาอ่านเรื่อง Plaza Accord นะครับ เป็นเรื่องน่าสนใจที่คนไทยส่วนหนึ่งไม่ค่อยรู้)

1 ดอลลาร์ในช่วง 1985 แลกได้ 260 เยน พอโดน Plaza Accord เข้าไป 3 ปี 1 ดอลลาร์แลกได้เพียง 120 เยน! โหดมาก

พอเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่น่าตกใจที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวการเดิม คือการไหลเวียนของเงินทุน!

เงินทุนทั่วโลกไหลบ่าเข้าไปที่ญี่ปุ่นอย่างรุนแรง เหมือนห่าฝนลูกเห็บที่ถาโถมเข้าสู่ญี่ปุ่น ตลาดนิกเกอิจากเดิมที่ร้อนแรงมากอยู่แล้ว ยิ่งร้อนแรงหนักกว่าเดิม พุ่งขึ้นจาก 10,000 จุดในปี 1985 ไปสู่จุดสูงสุดตลอดกาล 38,916 จุดในช่วง 1989 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว นี่คือสภาวะฟองสบู่ของประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดจากการไหลเวียนของเงินทุน (จินตนาการไม่ออกเลยว่าถ้า SET วิ่งไปที่ 38,000 จุด จะเป็นอย่างไร)

สวนทางกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นรวยได้จากการส่งออก รวยได้จากเงินที่อ่อน พอเงินแข็งเท่าตัว ของก็ขายได้ไม่ดีเหมือนก่อน ภาคเศรษฐกิจจริงกำลังเริ่มประสบปัญหา แต่ตลาดหุ้นกลับวิ่งสวนทางแบบสุดโต่ง

เมื่อความขัดแย้งถึงขีดสุด สุดท้ายฟองสบู่เศรษฐกิจทั้งตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นก็เข้าสู่วงจรการพังทลาย ฟองสบู่นิกเกอิระเบิดแตกออก ดับความรุ่งเรืองของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก ตั้งแต่ข้อตกลงพลาซาผ่านมาร่วม 30 ปี ญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวเลยจนถึงตอนนี้

นี่คือความน่ากลัวของการไหลเวียนของเงินทุน ที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา

คำเตือนนะครับ ผมไม่ได้บอกว่าหลังขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นอเมริกาจะร้อนแรงเหมือนนิกเกอิยุคนั้น ไม่ใช่ว่าอ่านบทความผมจบรีบไปซื้อหุ้นอเมริกานะ

เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าประวัติศาสตร์จะต้องซ้ำรอยญี่ปุ่นช่วงฟองสบู่ เพราะปัจจัยต่างๆ ในเศรษฐกิจยุคนี้ของอเมริกาแตกต่างจากยุคนั้นของญี่ปุ่นมาก ญี่ปุ่นตอนนั้นเศรษฐกิจดีมากด้วยปัจจัยพื้นฐานของประเทศ เมื่อทุนไหลเข้าตลาดหุ้นจึงร้อนแรงหนักไปกว่าเดิม แต่อเมริกาตอนนี้ไม่ใช่ เศรษฐกิจยังเปราะบางมาก ต่างกับญี่ปุ่นยุคนั้นอย่างชัดเจน

แต่เมื่อดอลลาร์แข็งค่าจากการไหลเวียนของเงินทุน สภาวะเงินฝืดทั่วโลกจะรุนแรงมากขึ้น สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อาจจะตกลงสวนทางดอลลาร์ (ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ) เมื่อเงินฝืดรุนแรงขึ้น ประชาชนอเมริกันจะเริ่มประสบปัญหา เศรษฐกิจจะยิ่งไม่ฟื้น ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นอาจจะวิ่งฉิวจากการไหลเวียนของเงินทุน

รัฐต้องพยายามหารายได้ให้มากขึ้นๆ ด้วยการขูดรีดภาษีทุกบาททุกสตางค์ (นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าเงินในอนาคตอาจจะอยู่ในรูปแบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้รัฐบาลควบคุมการไหลของเงินและภาษีได้ทุกบาททุกสตางค์ไม่มีเล็ดรอด)

ภาระหนี้มหาศาลและการพิมพ์เงินของอเมริกา จะไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไรเลย ตราบใดที่อเมริกายังทำให้ประชาชน "เชื่อมั่น"

แต่เมื่อไหร่ที่ประชาชนลำบากมากขึ้น ความเชื่อมั่นหดหาย เมื่อนั้นหายนะจะมาเยือน บาปทั้งหลายที่เคยก่อไว้ มันจะเริ่มตามมาหลอกหลอน ทั้งการพิมพ์เงิน หนี้สิน ฯลฯ

ภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) ไม่ได้เกิดจากการพิมพ์เงินนะครับ แต่เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลอย่างรุนแรง ประเทศเล็กๆ อย่างซิมบับเว พิมพ์เงินแล้วเกิดภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ ก็เพราะคนหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลทันทีที่พิมพ์ แต่อเมริกาพิมพ์เงินได้ ตราบใดที่คนยังเชื่อมั่นอยู่

แต่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ระยะสั้นดูเหมือนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเข้าใจว่า อเมริกากลับมาแล้ว เศรษฐกิจพลิกฟื้นแล้ว แต่ในระยะยาวอาจจะเป็นตัวจุดชนวนอะไรหลายๆ อย่างที่อาจจะทำลายความเชื่อมั่นของคนอเมริกันที่มีต่อรัฐบาลได้ เมื่อนั้นแหละครับ ที่วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะตามมาและระเบิดเวลาของภาระหนี้สหรัฐจะเริ่มจุดชนวน แต่มันไม่น่าจะเกิดในเร็ววันครับ ช่วงเวลาคงจะไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีหลังจากนี้

ซึ่งน่าจะพอดีกับช่วงเวลาที่หยวนกับจีน คงเสริมกำลังจนเข้มแข็งพร้อมผงาดอย่างเต็มที่ มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกคงจะเริ่มเปลี่ยนมือในช่วงนั้น

ที่เขียนมาซะยาว 4 ตอนนี้ ผมอยากเล่าให้เห็นภาพว่า นักเศรษฐศาสตร์สายเงินฝืด (Deflationist) มองต่างกับสายเงินเฟ้อ (Inflationist) การขึ้นอัตราดอกเบี้ย, เงินทุนไหลเข้า และค่าเงิน มันมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งในรูปแบบที่เป็นพลวัตซึ่งกันและกัน ในขณะปริมาณเงิน (Money Supply) นั้นถือเป็นตัวแปรที่มีผลไม่มากนัก

ผมเคยเป็นสายเงินเฟ้อมาก่อนหลายปี แต่ผลลัพธ์ของเศรษฐกิจโลกจากยุค QE มาถึงปัจจุบัน ทำให้ผมเริ่มเปลี่ยนความคิด จนกระทั่งมาศึกษาศาสตร์ด้านสายเงินฝืดแล้วนำความรู้ทั้งสองสายมาผสมผสานกัน ในระยะสั้นสายเงินฝืดจะแม่นยำครับ แต่ระยะยาว ผมเชื่อมั่นว่าสายเงินเฟ้อจะถูกต้อง (ถ้าไม่เกิดสงครามรีเซ็ตเศรษฐกิจโลกซะก่อนนะ)

ระยะยาว ทุกอย่างจะสะท้อนความเป็นจริง คุณพิมพ์เงินมั่วซั่วตามใจฉัน สุดท้ายเงินจะต้องด้อยค่า แต่สิ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดกัน คือเงินมันจะไม่ได้ด้อยค่าจากปริมาณเงินที่พิมพ์ออกมามากๆ แต่มันจะด้อยค่าจากความเชื่อมั่นของประเทศที่หดหายในระยะยาว

แต่ระยะสั้น มันไม่ใช่ คนที่เชื่อมั่นเรื่องภาวะอภิมหาเงินเฟ้อจะรักทองคำมาก ผมก็เคยรักทองมาก ในขณะที่ตอนนี้ผมกลับเชื่อว่าปีนี้ทองคำอาจจะมีโอกาสร่วงหนักไปหลุด $1,000 ต่อออนซ์ จากการแข็งค่าของดอลลาร์ (ผมมองว่าเป็นโอกาสเข้าซื้อนะ ช่วงปลายปี ถ้ามันหลุด $1,000 ต่อออนซ์จริงๆ)

ผมไม่ฟันธง แค่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้พวกคุณลองมองโลกอีกด้าน คิดและวิเคราะห์กัน ผมอาจจะผิดก็ได้ เราต้องรอดูกันไป

แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้คุณเห็นคือ อัตราดอกเบี้ย ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่ควบคุมต้นทุนการกู้ของภาครัฐและเอกชน หรือดูดซับปริมาณเงินในระบบอย่างที่พวกเราเคยเข้าใจกันจากหนังสือเรียนครับ

อัตราดอกเบี้ยนี่แหละครับ ที่เป็นหนึ่งตัวแปรที่จะทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุน ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในยุคโลกาภิวัตน์ เมื่อการไหลเวียนของเงินทุนมากขึ้นเรื่อยๆ แบบทวีคูณจากการพิมพ์เงิน ภาพทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เราเคยเข้าใจมันเลยบิดเบี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะต้องเข้าใจและตามมันให้ทัน

เขียนมาซะยาว จบได้แล้วครับ ขอบคุณมากที่ติดตามอ่านกัน

เมื่อเทคโนโลยีจะทำลายล้างมนุษย์ (ตอนที่ 1): Rise of the Robot

December 2016

อ่านหัวเรื่องไม่ผิดหรอกครับ นี่เป็นบทความด้านเศรษฐศาสตร์จริงๆ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานมนุษย์และจักรกลในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง มีแนวโน้มว่าจะสร้างปัญหาที่ยิ่งใหญ่ให้กับระบบเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว เมื่อระบบอัตโนมัติอย่างหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้กำลังแรงงานของมนุษย์กลายเป็น ‘ส่วนเกิน’ ของระบบเศรษฐกิจไป

อะไรจะเกิดขึ้นบ้างในโลกแห่งอนาคตที่ภาคการผลิตและบริการสามารถขับเคลื่อนโดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์ก็ได้..?

ความเห็นส่วนตัวของผม เทคโนโลยีที่กำลังก้าวกระโดดนี้ จะไม่ได้กลับมาทำลายมนุษย์แบบ Skynet ในหนัง Terminator หรือ Machine ในหนัง The Matrix หรอกครับ แต่มันจะทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจดั้งเดิมที่เรามีจนทำให้ระบบเศรษฐกิจในอนาคตแตกต่างจากระบบที่เราคุ้นเคยกันแบบหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยทีเดียว

เรามาดูแนวโน้มกันว่า ปฏิกริยาลูกโซ่ของการปฏิวัติเทคโนโลยีจะส่งผลอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหลังจากนี้บ้าง

1. Employment Crisis

อันนี้ชัดเจนครับ ว่าเด็ก generation ถัดไปจะต้องประสบปัญหากับการหางาน เนื่องจากในช่วงที่พวกเค้าโตขึ้นเป็นวัยแรงงานเต็มขั้นนั้น จะเหลืองานจำนวนไม่มากนักที่พวกเขาจะสามารถทำได้

Industrial Robot กำลังจะทำงานแทนมนุษย์หนุ่มสาวโรงงานทั้งหลาย แนวโน้มนี้เริ่มแล้ว ตัวอย่างคือประเทศเกาหลีมีสัดส่วนหุ่นยนต์ 4.78 ตัวต่อแรงงานมนุษย์ 100 คนแล้ว และตัวเลขนี้น่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของหุ่นยนต์ และต้นทุนที่ลดต่ำลง (และอย่าลืมว่าหุ่นยนต์ 1 ตัวนั้นอาจจะแทนมนุษย์ได้นับ 100 คนก็ได้นะครับดังนั้นทุกๆ 1 หน่วยที่เพิ่มของหุ่นยนต์ จะทำให้แรงงานมนุษย์ลดลงมากกว่า 1 หน่วย)

อัพเดท 2024

ณ ปี 2024 แนวโน้มการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความหนาแน่นของหุ่นยนต์ โดยค่าเฉลี่ยในภาคการผลิตอยู่ที่ 1.51 ตัวต่อแรงงานมนุษย์ 100 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในระยะเวลาหกปี

สหรัฐอเมริกามีหุ่นยนต์  2.85 ตัวต่อแรงงานมนุษย์ 100 คน ขณะที่เกาหลีใต้เป็นผู้นำด้วยจำนวน 10 ตัว ตามมาด้วยสิงคโปร์ (6.70 ตัว) และเยอรมนี (4.15 ตัว) จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด โดยมีความหนาแน่นของหุ่นยนต์ 3.22 ตัวต่อแรงงานมนุษย์ 100 คน อยู่ในอันดับที่ห้าของโลก

การเพิ่มขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนอย่างมหาศาลในระบบอัตโนมัติ โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนทำให้เป็นตลาดหุ่นยนต์ที่เติบโตเร็วที่สุด หุ่นยนต์อุตสาหกรรม รวมถึงหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMRs) และหุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ (cobots) ถูกนำมาใช้ในงานจัดการวัสดุและงานประกอบมากขึ้น และบริการหุ่นยนต์แบบเช่าใช้ (RaaS) กำลังทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับการแทนที่งานของมนุษย์ การเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ก็กำลังสร้างโอกาสใหม่ๆ ในด้านการบำรุงรักษา การเขียนโปรแกรม และความปลอดภัยทางไอที

แหล่งข้อมูล

รถยนต์อัตโนมัติทำให้คนขับรถแทกซี่ และรถขนส่งตกงาน ในปีหน้ารถสาธารณะไร้คนขับจะเริ่มให้บริการในประเทศหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น, แถม Drone อาจจะมาแทนบุรุษไปรษณีย์ รถไฟขับเคลื่อนอัตโนมัติที่มีมานานแล้วในประเทศญี่ปุ่น ระบบการขนส่งในอนาคตจะสามารถขับเคลื่อนได้โดยไม่ต้องมีมนุษย์เลย

งานก่อสร้างที่เคยใช้แรงงานคนจำนวนมาก ไม่ได้ถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ที่จะมาแบกอิฐ แบกปูน โบกตึก แทนมนุษย์หรอกนะครับ แต่มันโหดกว่านั้นเพราะระบบการก่อสร้างดั้งเดิมกำลังถูกทดแทนด้วยระบบ 3D Printing ขนาดยักษ์ที่เริ่มใช้งานจริงแล้วในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ที่สร้างบ้านหนึ่งหลังได้ในเวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง

ในอนาคตระบบ smart farm ที่ใช้ IoT, Blockchain และหุ่นยนต์จะสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่เริ่มต้นไถหว่านจนถึงเก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องพึ่งเกษตรกรเลย

เคยได้ยินเทคโนโลยีเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) ไหมครับ หรือเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่าเนื้อในห้องแลป ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทุนจากเซอร์เกย์ บริน บิดาแห่ง Google ทำงานวิจัยที่สามารถผลิตเนื้อสัตว์จากสเตมเซลล์ได้โดยไม่ต้องเลี้ยงสัตว์แม้แต่ตัวเดียว แน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้อาจจะช่วยให้วิกฤติอาการขาดแคลนหมดไปจากโลกได้ในอนาคต แต่อาชีพปศุสัตว์ (ซึ่งสร้างมลภาวะอย่างมากให้กับโลก) ก็อาจจะหายไปด้วยเช่นเดียวกัน

ภาพที่ 9 - ประมาณการว่าในปี 2030 เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) จะเริ่มผลิตเพื่อการบริโภคได้จริงในราคาที่ถูกกว่าเนื้อสัตว์จากปศุสัตว์

อัพเดท 2024

ณ ปี 2024 ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (cultivated meat) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้น ตัวอย่างเช่น บริษัท Future Meat Technologies สามารถผลิตเนื้ออกไก่เพาะเลี้ยงได้ในราคาประมาณ 66 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลูกผสมที่ผสมโปรตีนจากพืชกับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง บริษัทอื่นๆ เช่น Shiok Meats ก็สามารถลดต้นทุนได้เช่นกัน โดยวางแผนที่จะลดต้นทุนการผลิตเนื้อกุ้งเพาะเลี้ยงให้เหลือ 50 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม และมีเป้าหมายที่จะลดลงเหลือ 5 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมในอนาคต

โดยรวมแล้ว ต้นทุนปัจจุบันในการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีความแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับบริษัทและชนิดของเนื้อสัตว์ โดยมีราคาตั้งแต่ประมาณ 66 ถึง 22,423 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม

ตามข้อมูลของ Good Food Institute ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์จากเซลล์อาจลดลงเหลือประมาณ 4.68 ยูโร (5 ดอลล่าร์) ต่อกิโลกรัมภายในปี 2573 หากมีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม คาดว่าต้นทุนนี้จะใกล้เคียงกับราคาเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการยอมรับทางเลือกโปรตีนที่ยั่งยืนในวงกว้าง

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมีราคาแพงกว่าเนื่องจากความซับซ้อนในกระบวนการผลิต รวมถึงการพัฒนาอาหารเลี้ยงเซลล์และเทคโนโลยีถังปฏิกรณ์ชีวภาพที่มีประสิทธิภาพด้านต้นทุน อย่างไรก็ตาม คาดว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการขยายกำลังการผลิตจะช่วยลดต้นทุนลงได้ในอนาคต

แหล่งข้อมูล

การใช้ Blockchain และระบบเงินอิเลคทรอนิค จะทำให้บุคคลากรด้านการเงินและการธนาคารลดจำนวนลงเป็นอย่างมาก รวมถึงสาขาของธนาคารที่จะค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ

เทคโนโลยี deep learning ที่ใช้สร้าง chatbot ที่ฉลาดมากขึ้น ซึ่ง chatbot เหล่านี้จะมาทดแทน customer service, telemarketer มากกว่า 90% ของงาน (ส่วนอีก 10% ที่เป็นปัญหาซับซ้อน จะยังคงต้องใช้มนุษย์ต่อไป)

แม้แต่งานบริการที่เราคาดกันว่าหุ่นยนต์จะมาแทนมนุษย์ได้ยาก ก็ยังจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกบริการไปยังต่างประเทศเช่นอินเดียหรือทวีปแอฟริกาที่ประชากรวัยแรงงานจะเติบโตเพิ่มจำนวนถึงขีดสุดในช่วง 20 ปีข้างหน้านี้ (ถ้านับจากอัตราการเกิดอินเดียจะแซงจีนเป็นประเทศที่มีประชากรสูงที่สุดในโลก) และเทคโนโลยี Virtual Reality ที่จะพัฒนาก้าวกระโดดในยุคหน้านี้ จะทำให้เราสามารถทำงานบริการแบบข้ามทวีปได้โดยไม่ต้องเจอตัวเป็นๆ กันด้วยซ้ำ ประเทศค่าแรงสูงอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป หรือญี่ปุ่น ก็จะเจอการไหลออกของการเอาท์ซอร์สแรงงานไปยังแหล่งแรงงานที่มีราคาถูกมากขึ้นเรื่อยๆ

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในครั้งนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมหลังการค้นพบถ่านหินในศตวรรษที่ 18 เสียอีก เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคนั้นสร้างงานจำนวนมากให้กับมนุษย์ ในขณะที่การปฏิวัติเทคโนโลยีในทศวรรษหน้านั้นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันเลย

จากรัฐที่เคยต้องช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มประชากรวัยเกษียณ กับประชากรทุพพลภาพ กลับต้องเพิ่มภาระอีกอย่างคือ การช่วยเหลือประชากรวัยแรงงานที่ไร้งาน

แน่นอนครับว่าสิ่งที่พวกเรากังวลกันเป็นเรื่องแรก จากการเข้ามาทดแทนกำลังแรงงานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็คืออัตราการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงนี้จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องไม่เพียงแต่กับประชากรแรงงาน แต่จะส่งผลไปถึงกลุ่มประชากรวัยเกษียณอีกด้วย และท้ายที่สุดมันอาจจะรุนแรงถึงขั้นทำลายความมั่นคงของรัฐเลยทีเดียว

นั่นก็คือปฏิกริยาลูกโซ่ถัดไปที่จะไปสู่สังคมผู้สูงอายุ

2. Social Security Crisis

เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ (aging society) นั้นถูกพูดถึงกันมานานแล้ว อ้างอิงจากเว็บไซต์ populationpyramid ประมาณการกันว่าในปี 2100 ประชากรไทยจะลดจำนวนลงจาก 68 ล้านคนมาอยู่แถวๆ 40 ล้านคน (-41%) ส่วนญี่ปุ่น ประชากรจะลดจาก 127 ล้านคน เหลือเพียงแค่ 83 ล้านคน (-34%)

ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ประชากรมีจำนวนลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดต่ำมากจากค่านิยมของคนยุคใหม่ที่ไม่นิยมการมีบุตร และอัตราการตายต่ำจากพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในขณะที่ประเทศในกลุ่มแอฟริกากลับมีอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โครงสร้างประชากรในอนาคตเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมากในแต่ละทวีป

ภาพที่ 10 - เปรียบเทียบประชากรปี 2015 และประชากรคาดการณ์ปี 2035 ในกรณีที่ไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม (ลองเล่นได้ที่เว็บไซต์ http://populationpyramid.net)

ลองคิดภาพนะครับว่า ในประเทศพัฒนาแล้วคนวัยแรงงานไม่มีงานทำ ทำให้รัฐบาลขาดรายได้จากการเก็บภาษี รวมไปถึงรายได้ของระบบประกันสังคมก็จะขาดหายไปอย่างมาก

แถมยังต้องเจอกับปัญหาเรื่องการเพิ่มปริมาณของประชากรวัยเกษียณ เมื่อคนเกิดน้อยลง แถมตกงาน รัฐขาดรายได้ แต่ตรงกันข้ามคนวัยเกษียณกลับเพิ่มขึ้น

Social Security Trust Fund ของสหรัฐอเมริกาเริ่มเกิดอาการกระแสเงินสดติดลบมาตั้งแต่ปี 2010 (รายได้ที่เก็บจากประชากรวัยแรงงาน น้อยกว่ารายจ่ายที่จ่ายให้กับประชากรวัยเกษียณ ทำให้เกิดงบประมาณขาดดุล) และแนวโน้มว่ากองเงินประกันสังคมขนาด $2.7 ล้านล้านเหรียญอาจจะหมดเกลี้ยงเหลือ 0 ภายในปี 2030 (ซึ่งจริงๆ แล้วการประมาณการนี้ยังไม่ได้คำนวนความเร่งของพัฒนาการเทคโนโลยีที่จะทำให้ประชากรวัยแรงงานตกงานมากขึ้นในสิบปีข้างหน้านี้นะครับ)

ภาพที่ 11 - ประกันสังคมสหรัฐเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดดุลตั้งแต่ปี 2010 และมีแนวโน้มขาดดุลหนักขึ้นเรื่อยๆ จากรายได้ที่น้อยลง และรายจ่ายที่มากขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุแหล่งข้อมูล: Social Security Administration (OASI and DI Trust Fund Data and 2011 Trustees Report)

วิบากกรรมซ้ำกองทุนประกันสังคมของประเทศพัฒนาแล้วอีกต่อหนึ่ง ก็คือเงินกองกลางที่ประกันสังคมเก็บเอาไว้ จำเป็นจะต้องหาผลตอบแทนที่ความเสี่ยงต่ำ ส่วนใหญ่กองทุนประกันสังคมจึงมักจะปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลในรูปแบบของการซื้อพันธบัตร ประกันสังคมของสหรัฐเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ให้กับรัฐบาลมานาน ถือพันธบัตรสหรัฐอยู่เป็นสัดส่วนคือเกือบ 100% ของเงินกองทุน..!! ($2.7 ล้านล้าน) เป็นเจ้าหนี้อันดับ 1 ของรัฐบาล คิดเป็นสัดส่วนหนี้ประมาณ 14.4% ของมูลหนี้ $19 ล้านล้านเหรียญ มากกว่าปริมาณพันธบัตรสหรัฐที่ญี่ปุ่นกับจีนถือรวมกันเสียอีก..!! (แต่ในระยะยาวถ้ารัฐบาลสหรัฐยังผลาญเงินเป็นกระดาษแบบนี้ FED จะกลับกลายมาเป็นเจ้าหนี้อันดับ 1 แทน)

แต่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ในระดับที่บางประเทศอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรเข้าขั้นติดลบไปแล้ว (สวิสเซอแลนด์, ญี่ปุ่น, เยอรมัน) นั่นหมายความว่า เจ้าหนี้อย่างประกันสังคม ไม่เพียงแต่จะได้ผลตอบแทนต่ำลงเรื่อยๆ ยังจะเจอสถานการณ์ที่เงินต้นลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบซะอีก และนี่เป็นระเบิดเวลาก้อนใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในระบบประกันสังคมของประเทศพัฒนาแล้วแทบทุกประเทศ (ความเห็นส่วนตัวของผม FED จำเป็นจะขึ้นดอกเบี้ยก็เพราะแรงกดดันจากระเบิดก้อนนี้ เรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัวอะไรนั่นผมไม่ให้น้ำหนักซักเท่าไหร่)

รายได้น้อยลงฮวบฮาบ รายจ่ายเพิ่มขึ้นปรี้ดๆ แถมเงินกองกลางที่มีก็ผลตอบแทนต่ำติดดิน ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ระบบประกันสังคมของประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกก็จะเข้าสู่ภาวะล้มละลายในที่สุด (ประมาณการกันว่าระบบประกันสังคมของสหรัฐจะล้มละลายภายในไม่เกิน 10-20 ปีข้างหน้านี้แล้ว)

คำถามคือ ระบบประกันสังคมจะรอดได้ยังไง..?

1. หาทางเพิ่มรายได้..? อันนี้ยากมากถึงมากที่สุด ในเมื่อคนไม่มีงานทำ ประกันสังคมจะสร้างรายได้จากไหน

2. หาทางลดรายจ่าย..? อันนี้พอเป็นไปได้บ้าง ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ต้นทุนการรักษาพยาบาลอาจจะลดลงเป็นเงาตามตัว แต่ก้างขวางคอชิ้นใหญ่คือ ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในเซกเตอร์ healthcare แทบทั้งหมดไม่ใช่องค์กรการกุศล และคงจะไม่ช่วยรัฐในการลดต้นทุนได้ง่ายอย่างที่คิด

3. หาทางเพิ่มผลตอบแทนของกองทุน..? อันนี้จะมาพร้อมกับความเสี่ยง นั่นก็คือการที่กองทุนประกันสังคมจะทิ้งพันธบัตรรัฐบาล และโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ผลตอบแทนน่าจะสูงกว่า เช่น หุ้น หรือหุ้นกู้เอกชน

ตัวอย่างของทางออกนี้มีให้เห็นแล้วในปี 2014 กองทุนประกันสังคมของประเทศญี่ปุ่น (GPIF: Government Pension Investment Fund) ที่มีขนาดกองทุน $1.2 ล้านล้านเหรียญ ลดการถือพันธบัตรรัฐบาล และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นจาก 12% เป็น 25% หรือย้ายไปถือหุ้นถึง 1 ใน 4 ของกองทุน!! (และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ Nikkei วิ่งขึ้นมาเยอะมากในช่วง 2014-2015)

ภาพที่ 14 - กองทุนประกันสังคมของญี่ปุ่น (GPIF) เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น และลดการลงทุนในพันธบัตรแหล่งข้อมูล: Government Pension Investment Fund

แต่แน่นอนว่าการตัดสินใจทางเลือกนี้ย่อม ‘เพิ่มความเสี่ยง’ ให้กับกองทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ถ้าตลาดหุ้นพัง นั่นหมายถึงเงินของประชาชนจะหายไปทันที (Nikkei มี market cap ลดลงเกือบ 30% ในช่วงปลายปี 2015 ถึงกลางปี 2016 แน่นอนว่าเงินกองกลางของ GPIF ก็ลดลงตามไปด้วยไม่มากก็น้อย)

เราลองมาดูสมการกันว่า b = a + c ถ้าเกิด a ลดลงเร็วกว่า b ยังไงแล้วทางเลือกเดียวก็คือต้องเพิ่ม c ให้ได้

ในทางทฤษฏีถ้าจะเพิ่มผลตอบแทนของกองทุน มีแค่สองทางครับ ก็คือ ทิ้งพันธบัตร หรือเพิ่มผลตอบแทนให้พันธบัตรใหม่ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรืออาจจะต้องทำทั้งสองทาง

ซึ่งทั้งสองทางจะทำให้เกิดปฏิกริยาลูกโซ่ลำดับที่สาม ก็คือ วิกฤติภาระหนี้ภาครัฐ หรือ Soverign Debt Crisis ที่จะเป็นระเบิดลูกใหญ่กว่าที่อาจจะตามมา ซึ่งผมจะมาเล่าให้ฟังต่อในตอนที่ 2 เพราะเขียนเพลินๆ ตอนนี้เริ่มยาวเกินไปเสียแล้ว

PS. บางคนอาจจะสงสัยว่า GPIF ทิ้งพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นไปถือหุ้น แล้วทำไม yield พันธบัตรญี่ปุ่นไม่พุ่ง กลับดิ่งต่ำไปกว่าเดิม (ในช่วงนั้น) แล้วใครกันเป็นคนที่มารับซื้อพันธบัตรที่ GPIF ทิ้งออกมา..? ความจริงแล้ว ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ นี่แหละครับ ที่ควบคุม yield curve ของพันธบัตรเอาไว้ ด้วยการกว้านซื้อพันธบัตรที่ GPIF ทิ้งออกมา (BOJ’s bond-buying program) มันเหมือนการลักไก่ที่ FED พิมพ์แบงค์ให้รัฐบาลสหรัฐใช้จ่าย ของญี่ปุ่น BOJ ก็พิมพ์เงินมารับซื้อหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นจาก GPIF เหมือนกัน ธนาคารกลางของพวกประเทศมหาอำนาจเล่นกันแบบนี้ระยะยาวน่ากลัวจะเกิดวิกฤติพันธบัตรมาก

อัพเดท 2024

กองทุนประกันสังคมของสหรัฐกำลังเผชิญกับการขาดดุลระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในปีที่แล้ว:

  • คาดว่ากองทุนประกันสังคมรวม ทั้งส่วนประกันผู้สูงอายุและผู้รอดชีวิต (OASI) และประกันทุพพลภาพ (DI) จะหมดลงในปี 2035 ช้ากว่าที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ 1 ปี
  • เมื่อเงินสำรองของกองทุนหมดลงในปี 2035 โครงการจะยังสามารถจ่ายผลประโยชน์ตามกำหนดได้ 83% โดยใช้รายได้จากภาษีที่เก็บได้อย่างต่อเนื่อง และจะลดลงเหลือ 73% ภายในปี 2098
  • การขาดดุลในช่วง 75 ปีของกองทุนประกันสังคมรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 3.50% ของค่าจ้างที่ต้องเสียภาษี ลดลงจาก 3.61% ในรายงานปีก่อนหน้า
  • การปรับปรุงนี้เป็นผลมาจากการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ และอัตราการเกิดทุพพลภาพที่คาดว่าจะต่ำลง แม้จะมีผลกระทบบางส่วนจากการคาดการณ์อัตราการเกิดในระยะยาวที่ต่ำลง
  • อย่างไรก็ตาม ประกันสังคมยังคงเผชิญกับการขาดดุลกระแสเงินสดที่มีขนาดใหญ่และเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในทศวรรษหน้า คิดเป็น 2.3% ของค่าจ้างที่ต้องเสียภาษี หรือ 0.8% ของ GDP
  • ผู้กำหนดนโยบายมีเวลาจำกัดในการออกกฎหมายปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูความมั่นคงทางการเงินของระบบประกันสังคมก่อนที่เงินสำรองของกองทุนจะหมดลง ซึ่งหากถึงจุดนั้นจะต้องมีการตัดลดผลประโยชน์ลงทั้งระบบ

โดยสรุป แม้ว่าแนวโน้มของประกันสังคมจะดีขึ้นเล็กน้อย แต่โครงการยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านการเงินระยะยาวที่สำคัญ ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา

แหล่งข้อมูล

อัพเดท 2024

ข้อมูลอัพเดทในปี 2023 GPIF ทำผลประกอบการสูงเป็นประวัติการณ์ที่ $133 ล้านเหรียญในไตรมาส 2 ปี 2023 หลังจากที่ดัชนี Nikkei วิ่งขึ้นจาก 16,000 จุดในช่วงปี 2014 ที่ GPIF ทำการปรับสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรและย้ายเงินทุนไปลงทุนในหุ้นมากขึ้น มาจนถึงจุดสูงสุดใหม่ที่ 40,000 จุดในปี 2024 ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในยุคของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะผู้ล่วงลับ หรือที่เราคุ้นกันในชื่อของนโยบายเศรษฐกิจแบบ Abenomics

เมื่อเทคโนโลยีจะทำลายล้างมนุษย์ (ตอนที่ 2): Sovereign Debt Crisis

December 2017

ในตอนแรกผมพูดถึงเทคโนโลยีที่มาพร้อมการเปลี่ยนโครงสร้างประชากร จะทำให้เกิดปัญหาสำคัญสองอย่าง

Employment Crisis คนวัยแรงงาน จะตกงานจากการ disrupt ของเทคโนโลยี

Social Security Crisis คนวัยเกษียณ จะเจอวิกฤติประกันสังคม ที่อาจจะไม่เหลือเงินให้ผู้สูงอายุใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิต

ในตอนนี้ผมจะพูดถึงวิกฤติที่ 3 นั่นคือวิกฤติภาระหนี้ภาครัฐ หรือ Sovereign Debt Crisis ผมจะเล่าแบบคร่าวๆ ถึงโครงสร้างหนี้สินของภาครัฐของประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐ ยูโร และญี่ปุ่นให้ฟังกัน

3. Sovereign Debt Crisis

หนี้ภาครัฐเป็นวิกฤติอย่างไร..? ผมพยายามจะเรียบเรียงประเด็นปัญหาของพันธบัตรให้ทุกท่านเข้าใจได้แบบไม่ใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์มากจนเกินไปนะครับ

ปกติแล้วรายได้ของประเทศจะมาได้รูปแบบของภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังมีหน้าที่จัดเก็บในหลากหลายรูปแบบ เมื่อได้รายได้ ก็ต้องมีรายจ่าย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายของภาครัฐ

หากรายได้ของคลังมากกว่ารายจ่าย จะเรียกว่า เกินดุลงบประมาณ
หากรายจ่ายของคลังมากกว่ารายได้ จะเรียกว่า ขาดดุลงบประมาณ

ที่นี้คุณลองคิดภาพว่า ถ้าเกิดประเทศเป็นเหมือนบริษัทๆ หนึ่ง เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย แน่นอนว่าจะทำให้บริษัทนั้นๆ มีปัญหาคือเงินไม่พอ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดเงินก็คือ “การกู้เงิน” นั่นเอง

ประเทศก็เช่นเดียวกันครับ เมื่อตั้งงบประมาณแบบขาดดุลมากๆ เข้า สุดท้ายเงินก็หมด รัฐก็จำเป็นจะต้องหาเงินมาเพิ่ม เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ วิธีการที่ง่ายที่สุดคือก็ขอกู้เงิน การกู้เงินของรัฐบาล ใช้วิธีการออกพันธบัตร

หลายคนบอกว่า อ้าว แล้วจะใช้จ่ายเกินตัวทำไม มีรายได้น้อยก็ใช้เงินน้อยๆ สิ จะได้ไม่ต้องไปกู้ให้เกิดภาระ แต่รัฐบาลไม่ใช่บริษัทครับ ในยุคทุนนิยมในปัจจุบัน การทำงบประมาณขาดดุลเป็นเรื่องแทบจะเรียกได้ว่าปกติธรรมดาของรัฐบาลแทบจะทั้งโลก นั่นก็เพราะแนวคิดเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ (ที่เรียกกันว่า Neo-Keynesian) เชื่อว่า การทำงบประมาณขาดดุลนั้น จะช่วยให้ประเทศมีการเติบโตที่ดีได้

อธิบายภาษาง่ายๆ นะครับ คือ นักเศรษฐศาสตร์สาย Neo-Keynesian (เช่น พอล ครุกแมน) เชื่อกันว่า เมื่อเศรษฐกิจซบเซา รัฐจำเป็นจะต้องเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจและสร้างงาน ด้วยการอัดการใช้จ่ายภาครัฐให้มาก เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน พร้อมๆ ไปกับพัฒนาสาธารณูปโภคของประเทศให้ดีขึ้น ดังนั้นในระยะสั้น เงินที่รัฐใช้เกินตัวนั้นจะถูกเอามาสร้าง สร้าง และสร้าง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง ถนน หนทาง ท่าเรือ ระบบชลประทาน ทางด่วน ฯลฯ

การพัฒนาโครงการยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ในระยะสั้น จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (คือรัฐสร้างงานในช่วงที่เอกชนหมดแรง) และในระยะยาว สาธารณูปโภคเหล่านี้นี่แหละ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศมากขึ้น จะทำให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ลดลง และแข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น อนาคตรัฐก็จะได้รายได้จากภาษีมากขึ้น สามารถทำงบประมาณเกินดุลได้ และนำส่วนที่เกินนั้นไปชดเชยส่วนที่ขาดดุลในอดีตได้ในที่สุด

แนวคิดดูดี ตามแบบฉบับของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ บิดาแห่งการ Keynesian Economics ที่เคยช่วยให้โลกหลุดพ้นกับดักเงินฝืดในยุค The Great Depression ในช่วง 1929 มาแล้วด้วยการแทรกแซงและอัดฉีดของรัฐ

แต่ในยุคปัจจุบัน กลับไม่เป็นเช่นนั้น..!!​ (ความล้มเหลวของ Neo-Keynesian เป็นเรื่องยาวและผมคงไม่นำมาเล่าในโพสนี้ ถ้ามีโอกาสอาจจะลองเรียบเรียงและมาเล่าในโอกาสถัดไป)

หนี้สหรัฐ

รัฐบาลประเทศมหาอำนาจทั่วโลก มีงบประมาณขาดดุลทุกปี กระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอด นับสิบๆ ปีตั้งแต่ยุคหลังยกเลิก Bretton Woods ที่สหรัฐอเมริกายกเลิกการผูกค่าเงินกับทองคำ การใช้จ่ายภาครัฐก็สูงขึ้นแบบเท่าทวีคูณ (ทำไมการใช้จ่ายภาครัฐ ถึงไปเกี่ยวข้องกับการยกเลิกการผูกค่าดอลล่าร์กับทองคำ ถ้าใครอยากรู้ผมแนะนำให้อ่าน เหตุผลที่ Bitcoin ทะลุ $1,000 อธิบาย Cryptocurrency ในแง่มุมเศรษฐศาสตร์)

สหรัฐอเมริกาออกพันธบัตรมากขึ้นๆ แต่จนแล้วจนรอด ก็ได้เงินไม่พอให้รัฐบาลใช้ จนสุดท้ายต้องใช้วิธีการให้ธนาคารกลางโกงเกมส์ด้วยการ QE พิมพ์เงินเพื่อเอามาซื้อพันธบัตรสหรัฐ หรือพูดง่ายๆ ก็คือพิมพ์เงินมาให้รัฐบาลใช้นั่นแหละ รวมไปถึงการกดดอกเบี้ยลงต่ำๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของรัฐ (บางคนบอกว่ารัฐกดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วการลดดอกเบี้ยมันไม่ได้ช่วยอะไรเศรษฐกิจเท่าไหร่หรอกครับ แต่มันกลับช่วยรัฐลดภาระหนี้สินต่างหาก)

ปัญหาที่น่าประหลาดใจกับระบบทุนนิยมก็คือ ไม่ว่ารัฐบาลจะสร้างหนี้สินเพิ่มท่วมหัวขนาดไหน ทุกคนก็ยังเชื่อว่า รัฐมีเครดิตที่ดีเสมอ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรก็เลยอยู่ในระดับต่ำมาตลอด (ยกเว้นก็แต่ประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีเครดิตดีนักอย่างกรีซ ที่เคยมีอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสูงพุ่งไปถึงกว่า 20% ซึ่งบ่งบอกว่าคนไม่ให้ความเชื่อถือรัฐบาลกรีซเลย)

รัฐบาลสหรัฐมีหนี้สินภาครัฐสูงมากเข้าใกล้ $20 ล้านล้านเหรียญ (ปี 2016) แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลต้องใช้เงิน เค้าก็ขอขยับเพดานหนี้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 1962 ถึงปัจจุบัน การขยับเพดานหนี้สหรัฐครั้งล่าสุดนับเป็นการขยับเพดานหนี้ครั้งที่ 74 เข้าไปแล้ว

ลองคิดว่าถ้ารัฐบาลเป็นคนซักคนนึงนะครับ คนๆ นี้มีรายได้จำกัดเดือนละ 15,000 แต่กลับใช้เงินมือเติบเดือนละ 50,000 แน่นอนว่าเค้าไม่มีเงินพอใช้แน่ ซึ่งเค้าก็แก้ปัญหาด้วยการใช้บัตรเครดิตทุกเดือนๆ พอบัตรวงเงินเต็ม เค้าก็ขอให้ธนาคารขยายวงเงินบัตรเครดิตให้อีกเรื่อยๆ ถึง 74 ครั้ง ถ้าคุณเป็นนายแบงค์คุณคงแบล็คลิสต์อีตาคนนี้ ไม่ให้ใช้บัตรเครดิตอีก และทำทุกวิถีทางที่จะขอคืนเงินต้นทั้งหมดกลับมาให้เร็วที่สุด

แต่กับรัฐบาลสหรัฐแล้วตรงกันข้ามเลยครับ

ทีนี้พอหนี้สินสูงมากๆ เข้า ดอกเบี้ยต่ำนานๆ เข้าปัญหาก็เริ่มเกิดครับ เพราะว่าเจ้าหนี้อันดับ 1 ของสหรัฐคือกองทุนประกันสังคมของสหรัฐนั่นเอง กองทุนประกันสังคมซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือพูดอีกแง่ก็คือ รัฐบาลเอาเงินประชาชนนี่แหละมาใช้ และจ่ายดอกเบี้ยต่ำติดดินให้ ซึ่งผมได้พูดไว้ในโพสที่แล้วว่า ด้วยเหตุผลนี้ทำให้กองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย (และผมเชื่อว่านี่คือเหตุผลลึกๆ ที่ FED ถูกบีบบังคับให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย)

ผมจะค้างไว้ในเรื่องประเด็นนี้ว่า หนี้สินท่วมหัวแบบนี้ อนาคตของสหรัฐจะเป็นอย่างไร ขอแวบไปพูดถึงหนี้ยูโรต่ออีกหน่อยครับ

หนี้ยูโร

กลุ่มยูโรก็วิกฤติหนี้ไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา เผลอๆ จะหนักกว่าเสียด้วยจากปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังจากการรวมกลุ่มยูโรแบบครึ่งๆ กลางๆ จนสุดท้าย ECB หรือธนาคารกลางยูโรต้องเลียนแบบสหรัฐ คือพิมพ์เงิน (QE) มาซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือพูดตรงๆ ก็คือพิมพ์เงินมาให้รัฐใช้นั่นแหละ

ECB พิมพ์เงินมาหลายปีแล้วครับ จนกระทั่งตอนนี้ ECB ถือพันธบัตรยูโรเป็นสัดส่วนที่สูงมากที่สุด มากยิ่งกว่า BOJ ถือพันธบัตรญี่ปุ่น หรือ FED ถือพันธบัตรสหรัฐเสียอีก

ช่วงปลายปีดันมีข่าวว่า ECB วางแผนจะลดและหยุด QE

ECB หยุด QE แล้วไงต่อ..?

ตอนนี้ ECB ถือพันธบัตรของยูโรโซนอยู่ 40% ของพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด..!?!

และที่ผ่านมา ECB ซื้อพันธบัตรในปริมาณเกิน 2.5 เท่าของพันธบัตรที่รัฐบาลของประเทศในยุโรปออกมาในรอบ 1 ปีเลยทีเดียว ถือว่าทำสถิติสูงสุดในทุกประเทศที่เคย QE กราฟนี้เป็นตัวบ่งบอกได้ดีว่า วิกฤติยุโรปจริงๆ มันเน่าเฟะมากขนาดไหน

และถ้า ECB หยุดพิมพ์เงิน.. ก็ไม่มีเงินไปซื้อพันธบัตรเพิ่ม

คำถามคือ ใครจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลในยุโรปต่อจาก ECB..?

การซื้อขายพันธบัตรก็คล้ายๆ หุ้นครับ

ถ้าหุ้นไม่มีฝั่ง Bid ราคาหุ้นก็ทิ้งดิ่ง

ถ้าพันธบัตรไม่มีฝั่ง Bid ราคาพันธบัตรก็ทิ้งดิ่ง (Yield ก็จะพุ่งแบบที่พันธบัตรกรีซเคยเป็นมาก่อน)

ดังนั้น ECB ต้องมีแผนรองรับถ้าจะหยุด QE จริง ทำยังไงที่จะทำให้พันธบัตรรัฐบาลเน่าๆ แบบที่ ECB ซื้อมาสะสมมีคนอยากได้ต่อไป..?

ตอนนี้ ECB กำลังผลักดัน proposal ที่จะออก Eurobond..!!

ฟังดูเท่ห์น่าเชื่อถือนะครับ

แต่จริงๆ Eurobond ก็เป็นเหมือนเอาพันธบัตรของหลายประเทศในยุโรปที่ทั้งเน่าและไม่เน่ามาจับมัดรวมกัน และแต่งหน้าแต่งตาให้ใหม่ เรียกว่า Eurobond ใส่ตะกร้าล้างน้ำ ออกขายให้นักลงทุน

วิธีการมันก็คล้ายๆ ตอนวิกฤติ subprime ในอเมริกาที่เอาพวก Subprime มามัดรวมกันเป็น MBS แล้วเอา MBS มามัดรวมเป็น CDO น่ะแหละครับ คล้ายๆ กัน คือแอบเอาไข่เน่าใส่ผสมลงไปในถาดไข่ปกติแล้วมัดรวมขายในราคาหลอกลวงผู้บริโภค เป็นกระบวนการที่นักการเงินตั้งชื่อเท่ห์ๆ ว่า Securitization ซึ่งเคยเกือบทำลายมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามาแล้ว

ของที่เน่า จะแต่งหน้าทาปากให้สวยยังไง ข้างในมันก็ยังเน่าอยู่วันยังค่ำ Eurobond (ถ้ามันเกิดจริง) มันเป็นแค่การเตะถ่วงปัญหาความเน่าของยุโรปไปในอนาคตแค่นั้นแหละครับ และถึงเวลาที่เตะถ่วงไม่ได้ เมื่อทุกคนรู้ความจริงและไม่มีใครอยากได้ Eurobond มันก็จะระเบิดแบบที่ subprime เคยระเบิดมาก่อน

ผลสรุป ECB ประกาศต่ออายุ QE ไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนด (แม้จะลดวงเงิน QE ลงก็ตาม) ซื้อเวลาตายของกลุ่มยูโรออกไปอีก

แปลกดีครับที่หุ้นยุโรปและเงินยูโรในปีนี้วิ่งกลับขึ้นมาสู่ภาวะกระทิงอีกครั้ง ในขณะที่ดอลล่าร์อ่อนตัวลงต่อเนื่อง (ซึ่งผมคาดการณ์ผิดว่าจะอ่อนไม่นานก่อนจะกลับตัวมาแข็งใหม่ แต่ตอนนี้ลากยาวมาหลายเดือนละครับ) ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ปัญหาปี 2011 จนถึงตอนนี้ ผมไม่เห็นว่ายุโรปมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตรงไหนเลย

ความเห็นส่วนตัว ผมยังเชื่อว่าการแข็งค่าของยูโรตอนนี้เป็นเพียงแค่ภาพลวงตาระยะสั้น และผมเชื่อว่ายุโรปไม่ได้ฟื้น (ในระดับฐานราก) ปัญหาทุกปัญหาที่กลุ่มยูโรเคยมี มันยังอยู่อย่างครบถ้วน และกลับจะหนักข้อขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

ปัญหาของยูโร คือการรวมกลุ่มที่ครึ่งๆ กลางๆ ยุบรวมใช้เงินสกุลเดียวกัน แต่กลับแยกหนี้ของแต่ละประเทศออกจากกัน แต่ละประเทศมีพันธบัตรของตัวเอง เครดิตแตกต่างกันไป แต่ล้วนซื้อขายเป็นสกุลเงินยูโร

คหสต. ผมคิดว่าทางเดียวที่พอจะช่วยแก้วิกฤติหนี้ของกลุ่มยูโรในระดับฐานราก คือการรวมหนี้ของทุกประเทศในกลุ่มยูโรเข้าเป็น single euro debt ไม่ใช่แค่หนี้ในอนาคต แต่คือหนี้ในอดีตทั้งหมดที่กลุ่มยูโรมีต้องพร้อมที่จะถูกลดมูลค่า (Devaluation) ซึ่งก็พอเดาได้ว่ามันคงเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะเยอรมันไม่เอาด้วยแน่ๆ

พักปัญหาหนี้ยูโรไว้ก่อน แล้วปิดท้ายกันด้วย หนี้ญี่ปุ่น

หนี้ญี่ปุ่น

อันนี้ผมขอเล่าแค่สั้นๆ เพราะญี่ปุ่นก็ไม่ต่างไปจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยูโรครับ คือภาระหนี้ท่วมจากการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไร้ผลมาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี เพื่อฉุดกระชากให้ประเทศญี่ปุ่นพ้นจากภาวะเงินฝืดเรื้อรัง (ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่น่าสนใจมากๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งผมน่าจะมีโอกาสเล่าสู่กันฟังในโพสต่อๆ ไปถ้ามีพลังเขียนมากพอ)

โพสที่แล้วผมเล่าไปแล้วว่าประกันสังคมของญี่ปุ่นเจอปัญหาว่าผลตอบแทนของการถือพันธบัตรต่ำมาก จนต้องทิ้งพันธบัตรรัฐในพอร์ตโฟลิโอ ย้ายไปถือหุ้นซึ่งผลตอบแทนสูงกว่าแทน

เอาล่ะสิครับ “ทิ้งพันธบัตร” คำนี้น่ากลัวมากครับ ผมจะลองยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ฟัง

ลองคิดกันเล่นๆ ครับ ถ้าคุณปล่อยกู้ให้เพื่อนคุณคนนึง แต่เมื่อคุณรู้สึกไม่อยากจะเป็นเจ้าหนี้อีกต่อไปแล้ว (อาจจะเพราะผลตอบแทนต่ำ หรือเครดิตลูกหนี้ไม่ดี หรืออะไรก็ตามแต่) คุณก็จะรีบขายหนี้ต่อให้คนอื่นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

พอคุณอยากรีบขายหนี้ คุณก็จำเป็นจะต้องลดราคาหนี้ลง พอลดราคาหนี้ลง อัตราดอกเบี้ยก็เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาขายลด ยกตัวอย่าง หนี้ 100 บาท อัตราดอกเบี้ย 1.5% ถ้าเจ้าหนี้กลัวหนี้สูญ อยากรีบขายหนี้ เลยลดให้เหลือ 90 บาท พอคำนวนแล้ว 90 บาทได้ผลตอบแทน 1.5 บาท นั่นก็คือ อัตราดอกเบี้ยเทียบราคาปรับลดแล้วเพิ่มเป็น 1.67% นั่นเอง

คุณก็เหมือนกองทุนประกันสังคมของญี่ปุ่น และลูกหนี้ของคุณก็คือรัฐบาลญี่ปุ่น

ตามหลักแล้วถ้าคุณขายพันธบัตรทิ้ง Yield พันธบัตรจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น (บ่งบอกถึงความเสี่ยงของพันธบัตรนั้นๆ เช่น กรีซที่ผมเคยพูดถึงว่า Yield พันธบัตรพุ่งสูงถึงกว่า 20% แปลได้ว่ามันเสี่ยงแบบสุดๆ) เพราะคนแห่ขายพันธบัตรในราคาถูกลง

นี่แหละปรากฏการณ์ที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า “Yield พุ่ง” จริงๆ ก็คือราคาขายพันธบัตรถูกลงนั่นเอง ยิ่งขายพันธบัตรถูกลงแค่ไหน Yield ยิ่งพุ่งแรงเท่านั้น ดังนั้นเวลาคุณเห็น Yield พุ่ง คุณพอจินตนาการได้เลยว่าคนโยนซ้ายพันธบัตรกันแบบหน้ามืดตามัวแน่นอน

แต่แปลกไหมครับ Yield พันธบัตรญี่ปุ่น เคยต่ำยังไงก็ยังต่ำอย่างนั้น บางครั้งเด้งสูงขึ้นมานิดนึง ซักพักก็ค่อยๆ ลดลงไปในระดับปกติ

นั่นแปลว่าพันธบัตรญี่ปุ่นน่าเชื่อถือใช่หรือเปล่า..?

เอาจริงๆ แล้วตรงข้ามเลย ทุกท่านทราบหรือไม่ครับ สาเหตุที่คนแห่ทิ้งพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นแต่ Yield กลับไม่เพิ่มสูงขึ้นเพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือ BOJ โกงเกม!!

BOJ มีนโยบาย Bond Buying Program พูดง่ายๆ ว่า BOJ พิมพ์เงิน QE แบบไม่จำกัด เพื่อนำมากว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีคนโยนทิ้งออกมาแบบ unlimited เพื่อกด Yield ให้ต่ำติดดินไปเรื่อยๆ

โคตรโกง..!!

นั่นแปลว่าในระยะยาวหากมีคนทิ้งพันธบัตรรัฐบาลมากๆ เข้า BOJ ก็จะเข้าไปทรงเดียวกันกับ ECB คือในที่สุด BOJ จะกลายไปเป็นเจ้าหนี้อันดับหนึ่งของรัฐบาล!! (ปัจจุบันเจ้าหนี้อันดับ 1 ของรัฐบาลญี่ปุ่นก็คือประชาชนญี่ปุ่นเอง แต่หลังๆ ประชาชนญี่ปุ่นก็เริ่มถือพันธบัตรรัฐไม่ไหวละครับ พอเข้าวัยเกษียณ ก็ต้องเริ่มขายพันธบัตรมาใช้จ่ายแล้ว รวมถึงคนวัยทำงานบางคนก็ทนกับผลตอบแทนต่ำติดดินของพันธบัตรไม่ไหว ก็จำต้องขายเพื่อย้ายเงินไปลงทุนสินทรัพย์อื่น)

สัญญาณนี้เป็นสัญญาณที่อันตรายมากครับ เพราะมันคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า รัฐหมดความน่าเชื่อถือแล้ว ไม่มีใครอยากปล่อยกู้ให้รัฐบาลจนธนาคารกลางต้องมาแบกรับภาระนี้ไว้กับตัวเอง..

(ซึ่งใครที่อ่านบทความเรื่อง Bitcoin ของผมในหลายตอนที่เขียนมา จะเริ่มเชื่อมโยงภาพได้ว่า ทำไม Cryptocurrency จึงเริ่มได้รับความน่าเชื่อถือ นั่นเพราะนักลงทุนเริ่มเสื่อมความเชื่อถือในภาครัฐลง และเริ่มแสวงหาแนวทางการลงทุนทางเลือก ซึ่ง Cryptocurrency เป็นสินทรัพย์ที่เป็น “อิสระ” จากรัฐจึงเติบโตอย่างรวดเร็วและรุนแรง สองสิ่งนี้เกิดในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ)

การที่ธนาคารกลางต้องมารับภาระเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐนั้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ธนาคารกลางของมหาอำนาจเหล่านี้จะหยุดพิมพ์เงินไม่ได้..!!

เพราะถ้าหยุดพิมพ์เงิน ก็จะไม่มีเงินไปให้รัฐกู้

เมื่อไม่มีเงินให้รัฐกู้ ทุกอย่างก็ end game รัฐบาลล้มละลาย ไม่มีเงิน ไม่มีใครให้กู้อีก คืนเงินต้นก็คืนเจ้าหนี้ไม่ได้ จบด้วยการชักดาบ default หมดความน่าเชื่อถือ และกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งโลก

หลายคนคิดว่า วิกฤติหนี้ภาครัฐหรือ Sovereign Debt Crisis ของชาติมหาอำนาจไม่มีวันเกิดขึ้น บางคนคิดว่า ดอลล่าร์ ไม่มีวันล่มสลาย รัฐบาลสหรัฐจะสามารถสร้างหนี้ไปได้เรื่อยๆ ตลอดกาล

โพสหน้าผมจะเล่าสมมติฐานของผมให้ฟังกันครับ ว่าการเกิดของเทคโนโลยีอย่าง Cryptoasset และ Cryptocurrency จะสั่นสะเทือนตลาดพันธบัตรของรัฐบาลและเร่งให้เกิดวิกฤติหนี้ภาครัฐได้อย่างไร..?

เริ่มยาวไปแระ ขอต่อโพสหน้านะ..

เหตุผลที่ Bitcoin ทะลุ $1,000: Explaining Cryptocurrency from an Economic Perspective

January 2017

Disclaimer: ผมเป็น Bitcoin Miner (หรือผู้ขุด Bitcoin) มาตั้งแต่ปี 2013 และลงทุนใน Bitcoin มาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากการขึ้นราคาของ Bitcoin

ต้อนรับเปิดศักราชปี 2017 กับราคา Bitcoin ที่ทะลุ $1,000 ในรอบหลายปี ผมเห็นผู้คนจำนวนมากเริ่มกลับมาสนใจสกุลเงินอิเลคโทรนิคตัวนี้ พร้อมกับคำถามของคนจำนวนมาก “เงินอิเลคโทรนิค ทำไมถึงน่าเชื่อถือ..?” ผมเลยขอเขียนมุมมองตามหลักเศรษฐศาสตร์ของ Bitcoin เพื่อเพิ่มความเข้าใจให้กับคนทั่วไป ที่จะมองสกุลเงินอิเลคโทรนิคตัวนี้ในภาพที่ชัดเจนขึ้น

หมายเหตุ: คำอธิบายที่มาของเงินตราในตอนต้นผม paraphase เนื้อหาบางส่วนมาจากบทความ What is Money ของคุณ NexttoNothing จาก Thaigold.info

เพื่อให้คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายที่สุด ผมจะพยายามเลี่ยงคำศัพท์เทคนิคที่ซับซ้อนและยกตัวอย่างในรูปแบบ analogy ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ขออนุญาตทับศัพท์บ้างเพื่อความสะดวกในการสื่อสาร

ถ้าจะตอบคำถามว่า “ทำไมต้อง Bitcoin” เราควรเริ่มต้นจาก pain point ของระบบการเงินในปัจจุบันเสียก่อน (ผมจะแทรกทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาบ้างเพื่อเสริมความเข้าใจอย่างเหมาะสมนะครับ)

“เงิน” ในปัจจุบันมีปัญหาอย่างไร และ Bitcoin (ภายใต้เทคโนโลยี Blockchain) จะมาแก้ปัญหาให้ได้ด้วยวิธีไหน เรามาตามดูกัน

“เงิน” สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในโลกต้องการมากที่สุด ที่จริงแล้ว มันคืออะไรกันแน่..?

ความหมายของเงินตรา

อันที่จริงแล้ว “เงิน” เป็นสิ่งไม่มีมูลค่าในตัวของมันเอง มันเป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) ถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น เงินก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ เป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึกที่ระบุตัวเลขไว้ว่า 1,000 บาทเท่านั้นเอง

ลองนั่งไทม์แมชชีนกลับไปในยุคอดีตก่อนที่จะมีการใช้ “เงิน” กันดีกว่าครับ เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของเงินให้ชัดเจนขึ้นเราควรต้องเข้าใจวิวัฒนาการของเงิน จากอดีตจนถึงปัจจุบันเสียก่อน

ในอดีต ด้วยข้อจำกัดทางการผลิต มนุษย์คนหนึ่งไม่สามารถผลิตปัจจัยที่ใช้ดำรงชีพได้ทั้งหมด จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นสัตว์สังคม และเริ่มมีการ “แบ่งงานกันทำ (Division of labor)” เพื่อให้คนแต่ละคนทำงานในส่วนที่ตัวเอง “ถนัด” เพื่อรีดประสิทธิภาพของการผลิตออกมาได้มากที่สุด

ผมไม่สามารถเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวไปพร้อมๆ กันได้ ผมก็เลยเลี้ยงวัว ให้คุณปลูกข้าว เมื่อถึงเวลาที่ผมต้องกินข้าว ผมก็เอาเนื้อวัวที่ผมเลี้ยงไปแลกกับข้าวของคุณ นี่แหละครับเป็นที่มาของการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันในเบื้องต้น ในยุคอดีตไม่มีการซื้อขายสินค้า มีแต่การแลกเปลี่ยน และเราเรียกระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าแบบนี้ ว่า “Barter System”

ภาพที่ 20 - ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์ Harper’s Weekly ปี 1874 แสดงระบบการแลกเปลี่ยนแบบ Barter System ที่คนเอาไก่แลกกับการเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์แหล่งข้อมูล: Wikipedia

Barter System นี่มีปัญหาเยอะครับ เพราะถ้าวัวของผมยังไม่โต แต่ผมอยากกินข้าวแล้ว ผมก็ไม่มีอะไรจะไปแลกได้ ต้องอดข้าวไปจนกว่าจะมีเนื้อวัวไปแลก ซึ่งก็คงอดตายไปก่อน

มนุษย์จึงคิดวิธีแก้ปัญหาด้วยการหาสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ที่จะใช้แทนทรัพยากร โดยสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนนั้นจำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ อะไรก็ได้ที่ “หายาก” “ปลอมแปลงไม่ได้” และ “แบ่งเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ ได้”

แจ็คพอตมาออกที่ทองคำ (Gold) กับแร่เงิน (Silver) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ได้รับการยอมรับกันในอดีต เพราะทองคำกับแร่เงินนั้นหาได้ยาก ต้องขุดสกัดจากชั้นหินเป็นตันๆ กว่าจะได้ทองซักออนซ์นึง ปลอมแปลงได้ลำบาก และเมื่อนำมาหลอม จะสามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆ ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการได้จำนวนมาก

นี่เป็นเหตุผลที่ทองคำต่างจากเพชรในแง่การใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ลองคิดถึงเพชรนะครับ เพชรก็เป็นของหายาก ปลอมแปลงก็ไม่ได้ แต่สาเหตุที่บรรพบุรุษของเราไม่นิยมเอาเพชรมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็เพราะเพชรแบ่งแยกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ไม่ได้เหมือนทองคำ คุณภาพน้ำเพชรแต่ละเม็ดก็ไม่เท่ากัน สภาพคล่องในการนำไปใช้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนสินค้ามูลค่าต่ำๆ ก็ลำบาก

ภาพที่ 21 - ทองคำ แร่เงิน และโลหะมีค่าอื่นๆ ที่ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนในยุคโรมันแหล่งข้อมูล: Wikipedia

กำเนิดตั๋วทองคำ

ทองคำถูกใช้เป็น “เงิน” มานานหลายพันปีครับ จนกระทั่งเกิดการวิวัฒนาการในขั้นตอนถัดไป เพื่อความสะดวกที่ไม่ต้องพกพาทองคำหนักๆ ไปไหนต่อไหน จะหั่นทองคำเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อเอาไปซื้อของเล็กน้อยก็ลำบาก จึงเกิดธุรกิจรับฝากทองคำเกิดขึ้น เมื่อร้านรับฝากทองคำเรียบร้อย ก็จะออกตั๋วทองคำให้กับผู้ฝาก (ธุรกิจรับฝากทองคำนี้คือจุดเริ่มต้นของระบบธนาคารนี่เอง)

ตั๋วทองคำนี้ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้แทนทองคำได้ เมื่อคุณมีตั๋วอยู่ในมือ ก็มีค่าเท่ากับมีทองคำอยู่ในมือครับ เวลาไปชอปปิ้ง ก็จะชำระค่าสินค้าให้พ่อค้าด้วยตั๋วทองคำ เมื่อไหร่ก็ตามที่พ่อค้าต้องการแลกทองคำ ก็นำตั๋วที่ได้รับจากคุณกลับไปแลกที่ร้านรับฝากทองคำซะ หรือไม่พ่อค้าก็สามารถเก็บตั๋วทองคำนี้เอาไว้ เพื่อไปซื้อสินค้าอื่นๆ ต่อได้

การซื้อขายบนโลกนี้เติบโตอย่างมาก GDP ของประชากรโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้ตั๋วทองคำอย่างแพร่หลาย จนเป็นการเสียเวลาเปล่าที่จะเอาตั๋วไปแลกทองคำมาเก็บไว้ เพราะสุดท้ายคุณก็ต้องเอาตั๋วไปแลกเปลี่ยนสินค้าอื่นๆ เพื่อใช้ดำรงชีพอยู่ดี

ในขณะที่สื่อกลางการแลกเปลี่ยนแท้ๆ อย่างทองคำกลับนอนนิ่งอยู่ในตู้เซฟ ตั๋วทองคำกลับถูกใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ตั๋วจากประเทศหนึ่งเมื่อจะไปแลกเปลี่ยนอีกประเทศหนึ่ง มักจะมีปัญหา จึงเริ่มมีการสร้างระบบตั๋วทองคำที่เป็นมาตรฐานกันขึ้นมา ตั๋วในแต่ละประเทศก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น ตั๋วทองคำของสหรัฐอเมริกาถูกเรียกว่า “ดอลล่าร์” ตั๋วทองคำของอังกฤษถูกเรียกว่า “ปอนด์สเตอร์ลิง” ตั๋วทองคำของญี่ปุ่นถูกเรียกว่า “เยน” ตั๋วทองคำของไทยถูกเรียกว่า “บาท”

ตั๋วดอลล่าร์ 1 ใบสามารถแลกตั๋วเยนได้ 100 ใบ

ตั๋วปอนด์สเตอร์ลิง 1 ใบ สามารถแลกตั๋วบาทได้ 50 ใบ

และไม่ว่าตั๋วรูปแบบไหน ก็สามารถไปแลกทองคำกลับมาได้จากประเทศผู้ออกตั๋วทั้งนั้น นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ “ระบบอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange)” ในปัจจุบันครับ

ภาพที่ 22 - ตั๋ว 20 ดอลล่าร์ในอดีต ที่ยังอยู่ในรูปแบบ “ตั๋วทองคำ” หรือเรียกกันว่า Gold Certificate อยู่ ซึ่งตั๋วทองคำนี้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นทองคำได้จริง ในยุคนั้นทองคำ 1 ออนซ์ ใช้เงินประมาณ 35 ดอลล่าร์ในการแลกคืนแหล่งข้อมูล: Wikipedia

อิสรภาพของดอลล่าร์ในปี 1971

ปัญหาของเงินในโลกนี้มันเริ่มจากระบบการออกตั๋วของแต่ละประเทศนี่แหละครับ จุดเริ่มต้นของปัญหามันคือช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาลงทุนกับการทำสงครามเยอะมาก จนตั๋วดอลล่าร์แทบจะหมดประเทศ รัฐบาลสหรัฐในยุคนั้นก็เลยขี้โกงด้วยการพิมพ์ตั๋วดอลล่าร์ออกมาเยอะเกินกว่าทองคำที่มีในโกดัง

สมมติว่าทอง 1 ก้อน พิมพ์ตั๋วได้ 1 ใบ

สหรัฐมีทอง 1 ล้านก้อน แต่แทนที่สหรัฐจะพิมพ์ตั๋ว 1 ล้านใบ กลับพิมพ์เยอะเกินไปเป็น 5 ล้านใบ แปลว่าสหรัฐมีตั๋วเกินกว่าทองในโกดังถึง 5 เท่า

ทีนี้หลายๆ ประเทศเริ่มสงสัย ว่าทำไมดอลล่าร์มันมีเยอะจังเลย เห็นสหรัฐใช้แล้วใช้อีกไม่หมดซักที พวกเค้าเริ่มไม่ไว้ใจสหรัฐ ก็เลยทยอยเอาตั๋วไปแลกทองคืนจากสหรัฐ การขอทองคำคืนนี้เริ่มต้นจากประเทศอย่างเยอรมันตะวันตก สวิสเซอแลนด์และฝรั่งเศส

เอาล่ะซิ เมื่อโดนขอแลกทองคืน สหรัฐทำยังไงครับ..? สหรัฐเองไม่มีทองพอจะคืนให้ประเทศต่างๆ ได้แน่ๆ อยู่แล้ว เล่นขี้โกงพิมพ์มาเยอะขนาดนี้

วิธีง่ายที่สุดที่สหรัฐทำก็คือ “ชักดาบแม่งเลย..!!”

บ่ายวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 1971 ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิปดีสหรัฐในยุคนั้นประกาศยกเลิกการผูกตั๋วดอลล่าร์เข้ากับทองคำ หมายถึงว่า ตั๋วดอลล่าร์ของรัฐบาลเป็นอิสระจากทองคำ รัฐบาลจะพิมพ์ตั๋วเงินเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องอิงกับปริมาณทองคำที่มีอยู่ และผู้ครองครองตั๋วดอลล่าร์ก็ไม่สามารถนำตั๋วกลับไปแลกทองคำคืนได้อีกต่อไป..!! ดอลล่าร์เป็นอิสระแล้ว

ปรากฏการณ์ในครั้งมีชื่อเป็นทางการว่า การล้มเลิกระบบ Bretton Woods System มีชื่อเล่นว่า “ปรากฏการณ์ Nixon Shock”

ภาพที่ 23 - ปี 1971 เป็นจุดเริ่มต้นที่ตั๋วดอลล่าห์เป็นอิสระจากทองคำ และเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นป่วนของระบบการเงินโลก

จุดนั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นความปั่นป่วนของโลกการเงิน ปริมาณตั๋วของแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการพิมพ์เงินแบบไม่บันยะบันยังของรัฐบาล บางประเทศเครดิตไม่ดี พิมพ์เงินเยอะแล้วก็ล้มละลายเลย (แบบซิมบับเว) เพราะรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนประเทศอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ ยูโรโซน พวกนี้พิมพ์เงินเยอะ แต่ยังอยู่ได้ เพราะเครดิตรัฐบาลยังดีอยู่

ส่วนทองคำล่ะครับ..? ทองคำนอนกองอยู่ในตู้เซฟ หมดสิ้นบทบาทการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในยุคอดีตเงินเคยถูกใช้เป็นตัวแทนของทองคำ น่าเชื่อถือเพราะมีทองคำเป็นแบ็คอัพ

ในยุคปัจจุบันเงินไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทองคำอีกแล้ว แต่มนุษย์เรายังเชื่อถือเงินเพราะ “รัฐบาลค้ำประกัน” ถ้ามนุษย์เชื่อมั่นในรัฐ เงินก็จะยังคงมีค่าต่อไป

ปัญหาของเงินในปัจจุบันจึงขึ้นตรงกับความน่าเชื่อถือของรัฐของประเทศนั้นๆ ไม่ได้ผูกกับทองคำในคลังอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นรัฐจะทำยังไงกับเงินของประเทศก็ย่อมได้ ยกตัวอย่างวิกฤติเศรษฐกิจจาก subprime ของ

สหรัฐอเมริกาในปี 2008 ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจพิมพ์เงินจำนวนมากเพื่อมายื้อชีวิตเศรษฐกิจของประเทศด้วยชื่อเท่ห์ๆ ว่า QE (Quantitative Easing) ที่จริงแล้วก็แค่การปั้มดอลล่าร์ออกมายื้อไม่ให้แบงค์ล้ม

รัฐอยากพิมพ์เงินกี่ล้านล้านเหรียญก็พิมพ์ได้ ในขณะที่ประชาชนทำงานเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะหาเงินได้ซักร้อยเหรียญ สถานการณ์แบบนี้ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเริ่มคลางแคลงใจ ไม่ไว้ใจรัฐบาล จึงเริ่มหาสกุลเงินทางเลือก

สกุลเงินที่จะมีค่าในตัวของมันเองโดยไม่ต้องพึ่งพาความน่าเชื่อถือจากรัฐบาลหรือทองคำอีกต่อไป

สกุลเงินที่จะมีค่าในตัวของมันเอง..!?!

เงินตราในยุค Post-QE

แล้วเงินประเภทไหนที่ไม่ต้องมีรัฐบาลมาคอยค้ำ ไม่ต้องมีทองคำมาแบ็คอัพ ก็น่าเชื่อถือได้ด้วยตัวมันเอง เงินประเภทไหนที่จะไม่มีวันเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วย QE..?

เงินประเภทไหนที่จะมีคุณสมบัติ “หายาก” “ปลอมแปลงไม่ได้” และ “แบ่งเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ ได้” แบบที่ทองคำมี..?

Bitcoin และสถาปัตยกรรม Blockchain เป็นคำตอบ (บางส่วน) ของคำถามนี้..!!

ความใฝ่ฝันที่อยากจะสร้างเงินตราทางเลือกที่เป็นของมหาชน ดูแลโดยมหาชน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นตัวกลาง มีความโปร่งใส ตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดได้ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นจริงได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกชื่อว่า Blockchain ถูกคิดค้นโดย (กลุ่ม) นักวิทยาศาสตร์ลึกลับที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto ในปี 2008

ตั๋วเงินในอดีต มีทองคำในคลังค้ำประกัน

ตั๋วเงินในยุคปัจจุบัน มีรัฐบาล (ที่น่าเชื่อถือ??) ค้ำประกัน

แล้ว Bitcoin/Blockchain มีอะไรค้ำประกัน..??

แล้ว Blockchain คืออะไร..? ทำงานยังไง..? ทำไมมันถึงทำให้ Bitcoin น่าเชื่อถือโดยไม่มีใครและไม่มีอะไรค้ำประกัน..? เรามาดูกัน

ระบบธนาคารกลางแบบไม่รวมศูนย์

Satoshi Nakamoto ออกแบบสถาปัตยกรรมของ Bitcoin ด้วยเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Blockchain ผมขอไม่อธิบายรายละเอียดเชิงลึกของ Blockchain เพียงแต่จะเล่าให้ฟังว่า Blockchain มีรูปแบบการทำงานยังไง

เริ่มต้น Blockchain ของ Bitcoin ถูกโปรแกรมให้มีปริมาณ Bitcoin อยู่ในระบบ 21 ล้าน Bitcoin พอดิบพอดี และไม่ใช่ว่าใครๆ อยากจะได้ Bitcoin ก็ไปเอามาได้ง่ายๆ วิธีการได้มาซึ่ง Bitcoin มีอยู่สองวิธี

  1. หาเองด้วยการลงทุนเป็นผู้ขุด Bitcoin (หรือเรียกว่า Bitcoin Miner)
  2. ซื้อ Bitcoin ต่อจากผู้อื่นในราคาตลาด (ปัจจุบันคือ 1 BTC = 35,000 บาทโดยประมาณ)

เริ่มที่ผู้ขุด Bitcoin ก่อน ผมอยากให้คิดภาพกลุ่มผู้ขุด Bitcoin เป็นเหมือนกับเหมืองทองคำนะครับ ผู้ขุดจำเป็นจะต้องลงทุนอุปกรณ์ในการขุดหา Bitcoin จากระบบที่ซับซ้อน (เหมือนกับเหมืองทองที่ต้องลงทุนขุดเหมืองเพื่อหาทองคำ) ยกตัวอย่างตัวผมเองก็ทำการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พิเศษที่ใช้ในการขุดค้นหา Bitcoin โดยเฉพาะ และเมื่อมีเครื่องมือที่ว่านี้อยู่ ผมก็จะสามารถหา Bitcoin ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไป (และระบบ Blockchain การันตีว่าคนจะแฮ็กระบบเพื่อโกงการขุด Bitcoin ไม่ได้)

แต่ด้วยปริมาณ Bitcoin ที่มีจำกัดคือแค่ 21 ล้าน Bitcoin เวลาผ่านไป Bitcoin จะเริ่มขุดหายากขึ้นเรื่อยๆ และถึงวันหนึ่งในอนาคตเมื่อ Bitcoin ถูกขุดครบ 21 ล้าน Bitcoin แล้ว กลุ่มผู้ขุด Bitcoin ก็จะหมดหน้าที่ใน ecosystem นี้ทันที

เนื่องด้วยการได้มาซึ่ง Bitcoin จำเป็นจะต้องลงทุนลงแรง และการจำกัดจำนวนของ Bitcoin ทำให้มันมีมูลค่าและหายาก (คล้ายทองคำ) และเหตุผลนี้เองที่ทำให้ Bitcoin นั้นไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาค้ำประกัน (บางคนยังงงๆ ว่าทำไม ลองถามคำถามตัวเองดูครับ ว่าทำไมคุณเชื่อใน “ทองคำ” ทั้งๆ ที่ทองคำก็ไม่มีอะไรค้ำประกัน สาเหตุหลักก็เพราะทองคำหายาก และมีจำนวนจำกัด เหมือนกันกับ Bitcoin เลย)

ลองคิดภาพนะครับ แทนที่ธนาคารกลางอย่าง FED จะพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบ พอมาเป็น Bitcoin เราจะไม่มีธนาคารกลางแบบรวมศูนย์อย่าง FED อีกต่อไป Bitcoin จะเกิดมาแบบสุ่มอยู่ใน ecosystem และไม่มีวันที่จะถูกผลิตเพิ่มเติมให้เกิน 21 ล้าน Bitcoin ได้ เมื่อปริมาณ Bitcoin ไม่มีวันเพิ่มขึ้น อำนาจซื้อของ Bitcoin ก็จะไม่ลดลงเหมือนกับสกุลเงินอื่นๆ ที่รัฐพิมพ์ออกมาเองได้แบบมันส์มือ

ที่นี้สิ่งที่คนส่วนใหญ่สงสัยกันมากที่สุด คือ ระบบของ Bitcoin จะป้องกันการถูกแฮ็กได้อย่างไร..?

ผมยกตัวอย่างสมมติ สมมติว่าผมถือเงิน 700,000 บาท เพื่อไปหาเอเย่นและแลกซื้อ Bitcoin มาเป็นจำนวน 20 BTC

ลองคิดภาพนะครับ

ผมโอนเงิน 700,000 ให้เอเย่นผ่านทางธนาคาร

ผมเปิด Bitcoin Wallet เพื่อรอรับ BTC จากเอเย่น

เดิมทีเอเย่นมี Bitcoin อยู่ 100 BTC

เอเย่นโอน 20 BTC ให้กับ Bitcoin Wallet ของผม

เอเย่นเหลือ Bitcoin อยู่ 80 BTC

เป็นอันจบกระบวนการซื้อขาย Bitcoin

ทีนี้ผมจะมั่นใจได้ยังไงว่า 20 BTC ของผมจะอยู่รอดปลอดภัยและไม่โดนแฮ็กจนเหลือศูนย์

ข้อมูลการโอนเงินของเอเย่นมาที่ผมเป็นจำนวนเงิน 20 BTC นั้นจะถูกเก็บสำเนาอยู่ใน “คอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง” นับล้านๆ เครื่องของผู้ใช้ Bitcoin นั่นหมายความว่า ถ้าใครต้องการมาแฮ็ก โดยขโมยเงิน 20 BTC ไปจากผมนั้น เค้าคนนั้นจะต้องไปแก้ข้อมูลนี้บนคอมพิวเตอร์นับล้านๆ เครื่องทั่วโลก (ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติเลย) ระบบแบบนี้เรียกกันว่า Distributed Ledger หรือ Distributed Network (ภาพ C)

ภาพที่ 25 - (A) คือระบบรวมศูนย์ ถ้าข้อมูลถูกเก็บไว้ที่จุดเดียว ถ้าโดนแฮ็ก ทุกอย่างคือจบ (B) คือระบบแบบกระจายศูนย์ไปหลายจุด ถ้าโดนแฮ็กแต่ละจุดพร้อมๆ กัน ก็พัง ในขณะที่ (C) คือระบบแบบสำเนาข้อมูลทั้งหมดไปที่คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบ ถ้าจะแฮ็ก คุณต้องแฮ็กทุกเครื่องพร้อมกันจึงจะสำเร็จได้

พูดอีกแง่ก็คือ เครือข่าย Bitcoin นั้นมีพยานในการยืนยันการทำธุรกรรมนับล้านๆ เครื่องทั่วโลก ซึ่งโจรไม่มีทางที่จะไปหลอกพยานทั่วโลกได้พร้อมกัน นั่นแปลว่าตราบใดที่ยังมีพยานอยู่ เงินของคุณจะปลอดภัยเสมอ (เว้นแต่คุณพลาดไปโดนขโมยรหัสผ่านของ Wallet ซึ่งก็จะเหมือนกับการที่คุณโดนขโมยบัตร ATM พร้อมรหัสผ่าน ไม่ว่าเป็น Bitcoin หรือเงินบาท เงินคุณก็มีโอกาสสูญอยู่ดีถ้าคุณพลาดแบบนี้)

การเก็บสำเนาข้อมูลทั้งหมดของ Bitcoin กระจายไปทั่วโลกนี่แหละครับ เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยโดนแฮ็กเลยแม้แต่ครั้งเดียว

คำถาม: อ้าว แล้วที่เคยได้ข่าวว่า Bitcoin โดนแฮ็กที่ Mt.Gox หรือ Bitfinnex ล่ะ..?

คำตอบ: จริงๆ แล้วระบบ Blockchain นั้นไม่มีวันโดนแฮ็ก นั่นหมายถึง “ถ้านาย A โอนเงินให้นาย B ไป 1 BTC” ธุรกรรมจริงที่เกิดขึ้นนี้จะไม่มีวันถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เลยเพราะมีการทำสำเนาไปทั่วโลกและมีพยานนับล้านคนทั่วโลกคอยจับตามองอยู่ แต่ข่าวที่เกิดการแฮ็ก Mt.Gox และ Bitfinnex นั่นจริงๆ แล้วคือการขโมย รหัสผ่านของนาย A เพื่อไปทำการโอนเงินให้นาย B ต่างหากล่ะ ซึ่งปัญหาการถูกขโมยข้อมูลแบบนี้ไม่ว่าจะระบบการเงินแบบไหนในโลกก็ไม่สามารถป้องกันได้ครับ

สรุป

Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในลักษณะเดียวกับทองคำ นั่นคือ มีจำนวนจำกัด, หายาก, ปลอมแปลงไม่ได้, โกงไม่ได้ หรือพูดอีกแง่ Bitcoin มีคุณสมบัติไม่ต่างจากทองคำในอดีตที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนร่วมๆ 5,000 ปีของมนุษยชาติเลย

Bitcoin ไม่ต้องมีระบบศูนย์กลางแบบธนาคารกลาง ไม่ต้องมีรัฐบาลค้ำประกัน ตราบใดที่อินเทอร์เนตยังคงอยู่ Bitcoin จะไม่มีวันล่ม และไม่มีรัฐบาลไหนที่จะออกกฏหมายห้ามการใช้ Bitcoin ได้ เว้นเสียแต่รัฐบาลจะห้ามการเข้าถึงอินเทอร์เนตได้

ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังให้ความเชื่อถือใน Bitcoin คุณจะสามารถขาย Bitcoin กลับมาเป็นเงินบาทหรือดอลล่าร์ได้เสมอ ไม่ต่างจากคุณซื้อขายทองคำ และเมื่อคุณมี Bitcoin ในมือ คุณก็จะสามารถนำไปซื้อขายสินค้ากับร้านค้าบางแห่งที่ยินดีรับชำระเป็น Bitcoin แล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งคนหมดความมั่นใจในสกุลเงินดั้งเดิมมากเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งหนีไปถือสินทรัพย์ที่ช่วยคงอำนาจซื้อให้พวกเขามากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้น, อสังหาริมทรัพย์, ทองคำ รวมถึง Bitcoin ด้วย

ถ้าเป็นแบบนี้ เหตุผลใดที่คุณจะไม่เชื่อถือใน Bitcoin ถ้าคุณยังกล้าเชื่อถือในเงินดอลล่าร์ เยน หรือยูโร ที่ธนาคารกลางสามารถทำอะไรกับมันก็ได้ ตั้งแต่ลดดอกเบี้ยจนเข้าข่ายติดลบ พิมพ์เงินเพิ่ม รวมไปถึงการเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้า หรือแม้แต่ภาษีเงินฝากจากกระทรวงการคลัง

หากมนุษย์ตัดสินใจใช้ Bitcoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนสกุลเงินปกติ นั่นหมายถึงว่า Bitcoin ในมือของคุณจะเป็นอิสระจากรัฐบาล และธนาคารกลางทันที คุณไม่ต้องกลัวธนาคารกลางจะพิมพ์เงิน คุณไม่ต้องกลัวรัฐบาลจะขึ้นภาษี คุณไม่ต้องกลัวอัตราดอกเบี้ยจะติดลบแล้วเงินฝากในธนาคารคุณจะลดลง

ล่าสุดประเทศญี่ปุ่นได้ทำการ legalize Bitcoin ให้สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางเลือกนอกเหนือจากเงินเยนแล้ว ไว้ผมจะมาเล่าเหตุผลและที่มาที่ไปของการ legalize Bitcoin ในประเทศญี่ปุ่นให้ฟังกันครับ

และนี่คือความเห็นส่วนตัวที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคา Bitcoin ทะลุ $1,000 ไปแล้ว ในระยะยาว Bitcoin จะยังคงมีความผันผวนรุนแรง และอาจจะร่วงลงมาหนักๆ ได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อถึงเวลานั้น คุณเองจะเป็นคนที่ตัดสินใจครับว่า จะเลือกที่จะเชื่อถือสกุลเงินทางเลือกใหม่นี้หรือคิดว่ามันเป็นเพียงแค่ฟองสบู่เศรษฐกิจอีกฟองหนึ่งเท่านั้น

Note - บทความนี้ดูเหมือนผมจะเชียร์ Bitcoin แต่ความจริงยังมีความน่าเป็นห่วงในเรื่องปัญหาอีกหลายๆ อย่างของ Bitcoin ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะมาเขียนเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆ ไป ไม่งั้นจะทำให้บทความยาวจนเกินไปครับ
Note - ต้นทุนของ Bitcoin ของผมอยู่ในราคาที่ต่ำมาก ดังนั้นผมจะไม่เชียร์ให้คุณเข้าซื้อ Bitcoin ที่ราคาเกิน $1,000 นั่นไม่ได้หมายความว่าผมจะบอกว่า Bitcoin ตอนนี้แพงเกินไป ผมบอกไม่ได้หรอกครับว่าตอนนี้แพงหรือถูก ราคา Bitcoin ขึ้นกับความเชื่อมั่นของคนล้วนๆ วันหนึ่ง Bitcoin อาจจะราคาทะลุ $10,000 หรือวันหนึ่งมันอาจจะกลับลงไปที่ $100 ดังนั้นถ้าคุณสนใจ ลองตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของคุณเอง แต่สำหรับผม Bitcoin มีบทบาทใน portfolio เหมือนกับทองคำ คือเป็นการลงทุนทางเลือก ที่มีสัดส่วนไม่ควรเกิน 10-15% ของ portfolio และหากจะตัดสินใจลงทุนใน Bitcoin รออ่านอีกบทความหนึ่งของผมที่จะพูดถึง Bitcoin ในแง่ลบ เพื่อให้เห็นเหรียญทั้งสองด้านดูบ้างก็จะดีนะครับ

The Dark Side of Bitcoin: Economic Challenges and Government Opposition

January 2017

Bitcoin ได้ชื่อว่าเป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องมีคนกลาง (ธนาคารกลางหรือ Central Bank) คอยควบคุม ซึ่งการที่ระบบการเงินอยู่ได้โดย “ไร้คนกลาง” นี่เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐบาลส่วนใหญ่หวาดกลัว Bitcoin

เราเชื่อถือในอะไรกันแน่..?

Fiat Currency เป็นชื่อเรียกของระบบการเงินในปัจจุบันที่ธนาคารกลางเป็นคนกำหนดปริมาณเงินที่จะมีในระบบ คำถามคือทำไมเราถึงยอมเชื่อในกระดาษเปื้อนหมึก ที่ไม่มีหลักทรัพย์อะไรค้ำประกันเลย..?

คำตอบก็คือ เราเชื่อในเครดิตของรัฐ เมื่อรัฐค้ำประกันว่ากระดาษเปื้อนหมึกนี้มีค่าใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ เราจึงยอมรับกระดาษเหล่านี้

บางคนเคยเข้าใจว่า รัฐจะพิมพ์เงินได้จะต้องมีทองคำสำรองในคลัง ความจริงกฏข้อนี้ไม่เป็นจริงมานานแล้วนะครับ ตั้งแต่ปธน.ริชาร์ด นิกสัน ล้ม Bretton Woods System เงินก็เลิกผูกค่ากับทองคำตั้งแต่นั้นมา

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อรัฐล่มสลาย ระบบการเงินของรัฐนั้นๆ จึงพังตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อภิมหาเงินเฟ้อในซิมบับเว หรือไวมาร์หลังสงครามโลก

ทำไมรัฐต้องควบคุมปริมาณเงิน..?

ธนาคารกลางคือหน่วยงานหลักของรัฐในการควบคุมปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ในประเทศทั่วไปอย่างไทย ธนาคารกลางอาจจะทำแค่การดูดเงินออกจากระบบ หรือเพิ่มเงินเข้าระบบด้วยการควบคุมอัตราดอกเบี้ย แต่ประเทศมหาอำนาจที่เครดิตดีอย่างสหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโร ถึงกับสามารถพิมพ์เงินกระดาษเพิ่มขึ้นมาได้เอง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือการพิมพ์เงิน (QE) เป็นกลไกของธนาคารกลางในการดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า นโยบายการเงิน (monetary policy)

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ บางครั้งรัฐก็เลือกที่จะลดค่าเงิน (ไม่ว่าจะด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย หรือการแทรกแซงค่าเงินเช่นเทขายสกุลเงินของตัวเองเข้าสู่ตลาดโลก ฯลฯ) พอค่าเงินอ่อน ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ส่งออกดีขึ้น อะไรประมาณนี้

ซึ่งการที่ยูโรโซนทั้งหมดใช้สกุลเงินเดียวกัน จึงสร้างปัญหาให้กับประเทศที่อ่อนแอในยูโร เพราะไม่สามารถใช้นโยบายการเงิน ในการควบคุมค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ พอดอกเบี้ยต่ำ หลายประเทศจึงอยู่ในสภาวะหนี้ท่วมหัว เพราะแข่งขันไม่ได้และกู้แต่หนี้ จึงเสี่ยงที่จะล้มละลายอยู่จนทุกวันนี้

สรุปแล้ว การแทรงแซงอย่างเหมาะสมของธนาคารกลางมีความสำคัญ (แต่การแฮกเกมส์ด้วยการ show me the money เพิ่มเงินไม่มีวันหมดอย่างการ QE ของพวกมหาอำนาจ ถือเป็นนโยบายการเงินนอกคอกนอกตำราที่ไม่ส่งให้เกิดผลดีนะครับ) เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอพลิกฟื้น (ต้มยำกุ้งของไทยเป็นตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด) หรือชะลอเศรษฐกิจของประเทศที่ร้อนแรงเกินไป (แบบที่เคยเกิดกับจีนในช่วงหลายปีก่อน)

นี่เป็นเหตุผลที่ส่วนตัวผมเชื่อว่า ไม่มีวันที่ระบบการเงินที่อ้างอิงกับมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) จะถูกนำกลับมาใช้ในยุคนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณตรึงค่าเงินไว้กับทองคำ ความยืดหยุ่นของนโยบายการเงินจะหายไป

ซึ่งเอาเข้าจริงถ้าพูดเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมานโยบายการเงินที่ควบคุมให้เงินอ่อนเงินแข็งนั้น เป็นการนำกลไกทางเศรษฐศาสตร์ไปแทรกแซงกฏธรรมชาติอย่าง Natural Selection ของชาร์ล ดาร์วิน พูดง่ายๆ คือตามกฏของดาร์วิน ประเทศที่อ่อนแอ สุดท้ายจะสู้สงครามเศรษฐกิจไม่ได้ และล้มละลายไปเอง

ถ้าคุณอยากส่งออกได้ดีกว่าคู่แข่ง สิ่งที่คุณควรทำคือการผลิตสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ยกระดับคุณภาพสินค้า หรือสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างจุดแข็ง แล้วตีตลาดโลก ไม่ใช่ลดค่าเงินเพื่อให้ของถูกจะได้แข่งขันกับคู่แข่งได้ง่ายขึ้น

ประเทศไหนทำไม่ได้ก็ควรสูญพันธ์ไปตามหลักของดาร์วิน

นอกเรื่องไปไกลย้อนกลับมาที่เรื่องของ Bitcoin

ทำไมรัฐบาลส่วนใหญ่จึงกังวลกับ Bitcoin..?

นั่นเป็นเพราะหากประชาชนของรัฐเลือกใช้ Bitcoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รัฐจะไม่สามารถนำกลไกของธนาคารกลางมาควบคุมปริมาณเงินอย่างที่เคยทำในอดีตได้ และสุดท้ายปัญหาเศรษฐกิจของประเทศก็จะไม่มีทางแก้ไขด้วย monetary policy แบบที่เคยเป็นมา คงเหลือเพียงแค่นโยบายการคลังหรือ fiscal policy (เช่นการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจด้วยใช้จ่ายภาครัฐเป็นต้น)

ถ้าโลกใช้ Bitcoin จะไม่มีการ QE อีกต่อไป และถ้าเป็นอย่างนั้นหลายๆ ประเทศมหาอำนาจจะต้องล้มละลาย (ตอน Subprime ถ้าสหรัฐไม่ QE ป่านนี้สหรัฐล้มละลายไปแล้วครับ ญี่ปุ่น และยูโรก็เช่นกัน)

โลกทั้งโลกใช้ Bitcoin เหมือนใช้ทองคำ ไม่มีเงินอ่อนเงินแข็ง ไม่มีการแทรกแซงค่าเงิน ไม่มีตลาด Forex ให้เทรด เราบินไปญี่ปุ่นก็ใช้ Bitcoin ซื้อราเม็งได้เหมือนอยู่เมืองไทยที่ใช้ Bitcoin ซื้อก๋วยเตี๋ยวเรือ

ระบบธนาคารแบบดั้งเดิมอาจจะกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อคุณมีระบบการเงินที่เป็นอิสระที่ถูกสร้างอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เนต

ซึ่งการไม่มีนายธนาคารก็เป็นเรื่องที่กลุ่มต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเห็นชอบอยู่แล้ว เพราะพวกเค้ามองว่านายธนาคารและนักการเงินคือคนที่สร้างอนุมูลอิสระจำนวนมากให้ระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตราสารทางการเงินประหลาดๆ ที่ปั่นป่วนเศรษฐกิจโลกทั้ง MBS, CDS, CDO (ใครไม่รู้จักยังไม่ต้องไปสนใจมันมากนักก็ได้ครับ ระเบิดเวลาทั้งนั้นเจ้าพวกนี้ แต่ถ้าสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของ Subprime กับวิกฤติยูโร ควรรู้จักเจ้าพวกนี้ไว้ให้มากๆ ครับ)

ดังนั้นในภาคทฤษฏีแล้ว กล่าวโดยสรุป Bitcoin จะมาปั่นป่วนระบบเศรษฐกิจโลก เพราะมันจะปลดแอกระบบการเงินโลกให้พ้นจากการควบคุมของรัฐและนายธนาคาร..!! แง่นึงดูเหมือนจะดี แต่อีกแง่กฏของชาร์ล ดาร์วินจะถูกนำกลับมาใช้ทันที เพราะรัฐขาดกลไกควบคุมไปแล้ว ประเทศอ่อนแอจะล้ม เพราะทำเงินอ่อนไม่ได้ ประเทศแข็งแรงจะกินรวบเศรษฐกิจทั้งโลก

แต่นั่นคือภาคทฤษฏีครับ..

ในภาคปฏิบัติสิ่งนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนักเนื่องจาก..

1.Confidence is Key – ตัวกลางการแลกเปลี่ยนมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน และ Bitcoin (ณ ปัจจุบัน) ยังห่างไกลจากคำนั้น คนจำนวนมากไม่รู้และไม่เข้าใจกลไกของ Bitcoin พอที่จะเชื่อถือมันได้

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ในยุคโรมันที่ยังใช้ทองคำเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกันอยู่ ตัวเหรียญมีภาพนูนต่ำของกษัตริย์โรมันในยุคนั้นปั๊มไว้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า ทองคำนี้เป็นของแท้ผลิตจากรัฐบาลโรมันเอง

ท่านทราบไหมครับว่า เหรียญทองของโรมันเหล่านั้นมีการแพร่กระจายไปใช้ในประเทศอื่นๆ อย่างอินเดียด้วย

แล้วจู่ๆ นักประวัติศาสตร์ก็ขุดพบเหรียญโรมันของปลอมในประเทศอินเดีย คำว่าปลอมในที่นี้ คือตัวเหรียญเป็น “ทองคำจริงๆ” ครับ แต่ปั๊มรูปกษัตริย์โรมันปลอมๆ ที่มีลักษณะของภาพที่มีความแตกต่างจากภาพบนเหรียญโรมันจริงๆ

ภาพที่ 26 - เหรียญทางซ้ายเป็นเหรียญทองแท้ของโรมัน ส่วนเหรียญทางขวาเป็นเหรียญทองแท้ของอินเดียที่พยายามทำเลียนแบบเหรียญโรมัน แหล่งข้อมูล: https://www.armstrongeconomics.com/

ทำไมแค่ “ทองคำจริง” ของอินเดียถึงไม่น่าเชื่อถือ..? จนต้องหาทางประทับภาพกษัตริย์โรมันลงไปในทองคำเพื่อให้คนมั่นใจ

ทองไม่ได้มีค่าเพราะมันเป็นทอง แต่ทองมันมีค่าเมื่อรัฐบาลรับประกัน

Bitcoin ในยุคนี้ก็เช่นกันครับ ไม่ว่าตัวเทคโนโลยี crytocurrency ของ Bitcoin จะล้ำหน้า ปลอดภัย และเจ๋งขนาดไหน คนส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะตัดสินใจเลือกใช้แทนเงินของรัฐหรอก เว้นแต่รัฐบาลจะประทับตราให้การยอมรับว่า Bitcoin สามารถแลกเปลี่ยนได้จริง ถ้ารัฐการันตี คนก็จะเชื่อมั่น

ปัจจุบัน Bitcoin จึงมีบทบาทเป็นแค่การลงทุนทางเลือกเท่านั้น นักลงทุนที่เชื่อใน Bitcoin ส่วนใหญ่ก็มักจะถือ Bitcoin เป็นสัดส่วนเล็กน้อยในพอร์ตของตัวเอง (คนที่ทุ่มหมดหน้าตักก็พอมีแต่ไม่มากนักยกเว้นพวกรายใหญ่ที่เป็น Market Maker หรือเหล่า Miner ตัวเบ้งๆ)

2. เสี่ยงกับภาวะ Hyperdeflation – มีนักทฤษฏีหลายคนกล่าวไว้ว่า Bitcoin มีปริมาณน้อยเกินไป จึงไม่มีทางที่ Bitcoin แค่จำนวน 21 ล้านเหรียญ จะมาทดแทนระบบการเงินโลกที่มีปริมาณเงินรวมเครดิตมากกว่า 300 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้

ความจริงแล้วสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาครับ เพราะ Bitcoin นั้นถูกออกแบบมาให้แบ่งจำนวนเป็นหน่วยย่อยได้มากถึง 1 ล้านส่วน (เรียกว่า μBTC) คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้า Bitcoin แข็งมากพอ ก็สามารถซอย Bitcoin เป็นหน่วยย่อยๆ ลงไปได้อีกล้านเท่าตัว (ในตอนนั้น 1 BTC อาจจะมีมูลค่า $100,000,000 และ 1 μBTC ก็มีมูลค่า $100)

นั่นคือ ปริมาณของ Bitcoin ไม่ใช่ปัญหาหรอกครับ ถ้ามันจะมาแทนที่ดอลล่าห์จริงๆ แต่ความจริงปัญหาที่มีของ Bitcoin คือเรื่องของการกักตุนต่างหาก (hoarding)

ในยุคแรกของ Bitcoin เจ้าของเหมืองที่ขุดหา Bitcoin ในยุคนั้นต่างมีปริมาณ Bitcoin อยู่เป็นจำนวนมาก

พูดอีกแง่ก็คือ Bitcoin ส่วนใหญ่ ตอนนี้ (เชื่อว่า) อยู่ในมือของคนส่วนน้อย..!!

เมื่อสินทรัพย์ส่วนใหญ่ถูกกักตุนทำให้ supply ในตลาดมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ความผันผวนของราคาจึงเกิดขึ้น นี่คือรูปแบบหนึ่งของสภาวะอภิมหาเงินฝืด (Hyperdeflation) ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) ที่หลายๆ คนกลัวกัน

รูปแบบของ Hyperdeflation เป็นอย่างไร..?

หลักๆ คือราคาสินทรัพย์นั้นๆ จะผันผวนสุดขีด ลองดูกราฟราคา Bitcoin ในช่วงเวลาต้นปีที่ผ่านมาสิครับ หลังจากทะลุ $1,100 เพียงแค่ไม่กี่วัน ก็โดนทุบจนหลุดมาอยู่แถวๆ $800 ภายในเวลาแค่ 3 วันเท่านั้นเอง  เวลาขึ้นลงทีไม่ใช่วิ่งกันแค่ 1-2% แต่ทุบและปั่นกันรอบละ 20-30% สบายๆ

เมื่อของมีน้อย เจ้ามือก็โก่งราคาได้ พอราคาขึ้นสูงมากๆ จนทำกำไรได้เยอะ เจ้ามือก็สามารถทุบราคาได้ด้วยการเทขาย (อารมณ์เหมือนวิกฤติ Tulipmania ในเนเธอแลนด์ช่วงศตวรรษที่ 16)

ซึ่งสินทรัพย์ที่ผันผวนรุนแรงขนาดนี้ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพราะความมั่งคั่งของผู้ถือจะแปรผันตามความผันผวนนี้ ลองคิดง่ายๆ ว่าวันนี้คุณซื้อก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามด้วยราคา 1 μBTC พอมาพรุ่งนี้ราคาก๋วยเตี๋ยวปรับเป็น 1.2 μBTC แล้ว เพราะ Bitcoin อ่อนลง ต่อมาอีกวันนึงก๋วยเตี๋ยวเหลือราคา 0.7 μBTC เพราะ Bitcoin แข็งขึ้น

พอเห็นความวุ่นวายของ Hyperdeflation นะครับ นี่ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่แท้จริงของ Bitcoin

สรุปว่าการนำ Bitcoin มาใช้แทนสกุลเงินหลักจะทำให้รัฐบาลประสบปัญหาหลายเรื่อง

เก็บภาษีไม่ได้

ควบคุมปริมาณเงินไม่ได้ (เพราะ Bitcoin จำกัดปริมาณ)

ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้

จัดการอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ (เพราะ Bitcoin จะไม่ได้อยู่ในธนาคาร)

จั่วหัวไว้ว่ารัฐบาลจะเกลียด Bitcoin แต่ทำไมอ่านข่าวเมื่อปลายปีที่แล้วกลับเจอว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่ง legalize Bitcoin ให้ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย..? เอาแล้วซิ ตรงลงความจริงเป็นยังไงกัน

ผมจะลองเล่าสมมติฐานของผมให้ฟังครับ

ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นถึงกล้า legalize Bitcoin..?

คำตอบจริงๆ ผมเชื่อว่ามาจากปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาภาวะเงินฝืดของประเทศญี่ปุ่นที่กินเวลายาวนานมากว่า 30 ปีนี่แหละครับ (เริ่มจาก Plaza Accord ที่โดนอเมริกาบังคับให้เพิ่มค่าเงินเยนเทียบกับดอลล่าห์)

ปัญหาเงินฝืด เป็นปัญหาที่น่ากลัวเนื่องจากประชาชนในประเทศญี่ปุ่นไม่ยอมใช้จ่าย เก็บสะสมเงินเอาไว้ (hoarding) เพราะกลัวความไม่แน่นอนของอนาคต พอเงินไม่หมุนเวียนในระบบ ปัญหาเงินฝืดก็ตามมา

หลายคนอาจจะคิดว่า เงินแพงๆ ดีออก (เงินฝืด = เงินแพงเพราะหายาก) สินค้าจะได้ถูกลง เอาเข้าจริงมันไม่ใช่เรื่องดีครับ เพราะเมื่อเงินฝืดผู้บริโภคจะคิดว่า “ถ้ารอซื้อสินค้าพรุ่งนี้ ของน่าจะถูกลงกว่าวันนี้นะ” เมื่อคนชะลอการใช้จ่าย จะทำให้ผู้ผลิตขายสินค้าไม่ได้ โรงงานเจ๊ง ปลดพนักงานออก เมื่อคนไม่มีเงิน ก็จะยิ่งประหยัด เกิดเป็นภาวะวนลูปของเศรษฐกิจซบเซา (Deflationary Spiral)

ญี่ปุ่นโดนปัญหานี้ซ้ำซากมานาน และไม่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นพยายามออกนโยบายอะไรมากระตุ้นการใช้จ่าย ก็มักจะไม่ได้ผล คนยังคงประหยัด และภาคการผลิตก็ทยอยประสบปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนประหยัด ภาคเอกชนก็ไม่กล้าที่จะขยายการลงทุน ทุกอย่างก็เลยติดอยู่ในกรอบวังวนที่ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุด

และเราต้องอย่าลืมว่า ญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพยายามลดอัตราดอกเบี้ยมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในระดับติดลบแล้ว (Negative Interest Rate Policy)

แต่ถึงอัตราดอกเบี้ยจะติดลบ เมื่อปลายปี 2016 เงินทั่วโลกก็ยังคงไหลเข้าเยนอย่างต่อเนื่อง ช่วงนั้นเงินเยนก็แข็งสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยไปซะงั้น ผิดทฤษฏีเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง หลังจากเกิดความกลัวเรื่องวิกฤติยุโรปหลัง Brexit เงินเยนแข็งตัวขึ้นมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับค่าเงินยูโร (เงินเยนแข็งทำให้การส่งออกญี่ปุ่นประสบปัญหา รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวด้วย)

แล้วญี่ปุ่นจะหวังพึ่งพาเรื่องส่งออกก็ไม่ได้

บริโภคในประเทศก็ยังไม่กระเตื้อง

เงินเยนก็แข็งจนน่ากลัว ยิ่งแข็งมาก ญี่ปุ่นก็จะยิ่งประสบปัญหาใหญ่ขึ้นๆ

และตามความเชื่อของผม นี่คือที่มาของการกล้า legalize Bitcoin ครับ..!!

เงินเยนแข็ง เพราะคนจำนวนมากหวังใช้เยนเป็น Safe Haven ดังนั้นความมั่นใจในเงินเยนของคนทั่วโลกตอนช่วงนั้นถือว่าสูงมาก (มากเกินกว่าธรรมชาติจริงๆ ของเยน ที่พิมพ์เงินออกมามากขนาดนี้)

ดังนั้นด้วยสภาวการณ์แบบนั้นในปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องกลัวเรื่องการทิ้งเงินเยน หรือกลัวปัญหาเงินเฟ้อ หรือเงินสูญเสียความน่าเชื่อถือจากการยอมรับ Bitcoin

ตรงกันข้าม ถ้าคนบางส่วนหมดความเชื่อถือในเงินเยนบ้าง กลับน่าจะเป็นเรื่องดี ทิ้งเยนไปถือดอลล่าห์บ้าง ไปถือหยวน บ้างไปถือ Bitcoin บ้าง ธนาคารกลางของญี่ปุ่นน่าจะดีใจทั้งอ้อนวอนและภาวนาให้เป็นแบบนั้น

ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดสื่อการในการแลกเปลี่ยนแบบใหม่อย่าง Bitcoin มาเทียบเคียงกับเยน ยังเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจทางตรง ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นั่นคือเมื่อผู้บริโภคไม่กล้าใช้เยน เก็บเยนเอาไว้ในเซฟ หรือในธนาคาร ดังนั้นถ้าหากมีสกุลเงินใหม่ที่มีอำนาจซื้อ อาจจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนการบริโภคในระบบได้ เพราะ Bitcoin ยังเป็นสกุลเงินใหม่ที่ยังไม่ได้รับความไว้วางใจมากนัก ดังนั้นการกักตุน (hoarding) ในคนส่วนใหญ่จึงยังไม่เกิดขึ้น

พูดง่ายๆ ใครก็ตามที่ไม่ได้เชื่อถือใน Bitcoin อย่างสุดหัวใจจริงๆ คงไม่มีความคิดที่จะเก็บสะสม Bitcoin เหมือนกับที่เก็บสะสมเงินเยนแน่ๆ ก็มีโอกาสที่จะนำ Bitcoin มาใช้จ่ายหมุนเวียนเพิ่ม Velocity of Money ในประเทศมากขึ้น

ประโยชน์ทางอ้อมอีกอย่างคือเมื่อรัฐบาลประกาศ legalize Bitcoin ก็มีโอกาสที่จะหาทาง regulate Bitcoin ตามมา ดังนั้นลองคิดว่าถ้ารัฐบาลสามารถหารายได้เพิ่มเติมจากการ regulate Bitcoin (เช่นเก็บภาษีจาก transaction ที่เกิดจาก Bitcoin) ก็จะเป็นการเพิ่มช่องทางรายได้อีกทางหนึ่งให้กับรัฐด้วย

ดังนั้นหาก Bitcoin ได้รับการยอมรับและถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะเกิดตามมา

เยนอ่อนลง

เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น (เยน+Bitcoin)

เพิ่มการหมุนเวียนของการบริโภค

เพิ่มรายได้รัฐ

แต่อย่างไรก็ตามด้วยมูลค่าของ Bitcoin ในปัจจุบันเทียบกับปริมาณเงินเยนในปัจจุบัน Bitcoin จะยังไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะกระทบกับเยนได้หรอกครับ แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ และปัญหาสำคัญหลังการ legalize Bitcoin ก็เป็นเรื่องของผู้รับ Bitcoin ต่างหากว่าจะมีร้านค้ามากน้อยแค่ไหนที่จะเปิดกว้างรับเงินดิจิตอลนี้จริงจัง

ปิดท้ายด้วยความเห็นส่วนตัวของผม นั่นก็คือไม่ว่า cryptocurrency จะได้รับการ legalize จากรัฐบาลหรือไม่ สกุลเงินนี้จะยังคงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่อินเทอร์เนตยังมีอยู่บนโลก (มันอาจจะไม่ใช่ Bitcoin ก็ได้ในอนาคต) และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง cryptocurrency จะกลายเป็นที่พึ่งเล็กๆ ของประชาชนเมื่อรัฐบาลล้มเหลว หรือประสบกับภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ (แบบที่กำลังจะเกิดกับเวเนซุเอล่าในปัจจุบัน) รัฐบาลจะไม่สามารถควบคุมสกุลเงินดิจิตอลเหมือนที่เคยทำกับทองคำหรือโลหะมีค่าอื่นๆ ได้

และประวัติศาสตร์ทางการเงินของโลกก็จะเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อถึงเวลานั้น

PS. ปิดท้ายด้วยคำถามที่ผมอยากฝากให้ไปคิดกันเล่นๆ ถ้าโลกเรามี Cryptocurrency ที่เจ๋งๆ แบบ Bitcoin ออกมาให้คนใช้กันอีกซัก 1,000 ยี่ห้อ ทุกยี่ห้อมีจำนวนจำกัดหมดเลย เราเคยบอกว่าของที่มีจำนวนจำกัดจะมีค่า และเอามาใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้ ดังนั้นเมื่อโลกเราเต็มไปด้วย Cryptocurrency คำพูดที่บอกว่า “Cryptocurrency มันจำกัดจำนวนได้ และไม่มีวันเฟ้อ” จะยังคงเป็นจริงหรือไม่ และ Cryptocurrency ตัวไหนใน 1,000 ตัวนี้ ที่จะได้รับการยอมรับ สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันวนกลับมาที่ Trust หรือ Confidence จริงหรือไม่..? อันนี้ผมไม่มีคำตอบให้ ลองไปพิจารณากันดูนะครับ

The Crypto Bubble: Has It Really Burst?

July 2017

ทำไม Bitcoin ถึงน่าเชื่อถือ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน..?

Bitcoin มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกับทองคำ คือผลิตได้จำนวนจำกัด มีต้นทุนในการผลิตค่อนข้างสูง ปลอมแปลงไม่ได้เลย (อันนี้ดีกว่าทอง) และยังสามารถแบ่งย่อยเป็นหน่วยเล็กๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายได้ (อันนี้ Bitcoin ก็ดีกว่าทองที่เป็น physical จะแบ่งย่อยเกินไปก็จะเหลือขนาดแค่ทองคำเปลว ปลิวหายไปได้)

แต่เพียงคุณสมบัติดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเชื่อถือใน Bitcoin หรอกครับ หัวใจสำคัญของสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน รวมถึงสินทรัพย์ทุกประเภทในโลกใบนี้ จะมีคุณค่าและมี demand ได้ นั่นคือ คนจะต้องให้ความเชื่อถือ หรือ เรากำลังพูดถึงเรื่อง trust และ confidence นั่นเอง

ในที่นี้ Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิตอลที่ได้รับความเชื่อถือสูงที่สุดในยุคปัจจุบัน ถ้าลองเทียบกับราคา ETH ซึ่งเป็นอีกสกุลที่กำลังมาแรง เราจะเห็นได้ว่า ความผันผวนของ Bitcoin ที่ผ่านมาถือว่าเบามาก เมื่อเทียบกับ ETH ซึ่งความผันผวนนี้เองที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงความเชื่อถือของคนที่มีต่อสินทรัพย์นั้นๆ (ดูตัวอย่างพวกหุ้นปั่น กับหุ้นบลูชิพได้)

ภาพที่ 28 - กราฟ ETH/USD เทียบ BTC/USD ใครว่า Bitcoin เหวี่ยงแล้ว เจอ Ethereum ไป Bitcoin จืดไปเลยแหล่งข้อมูล: https://www.investing.com/

Bitcoin ในอดีตก็เหวี่ยงเหมือนๆ กับที่ ETH เหวี่ยงช่วงนี้แหละครับ ปรับฐานทีนึง 30%-40% เป็นเรื่องธรรมดาๆ เลย ด้วยเหตุผลที่ผมเคยเล่าไปแล้วว่ามีสถานการณ์กักตุน (hoarding) จนทำให้ Bitcoin เกิดสภาวะ Hyperdeflation แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัว Bitcoin เองเริ่มกระจายไปสู่คนหมู่มาก สภาวะการเหวี่ยงอย่างรุนแรงก็ลดลงไปหน่อย (แต่ก็ยังเยอะอยู่นะ ถ้าเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ แต่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดิจิตอลด้วยกันเอง)

ลองคิดตามนะครับ เมื่อ trust เพิ่ม ราคาก็จะไม่ร่วงหนัก เพราะมีคนมา Bid รับเรื่อยๆ แต่ถ้า trust หายคือไม่มี Bid ราคาก็ลง floor ได้แบบง่ายๆ เลย

Trust vs Scarcity

สรุปการที่สกุลเงินใดสกุลเงินหนึ่ง หรือสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งจะมีค่า และมีคนต้องการ มันจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง นั่นคือ จะต้องมีจำนวนจำกัด (limit supply หรือเรียกอีกมุมว่า scarcity) และได้รับความเชื่อถือจากคนหมู่มาก (trust)

เรามาไล่ดูตัวอย่างของ trust กับ scarcity กัน เพื่อจะได้มองเห็นภาพความสัมพันธ์ของคุณสมบัติสองอย่างนี้ของสินทรัพย์

  • ทองคำในอดีต มีทั้ง scarcity และ trust
  • ตัว Bitcoin เองก็มี scarcity จากสถาปัตยกรรม Blockchain ที่ควบคุมจำนวน Bitcoin ไว้ไม่ให้เกิน 21 ล้านเหรียญ ส่วน trust ค่อยๆ เพิ่มขึ้นแบบช้าๆ (อย่าคิดว่า Bitcoin มีคน trust เยอะนะครับ เพราะเอาเข้าจริงปัจจุบันคนส่วนใหญ่มาเล่น Bitcoin จากความโลภ (greed) ไม่ใช่ความเชื่อมั่น (trust) คนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้เข้าใจ Bitcoin จริงพร้อมวิ่งหนีถ้าฟองสบู่แตก)
  • หุ้นบลูชิพอย่าง AOT หรือ PTT มีทั้ง scarcity และ trust
  • แต่เราลองคิดว่าถ้าจู่ๆ scarcity ของหุ้นเหล่านี้หมดไป เช่น วันดีคืนดีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง AOT ทำการเพิ่มทุนสิบเท่าจนหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 14,000 ล้านหุ้นกลายเป็น 140,000 ล้านหุ้น เมื่อนั้น scarcity ของ AOT ก็จะสูญสลายหายไปทันที และราคาหุ้นก็จะ dilute ลงตามจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นมานั่นแหละ (กรณีนี้มีให้เห็นบ่อยๆ ในกลุ่มหุ้นปั่น)
  • รูปภาพของ Van Gogh ในช่วงที่เค้ายังมีชีวิตนั้นมี scarcity แต่ก็ขายไม่ได้ราคา ไม่มีใครยอมซื้อเพราะขาด trust
  • แต่หลังจาก Van Gogh ตาย ยุคหลังรูปภาพของเค้ามี scarcity และก็มี trust ด้วย ราคาเลยพุ่งทะลุหลายร้อยล้านดอลล่าร์ (ปรับตามเงินเฟ้อ)
  • ส่วนเงินดอลล่าร์ก่อนล้ม bretton woods ก็มีทั้ง scarcity (จากการอิงกับทองคำในอัตรา 35 เหรียญแลกทองคำได้หนึ่งออนซ์) และ trust จากการเป็นชาติมหาอำนาจที่ขยายการค้าไปทั่วโลก
  • ส่วนเงินดอลล่าร์ยุคนี้ เริ่มมีปัญหาคือไม่ scarcity แล้ว (เพราะ QE หนัก แต่คนส่วนใหญ่ไม่รับรู้) แต่ trust ยังคงอยู่ (จากการเป็นตำรวจโลก) แม้จะมีแนวโน้ม trust ที่ค่อยๆ สูญเสียไปทีละนิดแต่ก็ยังถือว่าแข็งแกร่ง
ภาพที่ 29 - ภาพประกอบคือภาพ The Red Vineyard เป็นภาพเพียงภาพเดียวที่ Van Gogh ขายได้ในช่วงชีวิตของเขาด้วยมูลค่าเพียง 400 ฟรังซ์ในปี 1890แหล่งข้อมูล: https://www.wikipedia.org/

ผมเคยเล่าให้ฟังว่าในยุคสมัยที่โรมันเรืองอำนาจ ทองคำถูกใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน และเหรียญทองคำของโรมันถูกนำไปใช้แพร่หลายถึงประเทศอินเดีย

คนอินเดีย trust เหรียญทองคำจากโรมันมาก จนไม่ยอมใช้ทองคำของประเทศตัวเอง (ทั้งๆ ที่มันก็ทองเหมือนกัน) trust มากถึงขนาดไปทำเหรียญทองคำโรมันของปลอมออกมา คือใช้ทองคำจริง แต่ไปปั้มรูปกษัตริย์โรมันลงในเหรียญทองคำของอินเดีย เพื่ออยากให้คนเชื่อถือ..

  • ตัวทองคำเอง มี scarcity
  • แต่เหรียญทองคำโรมัน กลับมี trust มากกว่าทองคำทั่วไป
  • คนอินเดียจึงให้ value เหรียญทองคำโรมัน มากกว่าทองคำอินเดีย

scarcity ก่อให้เกิด trust และ trust ก่อให้เกิด value

ถ้า scarcity หาย โดยมาก trust จะหายตาม แต่ก็มีบางกรณีเช่นดอลล่าร์ ที่ scarcity หายแต่กลับยังเหลือ trust อีกเยอะ value จึงยังคงอยู่

แต่ตรงข้ามกันถ้า trust หาย อันนี้ value จะหายตามแน่นอน แม้ scarcity จะยังคงอยู่ก็ตาม

ผมเกริ่นมาถึงจุดนี้คิดว่าผู้อ่านน่าจะเริ่มมองเห็นภาพความสัมพันธ์ของ scarcity, trust และ value มากขึ้นนะครับ

กลับมาเรื่อง CryptoBubble กันต่อ

สกุลเงินดิจิตอลตอนนี้มีจำนวนเยอะมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, Zcash, Dash, Ripple, ฯลฯ ผมอยากเอาตารางนี้มาให้ทุกท่านดู คือเทียบจำนวนสกุลเงินดิจิตอลตามขนาด Market cap 10 อันดับแรก จะเห็นได้ว่า Bitcoin และ Ethereum ครองอันดับ 1 และ 2 ทิ้งห่างสกุลเงินอื่นๆ แบบไม่เห็นฝุ่น

ตอนนี้มีสกุลเงินดิจิตอลร่วมๆ พันสกุลเงินที่มีการเทรดกันในตัวกลางการแลกเปลี่ยน (exchange) และมีสกุลเงินดิจิตอลเกิดใหม่โดยเฉลี่ย “วันละ 1 สกุลเงิน” โดยประมาณ..!!

คุณพอมองเห็นปัญหาอะไรจากการเกิดของสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้บ้างไหมครับ..?

Bitcoin สองพันเหรียญเหรอ แพงจัง ชั้นไปขุด Siacoin ดีกว่า

Ethereum แพงจัง ชั้นไปขุด Dogecoin ดีกว่า

เสร็จแล้วเอาสกุลเงินดิจิตอลเหล่านั้นที่ขุดง่ายกว่า ไปแลกเป็น Bitcoin ภายหลังได้ด้วย..!!

ผมจะเล่าให้ฟังแบบสรุปว่า ก่อนสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้จะถูกเข้ามาเทรดในตลาดกลางได้ มันมีหน่วยงานส่วนกลางของ exchange ที่จะคัดเลือกและอนุมัติให้สกุลเงินดิจิตอลพวกนี้ให้เข้าทำการซื้อขาย อันนี้ก็จะช่วยกรองสกุลเงินลวงโลก หรือสกุลเงินขยะออกไปได้ระดับหนึ่ง แต่ถามจริงๆ ว่าปัญหาหลังจากนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น..??

ใช่ครับ.. “scarcity” ซึ่งเป็นจุดขายหลัก และเป็นเหตุผลสูงสุดข้อหนึ่งของการสร้างสกุลเงินดิจิตอลในยุคนี้จะค่อยๆ หายไป..!!

การเพิ่มสกุลเงินดิจิตอลเข้ามาในระบบเรื่อยๆ แม้ทุกสกุลเงินจะมี scarcity แต่เมื่อจำนวนสกุลเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน มันก็ไม่ต่างจาก หุ้นบลูชิพที่ดันทะลึ่งเพิ่มทุนทุกวัน หรือดอลล่าร์ ยูโร หรือเยน QE ทุกวันนั่นแหละ

ณ วันนี้เราแทบจะพูดได้เต็มปากว่า สกุลเงินดิจิตอลสูญเสียคุณสมบัติของ scarcity ไปเรียบร้อยแล้ว

ผมยกประโยคข้างบนมาซ้ำตรงนี้อีกที..

  • scarcity ก่อให้เกิด trust และ trust ก่อให้เกิด value
  • ถ้า scarcity หาย โดยมาก trust จะหายตาม แต่ก็มีบางกรณีเช่นดอลล่าร์ ที่ scarcity หายแต่กลับยังเหลือ trust อีกเยอะ value จึงยังคงอยู่
  • แต่ตรงข้ามกันถ้า trust หาย อันนี้ value จะหายตามแน่นอน แม้ scarcity จะยังคงอยู่ก็ตาม

เราเรียนรู้ข้อเท็จจริงกันว่า scarcity ของเงินดิจิตอลหมดไปแล้ว แต่ผมเองก็ไม่รู้ว่า trust ของสกุลเงินดิจิตอลจะหายไปเมื่อไหร่..? ซึ่งตามหลักแล้ว เมื่อคนฉลาดเริ่มหนีเอาตัวรอด เมื่อคนโลภลืมตาตื่น เมื่อนั้นจุดจบของฟองสบู่สกุลเงินดิจิตอลคงจะมาถึง อาจจะเป็นวันพรุ่งนี้ อาจจะเป็นปีหน้า หรืออาจจะเป็นอีกสิบปีข้างหน้า สุดวิสัยที่ผมจะบอกอนาคตได้

แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง ฟองสบู่ระบบเศรษฐกิจอีกฟองหนึ่งที่เรียกว่า CryptoBubble ก็จะแตกออก จะมีคนจำนวนมากหมดตัวจากวิกฤติรอบนี้ แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อในเรื่องของ creative destruction นะครับ

ฟื้นกลับอย่างแข็งแรง

ในทุกๆ วงจรเศรษฐกิจจะมีภาวะเกิดใหม่และแตกสลาย สลับกันไปเรื่อยเสมอ เมื่อสินทรัพย์มีมูลค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อคนโลภเพิ่มมากขึ้นจนคนฉลาดสบโอกาสที่จะทำกำไรครั้งใหญ่ เมื่อนั้นปลาฉลาดก็จะกินปลาโลภเสมอ

แต่ทุกๆ จุดสิ้นสุดของฟองสบู่ การฟื้นคืนใหม่ของวงจรเศรษฐกิจก็จะเริ่มต้นขึ้น ใครเรียน Elliott wave มา หลัง wave C มันก็จะตามมาด้วย wave 1

ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจะขับไล่คนโลภให้ออกจากตลาดไป รวมถึงขับไล่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ออกจากตลาดไปด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ The Great Depression ของสหรัฐอเมริกา มาถึงฟองสบู่ดอทคอม วิกฤติต้มยำกุ้ง ฟองสบู่ซับไพร์ม

สมมติฐานของผมหลังการเกิดวิกฤติฟองสบู่ CryptoBubble ก็คือ สกุลเงินดิจิตอลที่มี trust ไม่มากพอ จะหายไปจากตลาด คือ ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ และจะด้อยค่าจนไม่มีใครสนใจอยากได้ (สถานการณ์จะคล้ายกับภาพของ Van Gogh ช่วงที่เค้ายังมีชีวิต คือแม้จะมี scarcity แต่จะไม่ได้รับ trust ที่มากเพียงพอ) เพราะมันดันมีหลายยี่ห้อให้เลือกจนเกินไป เมื่อสกุลเงินพวกนี้หายไปจากตลาด supply ของเงินดิจิตอลก็จะเริ่มลดลง และหลังจากนั้น trust ของเงินดิจิตอลก็จะเริ่มกลับคืนมา

และสกุลเงินดิจิตอลที่มี trust มากที่สุด ณ​ ช่วงเวลานั้น ก็จะกลับสู่วงจรการเติบโตได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นต่อไป (ซึ่งผมเดาว่ามันคงจะเป็น Bitcoin) คล้ายๆ กับหุ้นพื้นฐานดีหลังวิกฤติซับไพร์ม ที่ราคาเติบโตเป็นสิบเด้งในยุคนี้

สรุปปิดท้าย

ย้ำกันอีกทีปิดท้ายว่า ผมคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิด CryptoBubble เกิดขึ้นจากการเกิดแบบไม่จำกัดของสกุลเงินดิจิตอลใหม่ๆ แต่คำถามที่ว่าฟองสบู่มันจะแตกเมื่อไหร่ อันนี้ผมตอบไม่ได้ คำถามที่ว่าราคาเงินดิจิตอลที่ร่วงหนักช่วงนี้คือฟองสบู่แตกหรือเปล่า ถ้าในทรรศนะส่วนตัวผมยังคิดว่า “ไม่ใช่” ตอนนี้

แต่ถ้าถามว่าทำไมตอนนี้ราคาเงินดิจิตอลถึงร่วงรุนแรงขนาดนี้ ลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นเจ้ามือมี ETH หรือ BTC ในมือจำนวนมาก เห็นคนแห่ไป Commart เพื่อซื้อการ์ดจอจนขาดตลาดกันไปทั้งโลก แน่นอนว่าจะต้องมีเหล่าเจ้ามือกลุ่มหนึ่งที่จะ “take profit” จากโอกาสแห่งความบ้าคลั่งนี้ เทขายเงินดิจิตอลออกมาเพื่อ “เล่นรอบ” (ผมยังแอบขายมาหน่อยนึงเลย)

นอกจากนั้นมันยังมีความกลัวในข่าวที่ทีมงาน Bitcoin แจ้งเตือนว่าจะมีการปรับสถาปัตยกรรม Blockchain ของ Bitcoin ให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาษาเทคนิคเค้าเรียกกันว่า ​SegWit (Segregated Witness Adoption) ในช่วงเดือนสิงหา ยิ่งทำให้มีคนที่ไม่มั่นใจกลัว Bitcoin ที่ตัวเองมีสูญหาย ก็แห่ขายกันมารอบหนึ่งก่อน ยิ่งทำให้ราคาร่วงหนักเข้าไปใหญ่

ในทางเทคนิคผมมองว่ามันเป็นจุดปรับฐานของ wave 4 เพื่อเตรียมเข้าสู่ wave 5 ที่เป็น wave แห่งความบ้าคลั่งกันต่อไป แต่ช่วงปรับฐานนี้อาจจะยาวนานในระดับหลายเดือนถึงหลักปีก็เป็นได้ ความเชื่อมั่นในความคิดนี้ 60-70% นะครับ ใช้วิจารณญาณในการเชื่อผมด้วยนะ

เมื่อไหร่ฟองสบู่จะแตก อันนี้ผมไม่รู้ แต่หลังฟองสบู่แตกผมคิดว่าด้วยคุณสมบัติที่แข็งแกร่งของสกุลเงินดิจิตอล สกุลเงินดิจิตอลที่ได้รับ trust มากๆ อย่าง Bitcoin, Ethereum, Ripple น่าจะยังคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป หรืออาจจะมีสกุลเงินใหม่ที่สร้าง trust ได้ดีกว่าสกุลเงินเหล่านี้เกิดขึ้นมาใหม่ก็เป็นได้

เมื่อถึงยุคนั้นความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้จะเริ่มลดลง และได้รับความเชื่อถือมากขึ้นจนอาจจะมาแทนที่สกุลเงินของรัฐบาลได้บ้าง

อัพเดท 2024

ของแถม: Correlation doesn’t imply Causation

ผมขอปิดท้ายนอกเรื่องด้วยประเด็นทางวิชาการนิดหน่อย เพราะผมคิดว่ามันเป็นภาพลวงตา (hallucination) ที่ทำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจเยอะเลย นั่นคือเรื่องของ “correlation doesn’t imply causation” ไม่รู้จะอธิบายภาษาไทยว่ายังไง ขอลองอธิบายแบบนี้นะครับ

มีคนจำนวนมากเชื่อว่า “ถ้าคุณพิมพ์เงินมาก สุดท้าย เงินจะต้องเฟ้อ” นั่นคือเค้าเชื่อว่า QE เป็นต้นเหตุ (causal) ของอภิมหาเงินเฟ้อ (hyperinflation) ซึ่งมันพิสูจน์มาแล้วว่าไม่จริงหลัง QE ดอลล่าร์ก็ยังอยู่สุขสบายดี

การเพิ่มปริมาณเงิน ไม่ใช่ต้นเหตุ ของอภิมหาเงินเฟ้อ มันเพียงมีความสัมพันธ์ (correlate) กับอภิมหาเงินเฟ้อในบางช่วงเวลา และบางสถานที่เท่านั้น (ซิมบับเว, ไวมาร์, ยูโกสลาเวีย)

แต่ต้นเหตุของอภิมหาเงินเฟ้อที่จริงแล้วคือ การสูญเสียความเชื่อมั่นของรัฐบาล (collapse in confidence of government) หรือ lack of trust ต่างหาก (เวียดนาม, เวเนซูเอล่า เงินเฟ้อหนักไม่ได้เพราะการเพิ่ม money supply แต่เป็นเพราะ lack of trust)

และ unlimited money supply มันเป็นเพียง cause หนึ่งที่ทำลาย trust ของรัฐบาล ประเทศซิมบับเวเพิ่ม money supply ทำให้ trust รัฐบาลหมดลง ก็เกิดอภิมหาเงินเฟ้อตามมา

สหรัฐทำเหมือนซิมบับเวเป๊ะ แต่ trust ยังอยู่ (ด้วยหลายเหตุผล) จึงไม่เกิดอภิมหาเงินเฟ้ออย่างที่หลายๆ คนแช่งไว้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ บางคนบอกเงินบาทแข็ง หุ้นจะขึ้น คือ เค้าอาจจะเคยสังเกตว่าค่าเงินบาทมัน correlate กับกราฟ SET

แต่ความจริงแล้ว correlation ≠ causation คือ เวลาเงินฝรั่งไหลเข้าไทย ถ้าเค้าเอามาซื้อหุ้น นั่นคือหุ้นไทยขึ้น แต่ถ้าเค้าเอาเงินเข้าไทย แต่ไม่ได้ซื้อหุ้นล่ะ..? ถ้าเค้าเอาเงินไปซื้อพันธบัตรแบบช่วงต้นปีที่ผ่านมาคือฝรั่งซื้อพันธบัตรไทยไปร่วมๆ แสนล้าน ก็จะเจอสถานการณ์เงินบาทแข็ง แต่หุ้นไม่ขึ้น

เพราะ cause จริงๆ ของการที่หุ้นไทยขึ้นคือ “ฝรั่งซื้อหุ้นไทย” ไม่ใช่ “เงินบาทแข็ง” แต่พอฝรั่งซื้อหุ้นไทยแล้ว เงินบาทมันจะแข็ง และหุ้นมันจะขึ้นต่างหาก

The Age of Robots: Is Marxism Making a Comeback?

August 2017

คาร์ล มาร์กซ์ ถือเป็นนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 18 และหากมองกันในรายละเอียดของแนวคิดทางกลไกเศรษฐศาสตร์แล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า สำนักมาร์กซิสดูเหมาะควรกับการจะเป็นผู้สืบทอดที่แท้จริงของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกที่มีอดัม สมิธเป็นต้นแบบมากกว่าสำนักนีโอคลาสสิกเสียอีก

ภาพที่ 32 - คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สำนักมาร์กซิส

ในมุมมองของคาร์ล มาร์กซ์ วิวัฒนาการของสังคมมีลำดับขั้นจาก คอมมิวนิสต์ดั้งเดิม (สังคมแบบชนเผ่า) ไปสู่สังคมทาส (ชนชั้นปกครองเป็นใหญ่) ไปสู่สังคมศักดินา (ชนชั้นแรงงานเริ่มมีสิทธิมีเสียง) ไปสู่สังคมทุนนิยม (ปลดแอกชนชั้นแรงงาน) และไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์ (ทุกคนเท่าเทียม/ไร้รัฐ) ในท้ายที่สุด

กรอบความคิดของมาร์กซ์บอกว่า ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมเสมอ (เช่น การเลิกทาส คือเปลี่ยนผ่านจากสังคมทาสไปสู่สังคมศักดินา)

นั่นหมายถึงทุนนิยมเป็นเพียงแค่สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมอุดมคติอย่างคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์ (ซึ่งตัวจุดชนวนจะมาจากการลุกฮือของชนชั้นแรงงาน และความขัดแย้งกันเองของชนชั้นนายทุน)

ในช่วงสงครามเย็นเราเข้าใจกันว่าคอมมิวนิสต์ล่มสลายและแนวคิดของมาร์กซ์ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทุนนิยมปรับตัวและอยู่รอดมาได้จนถึงยุคปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่..?

หรือสำนักมาร์กซิสต์แค่มาเร็วเกินไป..??

มาร์กซ์อาจจะผิดในการประเมินความล้มเหลวของทุนนิยม และให้ค่ากับชนชั้นแรงงานสูงเกินศักยภาพที่แท้จริง (ที่มนุษย์ส่วนใหญ่เห็นแก่ตัวและขี้เกียจ ความเท่าเทียมและการกระจายการผลิตจึงไม่เกิดขึ้นจริง) แต่เอาเข้าจริงทุนนิยมก็อาจจะถึงจุดที่ล่มสลายได้จากเหตุผลอื่นๆ (เช่นการแทรงแซงของรัฐที่มากเกินไปและผิดที่ผิดทางแบบที่สำนักนีโอเคนส์กับนีโอคลาสสิกฝ่ายซ้ายอย่างพอล ครุกแมน สนับสนุน)

ภาพที่ 33 - ปัญหาสำคัญของทุนนิยมคือความแตกต่างระหว่างชนชั้น ซึ่งทุกวันนี้ยังคงอยู่และมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของสำนักมาร์กซ์ในมุมมองของผมคือการเริ่มเป็นสำนักแรกๆ ที่เอาความสำคัญของ “เทคโนโลยี” ที่มีต่อการพัฒนาตลาดทุน เพียงแต่ในยุคของมาร์กซ์ ยังไม่มีใครจินตนาการได้ว่าเทคโนโลยีจะมีพัฒนาที่ก้าวกระโดดมาถึงในระดับที่จะทดแทน “ชนชั้นแรงงาน” ได้แบบในปัจจุบัน

ถ้าสมมติฐานของผมที่บอกว่ามาร์กซ์แค่มาเร็วเกินไปเป็นจริง ถ้าทุนนิยมกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าทฤษฏีที่มาร์กซ์เชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านทุกครั้งในประวัติศาสตร์จะเกิดจากการลุกฮือของชนชั้นแรงงาน สิ่งนั้นก็ใกล้จะเกิดเต็มที่แล้ว

สมมติฐานของผมคือ social unrest ที่เกิดจากการล่มสลายของรัฐสวัสดิการ ซึ่งมีต้นตอจากภาระหนี้และวิกฤติพันธบัตร ทำให้รัฐไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อีกต่อไป (ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประกันสังคมของรัฐจะช่วยเหลือประชาชนได้อีกเพียงแค่ประมาณ 10-20 ปี)

ถ้าสนใจลองอ่านวิกฤติประกันสังคมที่ผมเคยเขียนได้ใน “เมื่อเทคโนโลยีจะทำลายล้างมนุษย์ (ตอนที่ 1) Rise of the Robot”

การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่สังคมใหม่ ที่อาจจะเรียกกันว่า “หลังทุนนิยม (post-capitalism)” หรือผมขอวิสาสะเรียกว่าสำนัก “มาร์กซิสใหม่ (neo-marxism – ซึ่งนิยามของมาร์กซิสใหม่ของผมแตกต่างจากนิยามสำนักมาร์กซิสใหม่ที่มีนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่อย่าง Paul Baran หรือ Paul Sweezy เป็นต้นตำรับอยู่)” ซึ่งสังคมใหม่ที่ผมตั้งสมมติฐานไว้ มันคล้ายกับมาร์กซิสสายคลาสสิก ก็คือ “การผลิตคือหัวใจเศรษฐศาสตร์” แต่สังคมใหม่นี้จะมีความแตกต่างไปจากมาร์กซ์ดั้งเดิมตรงที่ ปัจจัยแรงงานที่เป็นหัวใจการผลิตนั้นไม่ได้มาจากมนุษย์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นจักรกลและหุ่นยนต์อัตโนมัติ

ดังนั้น “การผลิตจะไม่ใช่รากฐานของระเบียบสังคม” ในมุมของมาร์กซ์อีกต่อไป (เว้นแต่เราจะนิยาม คำจำกัดความของสังคมใหม่ โดยนับรวมหุ่นยนต์เข้าไปเป็นชนชั้นหนึ่งของสังคมด้วย) มนุษย์จะเป็นเพียงแค่ผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้สังคมอุดมคติอย่างคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์เกิดขึ้นได้จริง นั่นคือ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปมากเพียงพอ ปัจจัยการผลิตแทบจะทั้งหมดจะเกิดจากระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะแก้จุดอ่อนสำคัญของมาร์กซ์ คือ “ถอดมนุษย์ออกจากสมการการผลิต”

ภาพที่ 34 - โรงงานอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ในการผลิตของบริษัทเทสล่ามอร์เตอร์ มีความเป็นไปได้ว่าอนาคตโครงสร้างการผลิตอาจจะไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เลย

คนสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ เมื่อเป็นเช่นนั้น รัฐจึงอาจลดบทบาทลงถึงในระดับ “ไร้รัฐ” ทุกคนมีความเท่าเทียม ไม่มีการกดขี่ขนชั้นแรงงานแบบยุคทุนนิยมที่มาร์กซ์กลัว เพราะมนุษย์จะเลิกกดขี่กันเองหันไปกดขี่เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทน

แต่สิ่งที่น่ากลัวที่มาร์กซ์ “เชื่อ” อาจจะยังคงอยู่..

“ตลอดประวัติศาสตร์มนุษย์การต่อสู้ของชนชั้นแรงงานจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมเสมอ”

ถ้าสิ่งที่มาร์กซ์คิดเป็นจริง ยุคถัดไปจาก “หลังทุนนิยม” อาจจะเป็นยุคที่ชนชั้นหุ่นยนต์ที่ถูกกดขี่ ปลดแอกตัวเองจากมนุษย์และสร้างสังคมใหม่ก็เป็นได้ (ด้วยพัฒนาการของ AI ในยุคอนาคตอันใกล้นี้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย)

แต่เอาเถอะ ผมคงไม่ได้มีชีวิตอยู่ถึงช่วงเวลานั้นหรอก ปล่อยให้รุ่นลูกหลานของพวกเราเป็นคนแก้ปัญหาก็แล้วกัน

อัพเดท 2024

หลังความล้มเหลวของการผลิตโดยใช้หุ่นยนต์ของ Tesla ทางอีลอน มัสก์ย้อนกลับมาใช้มนุษย์เป็นแรงงานผลิตแทนระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยให้ความเห็นว่า กลไกทาง mechanic ของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันยังมีความสามารถไม่มากพอที่จะผลิตสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนได้ แต่แม้ว่าพัฒนาการของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะช้ากว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ทิศทางการพัฒนายังคงเดินหน้าไปในทิศทางบวก

Cashless Society: A Conspiracy Theory Perspective

April 2017

พอดีได้อ่านบทความ ยุคของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ของคุณปูเป้ เลยรู้สึกอยากเขียนบทความเกี่ยวกับ Cashless society ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์มหภาคบ้าง ยังไงอ่านบทความนี้โดยใช้วิจารณญาณนะครับ หลายอย่างเป็นความคิดเห็นเฉพาะบุคคล

เมื่อปีที่แล้วมีข่าวแปลกๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศนโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพื่อหวังกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ เพื่อคาดหวังให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น เมื่อการลงทุนภาคเอกชนสูงขึ้น ประชาชนก็จะเริ่มมีรายได้มากขึ้น คนใช้จ่ายเงิน เพิ่มการบริโภค เมื่อเกิดการหมุนเวียนของเงิน เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นตามหลักทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่เคยเข้าใจกันในอดีต

ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ..?!?

ผมเคยเขียนเล่าให้ฟังไปแล้ว ว่าทำไมทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่เคยใช้กันมันถึงล้มเหลว ปีที่ผ่านมาก็สะท้อนความล้มเหลวของการลดดอกเบี้ยอีกครั้ง หลัง BOJ ลดดอกเบี้ย สิ่งที่ขายดีเพิ่มขึ้นแบบสุดๆ ในประเทศญี่ปุ่นก็คือตู้เซฟนิรภัย..!!

คนญี่ปุ่นซื้อตู้เซฟมาเพื่อถอนเงินจากธนาคารมาเก็บ (hoarding) ไว้ในตู้เซฟ แทนที่จะเอาไปใช้จ่าย เงินหายไปจากระบบไปอยู่ในตู้เซฟตามบ้าน การกักตุนเงินสดเร่งสภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่นให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

เอาล่ะครับ ไอ้แนวคิดที่ลดดอกเบี้ยหวังให้คนรีบใช้เงินหวังให้ธุรกิจรีบเร่งลงทุน ภาคประชาชนและภาคธุรกิจกลับกลัวอนาคตยิ่งขึ้น ถ้าคนแห่ถอนเงินมาเก็บใส่ตู้เซฟ ธนาคารกลางจะทำยังไงต่อไป..? ปัญหานี้เป็นแทบทุกประเทศพัฒนาแล้วนะครับ ลดดอกเบี้ย แต่คนไม่กล้าใช้จ่าย ธุรกิจไม่กล้าลงทุน เพราะไม่มั่นใจในอนาคต แต่ญี่ปุ่นนี่หนักที่สุดที่เห็นภาพได้ชัดเจน

วิธีแก้ของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ ก็คือ พยายามสร้าง Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดขึ้นมา..!!!

มันคือการแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน ธนาคารกลางไม่อยากให้คุณถอนเงินไปใส่ตุ่ม ก็ยกเลิกเงินสดซะ ให้คุณถอนไม่ได้ ประเทศสวีเดนเป็นประเทศแรกที่เริ่มดำเนินนโยบายการกำจัดเงินสดทิ้งไป Riksbank ธนาคารกลางของสวีเดน ให้ความเห็นว่าการใช้เงินสดในสวีเดนจะลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเงินอิเลคโทรนิคใน 20 ปีหลังจากนี้

ในปัจจุบันทั่วโลกมีปริมาณเงินสด ประมาณ 10% จากเงิน M2 อธิบายให้เข้าใจภาพง่ายๆ (แต่ไม่ครอบคลุมนัก) ว่า M2 คือเงินทั้งหมดที่เป็นเงินสดรวมกับเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งโลก

เป้าหมายของ Cashless Society ก็คือกำจัดไอ้เจ้า 10% นี้ทิ้งไป

ทำไมต้องกำจัด..? เรามาทวนความเข้าใจกันอีกซักนิด

ที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายประเทศ (ยกเว้นสหรัฐที่เพิ่งเริ่มกลับมาเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น) เชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือจะต้องสร้าง “ระบบเศรษฐกิจในสภาวะดอกเบี้ยติดลบ (negative interest rates economy)” ให้กับโลกในระยะยาว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเกิดการใช้จ่าย เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับมาได้ (ซึ่งในมุมมองผมเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ผิด)

แต่ถ้าดอกเบี้ยติดลบจริง คนจะไม่ยอมเสียเปรียบธนาคาร เราจะฝากธนาคารไปทำไมถ้าจะทำให้เงินต้นลดลง..?

ทางออกของคนก็คือ ถอนเงินมาเก็บใส่ตุ่มซะยังจะดีกว่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราเห็นกันอยู่แล้วว่าเงินสดจริงๆ ในโลกนี้มีแค่ 10% เมื่อเทียบกับปริมาณเงินฝาก ธนาคารที่ลดดอกเบี้ยจนเข้าขั้นติดลบ จะไม่จูงใจให้คนฝากเงินอีกต่อไป ธนาคารจะเกิดวิกฤติ Bank Run คือคนแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร จนเกินกว่าเงินสดที่ธนาคารมีสำรองอยู่จริง และสุดท้ายธนาคารก็จะอยู่ไม่ได้ และจะล้มละลายในที่สุด

ดังนั้น มีนักคิดหลายคนที่มองเรื่อง cashless society เป็นทฤษฏีสมคบคิดแบบหนึ่ง

พวกเขาเชื่อว่า นโยบายดอกเบี้ยติดลบ จะเกิดขึ้นจริงได้ ถ้าล้มระบบ “เงินสด” ในเศรษฐกิจโลกสำเร็จ เมื่อเงินทุกบาททุกสตางค์จะอยู่ในระบบอิเลคโทรนิค คุณจะไม่มีตุ่มให้ซ่อนเงินอีกต่อไป คุณจะไปต่อแถวถอนเงินออกจากธนาคารไม่ได้อีกต่อไป การเก็บภาษีด้วยการลดดอกเบี้ยติดลบ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น

รัฐคงหวังว่า เมื่อคุณเก็บเงินใส่ตุ่มไม่ได้ คุณจะเริ่มกลัวว่าเงินอิเลคโทรนิคของคุณจะลดค่าลงเรื่อยๆ คุณจะเหลือทางเลือกสุดท้ายคือ “รีบใช้เงินซะ ก่อนที่มันจะหมดค่า” เมื่อประชาชนเริ่มใช้เงิน เมื่อเอกชนเริ่มลงทุน สุดท้าย เศรษฐกิจก็จะฟื้น (ซึ่งย้ำอีกครั้งเป็นครั้งที่ร้อยว่า มันคือความเชื่อที่ผิด)

ไม่มีทางหรอกครับ ที่รัฐจะบังคับประชาชนได้!!

ถ้าเงินสดถูกยกเลิกจริงๆ ในอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนกลัวดอกเบี้ยติดลบ ก็คือ การโยกย้าย “เงิน” ไปเป็นสินทรัพย์อื่นๆ ที่จะช่วยคงอำนาจซื้อให้คุณได้ในระยะยาว ที่ดิน, ตลาดหุ้น, ทองคำ, (เว้นก็แต่พันธบัตรรัฐบาล เพราะมันก็จะติดลบตามดอกเบี้ย) สินทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นแหล่งพักเงินได้ก็จะเริ่มเฟ้อ และมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดฟองสบู่

ลองคิดกันดีๆ นะครับ ไอ้เจ้า negative interest rates economy นี่คือระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะคิด “ภาษีจากเวลา (tax on time)” ของคุณ ยิ่งเวลาผ่านไปนาน เงินคุณจะยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ มันเป็นกรรมสองชั้นจากภาวะเงินเฟ้อ คือในยุคข้างหน้า นอกจากของจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แล้วเงินเก็บของคุณจะค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ

ระยะยาวรัฐบาลพยายามรีดภาษีจากประชาชนมากขึ้นในทุกวิถีทางครับ

Income Tax หรือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (tax on income)” นั่นคือ เมื่อคุณมีรายได้ คุณจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้ที่คุณหามาได้ให้กับรัฐบาล เฉพาะคนที่มีรายได้เท่านั้นที่จะเสียภาษีตรงนี้

VAT ก็คือ “ภาษีจากการบริโภค (tax on consumption)” ทุกครั้งที่คุณควักกระเป๋าใช้จ่าย รัฐบาลจะดึงเงินส่วนนึงไปจากคุณ (VAT นี้โหดกว่าภาษีบุคคลธรรมดาอีก เพราะมันเก็บกับทุกคนที่มีรายจ่าย โดยไม่สนใจว่าเค้าจะมีรายได้หรือไม่ เด็ก 5 ขวบซื้อไอติมก็ไม่เว้น)

QE ก็คือ “ภาษีจากการมีเงิน (tax on money)” ใครก็ตามที่มีเงินในกระเป๋า เงินของคุณจะเจือจางลงจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณจะบริโภคหรือไม่ มีงานทำหรือไม่ (อันนี้โหดกว่า VAT เพราะ แม้แต่เด็ก 5 ขวบที่มีเงินในกระเป๋า แม้ไม่ซื้อไอติม เก็บเงินไว้เฉยๆ ก็จะโดนภาษีจาก QE)

และเมื่อคนยังไม่ยอมไม่ใช้เงิน Negative interest rates จึงเกิดขึ้น ซึ่งมันก็คือ “ภาษีจากเวลา (tax on time)” ใครก็ตามที่ถือเงินไว้นานๆ เงินคุณจะลดลงจากดอกเบี้ยที่ติดลบ (อันนี้โหดกว่า QE เพราะนอกจากมูลค่าของเงินจะจะเจือจางลงจาก QE แล้ว จำนวนเงินก็ยังลดลงจากอัตราดอกเบี้ยติดลบอีกด้วย)

นี่คือหนทางที่ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเดินไปหลังจากนี้ รัฐบาลประเทศมหาอำนาจยังคงพิมพ์เงินปริมาณมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก, เริ่มเก็บภาษีจากการเก็บเงินของคุณ, บีบบังคับห้ามไม่ให้คุณเก็บเงินไว้ที่อื่นที่รัฐควบคุมไม่ได้ (ในตุ่ม)

เมื่อประชาชนไม่เชื่อฟัง โยกเงินไปซื้อทองคำ โยกไปซื้อหุ้น โยกเงินไปซื้อที่ดิน รัฐบาลก็จะตามไล่ล่าคุณอย่างไม่ลดละ

ในอนาคตอาจจะมีการออกกฏห้ามอีกหลายอย่างเช่น ห้ามการถือครองทองคำ (อย่าขำไปนะครับ ปี 1933 รัฐบาลสหรัฐในยุคประธานาธิปดีรูสเวลท์ เคยออกกฏหมายห้ามการถือครองทองคำมาแล้ว), แร่เงิน, ขูดรีดภาษีเพิ่มขึ้นจากที่ดิน (ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีข้อเสียสำคัญคือ มันเคลื่อนที่ไม่ได้ อยู่ตรงนั้นให้รัฐรีดภาษีได้อย่างง่ายดาย)

อนาคตที่เรากำลังจะต้องเจอครับ สภาวะเงินฝืดขั้นรุนแรงจากความกลัวของคน แต่มีการบวมพองของสินทรัพย์บางประเภทจากการโยกย้าย “เงิน” ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ทองคำ และอสังหาริมทรัพย์ ตามด้วยการถูกตามล่าเงินของประชาชนจากรัฐบาลของพวกเค้าเอง

PS. นี่เป็นอีกเหตุผลที่ผมเชื่อว่า Bitcoin เป็นนวัตกรรมการเงินแบบ Cashless Society ที่ยอดเยี่ยม แต่สุดท้ายมันจะไม่รอดพ้นเงื้อมมือการไล่ล่าของรัฐบาลได้ (ยังไงก็ยังจะเชียร์นะ)

อนาคต Bitcoin สดใสจริงหรือ..?

April 2016

นับตั้งแต่ Mt.Gox โบรกเกอร์แลกเปลี่ยน Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในโลกล้มละลายในปี 2013 มาจนถึงวันนี้ ดูเหมือนอนาคตของ Bitcoin จะเริ่มสดใสขึ้นมาอีกครั้ง หลังเริ่มได้รับการยอมรับจากประเทศฝั่งยุโรปและญี่ปุ่น

จะบอกว่าช่วงแรกหลายปีก่อนที่เริ่มลองเป็น miners ผมเชื่อมั่นใน Bitcoin มากๆ (จริงๆ ตอนนี้ก็ยังเชื่ออยู่อะนะ) ผ่านช่วงที่ Bitcoin ราคาไม่ถึง $100 ไปจนถึงฟองสบู่ที่พุ่งไปถึง $1,100 ไปถึงฟองสบู่แตก Mt.Gox ล้มละลาย จนมาถึงตอนนี้ที่ Bitcoin กลับมายืนแถวๆ $400-$500

เราลองมาตั้งคำถามจริงจังว่า Bitcoin อนาคตจะเป็นยังไง..?

ความเชื่อส่วนตัวของผม ในระยะยาว รัฐบาลไม่มีเหตุผลที่จะปล่อยให้ Bitcoin ได้รับความนิยม เพราะเมื่อไหร่ที่คนเริ่มมีที่ยึดเหนี่ยวและเชื่อมั่นในสกุลเงินใหม่ ที่รัฐควบคุมไม่ได้ เมื่อนั้นวิกฤติความศรัทธาของสกุลเงินของรัฐจะเริ่มอยู่ในจุดที่อันตราย

Bitcoin ถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้..

มีเหตุผลใดที่รัฐบาลญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งพิมพ์เงินและก่อหนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จะปล่อยให้สกุลเงินใหม่มาเป็นหอกข้างแคร่

ผมยังคงเชียร์ Bitcoin แต่ถ้ามองตามความเป็นจริงแล้ว มุมมองส่วนตัวผมคิดว่าโอกาสที่ Bitcoin จะผงาดและได้รับการยอมรับในวงกว้างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

และด้วยปริมาณ Bitcoin ที่มีค่อนข้างจำกัด หาก Bitcoin ถูกใช้อย่างแพร่หลายแล้ว โอกาสที่จะเกิดปัญหา Hyperdeflation หรือการขาดแคลน Bitcoin อย่างรุนแรงก็อาจจะเกิดได้ (อย่าลืมว่า Bitcoin ปริมาณมหาศาลอยู่ในมือคนเพียงแค่ไม่กี่คน ซึ่งการกักตุน  (hoarding) ทำได้ง่ายมาก ทำให้โอกาสที่ Bitcoin จะผันผวนและพุ่งขึ้นอย่างแรงก็มีสูง) ซึ่งมันจะทำลายความน่าเชื่อถือของสกุลเงินนี้ได้ในพริบตา

เราต้องอย่าลืมว่าความน่าเชื่อถือมันไม่ได้อยู่ที่แค่การจำกัดจำนวน Bitcoin ไม่ให้พิมพ์เพิ่มได้เหมือน QE นะครับ มันยังมีเรื่องของสภาพคล่อง และเสถียรภาพของสกุลเงินด้วย ซึ่งในแง่มุมนี้ Bitcoin สอบไม่ผ่านด้วยประการทั้งปวง

อ้าว ถ้าเป็นแบบนั้นทำไมผมถึงยังเชื่อถือ Bitcoin..?

คืองี้ครับ แม้สมมติฐานเรื่องรัฐบาลจะต่อต้าน Bitcoin จะเป็นจริงขึ้นมา ผมก็เชื่อว่า Bitcoin ไม่มีวันถูกฆ่าตายได้ ด้วยสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อการมีชีวิตรอดได้อย่างแข็งแกร่ง ตราบใดที่รัฐปิดอินเทอร์เนตไม่ได้ Bitcoin ก็จะยังคงอยู่

แต่บทบาทของ Bitcoin คงไม่ใช่การเป็นสกุลเงินทดแทนดอลล่าห์ อย่างที่คนเชียร์ Bitcoin หลายๆ คนเชื่อมั่นกัน เพียงแต่มันน่าจะมีโอกาสเป็นสินทรัพย์ทางเลือก คล้ายๆ ทองคำ และถูกใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายในบางอุตสาหกรรม ที่รัฐไม่สามารถเข้าถึงและจัดการได้

ความขัดแย้งหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ทำให้อนาคตของ Bitcoin รวมถึง cryptocurrency อื่นๆ จึงน่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่งครับ

อัพเดท 2024

ราคา Bitcoin เพิ่มขึ้นจาก $500 ในปี 2016 มาที่มากกว่า $70,000 ในปี 2024 หรือเพิ่มขึ้น 13,900% ในช่วงหลังมานี้ มีหลายประเทศเริ่มเปิดรับ Bitcoin มากขึ้น มีการเปิดเทรด Bitcoin ETF ในตลาดสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังคงมีกฏหมายที่พยายามควบคุมธุรกรรมแบบ decentralized บนบล็อกเชนที่ตึงเครียด

การลดขนาดงบดุลของ FED คืออะไร..?

May 2017

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา FED ได้ทำ QE (พิมพ์เงิน) จำนวนมากเพื่อยื้อชีวิตเศรษฐกิจสหรัฐหลังวิกฤติ subprime เมื่อ FED พิมพ์เงินออกมานั้น แปลว่าทุกครั้งที่พิมพ์เงิน งบดุลของ FED ก็จะโตขึ้น (คิดภาพบริษัทนึงมีสินทรัพย์ 10 ล้านบาท ถ้าจู่ๆ บริษัทนั้นเสกเงินขึ้นมาได้อีก 20 ล้าน สินทรัพย์ของบริษัทนั้นก็จะเพิ่มเป็น 30 ล้าน)

แต่เงินที่พิมพ์ออกมานั้นแทบไม่ได้เข้าถึง real sector เลย

เงินส่วนหนึ่งที่พิมพ์ออกมา FED เอาไปซื้อพันธบัตรสหรัฐ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ FED เป็นเจ้าหนี้รัฐบาลสหรัฐ (นั่นคือเงินสดในงบดุลจะกลายเป็นพันธบัตรสหรัฐแทน)

เงินอีกส่วนเอาไปซื้อ MBS (mortgaged-backed securities) ซึ่งก็คือหนี้เน่าของแบงค์ตั้งแต่ยุค subprime ด้วยความหวังที่แบงค์จะเหลือสภาพคล่องที่จะไปปล่อยกู้ให้ระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้นการที่ Janet Yellen ออกมาบอกว่า จะลดงบดุลของ FED ลง ก็คือการที่ FED จะต้องขายทั้งพันธบัตรและ MBS ออกไป พอได้เงินสดกลับมาก็ดูดเงินสดออกจากงบดุลด้วยวิธีการของธนาคารกลาง เงินที่เคยเสกมาได้ในอากาศ ก็จะสูญสลายหายไปในอากาศ

ตอนนี้งบดุลของ FED มีขนาดใหญ่โตมหึมาถึง $4.48 ล้านล้าน แบ่งไปถือพันธบัตรสหรัฐ $2.5 ล้านล้าน และถือ MBS อยู่ $1.8 ล้านล้าน

งบดุลของ FED ในช่วงปี 2017 ก่อนเริ่มลดขนาดงบดุล

ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้า FED ต้องขายพันธบัตรสหรัฐกับ MBS ทิ้งไป (พูดภาษาชาวบ้าน คือโอนลูกหนี้ให้คนอื่น กรูไม่ขอเป็นเจ้าหนี้มึงแล้ว) ใครจะเป็นคนรับซื้อหนี้พวกนี้..?

แน่นอนว่ามีคนจำนวนมากยังเชื่อถือพันธบัตรสหรัฐว่าเป็น safe haven อยู่ แต่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จะทำให้ผู้ซื้อกดราคาพันธบัตรลงไปอีก

เช่น ถ้ามีเพื่อนจะโอนหนี้ให้คุณ 100 บาท โดยคุณจะได้รับดอกเบี้ย 2% ต่อปี แต่ถ้าคุณรู้ว่าเดือนหน้าดอกเบี้ยธนาคารจะเพิ่มเป็น 3% คุณเอาเงินให้เพื่อนหรือเอาเงินไปฝากธนาคาร ถ้าคุณจะรับโอนหนี้จากเพื่อนของคุณ คุณก็จะต้องกดราคาว่าคุณจะรับซื้อหนี้นี้ในราคาไม่เกิน 65 บาท (2/65 = 3% งงมั้ยครับ)

กลับมาเรื่องของ FED คือถ้า FED จะขายพันธบัตรทิ้งในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น FED ก็จะต้อง discount ราคาพันธบัตรมากเป็นพิเศษ เพื่อให้คนรับซื้อได้ผลตอบแทนสูงพอที่เค้าจะรับซื้อหนี้ต่อ

เมื่อเกิดสถานะการเทขายพันธบัตรจำนวนมากจาก FED ตามทฤษฏีแล้ว yield พันธบัตรจะเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาดที่ผมอธิบายให้ฟังในข้างต้น

แต่ FED คงไม่ได้ขายพันธบัตรทั้งหมด พันธบัตรบางส่วนก็จะหมดอายุตามกำหนดไปส่วนหนึ่ง FED ก็แค่ไม่ซื้อเพิ่ม งบดุลก็จะลดลงได้เองอย่างช้าๆ (แต่รัฐบาลจะหาเงินมาคืนได้มั้ย จะหาเงินมาคืนได้ก็อาจจะต้องออกพันธบัตรใหม่ให้คนอื่นมาซื้อ แล้วใครจะซื้อถ้าไม่ใช่ FED..? จีนก็คงไม่ค่อยอยากอุดหนุนพันธบัตรสหรัฐอยู่แล้ว อันนี้ไม่ใช่ประเด็นในบทความนี้นะครับ)

FED บอกว่าการลดงบดุลไม่ใช่เรื่องใหญ่ กระจิ๊บกระจ๊อยมากๆ แต่ผมคิดว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะที่ผ่านมา FED คือเจ้าหนี้ใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐมาโดยตลอด หลายคนอาจจะคิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นแล้ว แต่อัตราความเร่งในการสร้างหนี้ของรัฐบาลไม่ได้ลดลงเลย

ถึงจุดหนึ่งเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐก็จะทะลุอีกครั้ง นักลงทุนจะเชื่อมั่นในรัฐบาลสหรัฐไปได้อีกนานแค่ไหน..?

เมื่อเจ้าหนี้ของสหรัฐที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับ เริ่มไม่โอเคกับพันธบัตรสหรัฐ

เจ้าหนี้อันดับที่ 1 กองทุนประกันสังคม ตอนนี้กองทุนประกันสังคมไม่อยากถือพันธบัตรสหรัฐ เพราะผลตอบแทนไม่พอที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมรอดได้ (กรณีศึกษานี้เกิดขึ้นแล้วที่กองทุนประกันสังคมของญี่ปุ่นขายพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นไปให้ BOJ แล้วไปถือหุ้นแทน เพราะถือพันธบัตรนานๆ ผลตอบแทนแย่ กองทุนจะเจ๊งเอาได้)

เจ้าหนี้อันดับที่ 2 FED ซึ่งถ้า FED จะลดขนาดงบดุลจริงๆ ก็คงจะไม่ซื้อพันธบัตรสหรัฐเพิ่มแล้ว และพันธบัตรเดิมๆ ก็จะทยอยหมดอายุไปเรื่อยๆ

แถมจีน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อันดับ 3 ก็ไม่เคยมีความสุขกับการถือพันธบัตรสหรัฐอยู่แล้ว หาทางทิ้งพันธบัตรสหรัฐอยู่ตลอด

คำถามคือ ใครจะยอมให้สหรัฐกู้อีก..? (หวยอาจจะออกที่ญี่ปุ่นเจ้าหนี้อันดับ 4 อาจจะโดนหักคอให้ช่วยอุดหนุน)

เมื่อนั้นวิกฤติพันธบัตรสหรัฐ (Soverign Debt Crisis) อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คาด

ไม่มีใครในโลกนี้ที่สร้างหนี้ไปได้เรื่อยๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุดหรอกครับ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา

PS. แต่ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าก่อนจะถึงจุดนั้นคงจะใช้เวลาหลายปี และเมื่อคนเริ่มหนีห่างจากพันธบัตรสหรัฐ เงินน่าจะไหลไปที่ตลาดอื่น เช่นตลาดหุ้นสหรัฐแทน โดยเฉพาะยุโรปที่ยังลูกผีลูกคน น่าจะมีเงินฝั่งยุโรปจำนวนมากที่หนีมาพักใจที่ดอลล่าร์ ส่วนตัวผมเลยเชื่อว่าในภาพใหญ่ตลาดหุ้นสหรัฐยังจะ bullish ไปอีกนาน

อัพเดท 2024

สัดส่วนเจ้าหนี้ของสหรัฐอเมริกา (อัพเดทกลางปี 2016) ในที่นี้ถ้าไม่นับสถาบันและนักลงทุนรายย่อย กองทุนประกันสังคมเป็นเจ้าหนี้อันดับ 1 ถึง 14.4% หรือ $2.7 ล้านล้าน

สัดส่วนเจ้าหนี้ของสหรัฐอเมริกา (อัพเดทกันยายนปี 2023). โปรดสังเกตว่าหนี้รัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก $19 ล้านล้านมาอยู่ที่ $33 ล้านล้าน หรือเพิ่มขึ้น 73.6% ใน 7 ปี แต่สังเกตว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาทำสำเร็จที่สามารถดึงนักลงทุนภาคเอกชนเข้ามาถือพันธบัตรสหรัฐมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

อนาคตของโลกพลังงาน

May 2017

มี commodity สองตัวที่ผมสนใจมาระยะใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานอย่างมาก

ตัวแรกคือ Lithium ที่เป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ในยุคปัจจุบัน ยิ่งโลกพลังงานทดแทนโตเท่าไหร่ การกักเก็บพลังงานก็สำคัญมากเท่านั้น และด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่มีวัตถุดิบใดที่เหมาะกับการกักเก็บพลังงานเท่ากับ Lithium เลย

ส่วน Uranium ที่เป็นวัตถุดิบหลักของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลังงาน

ราคา Global X Lithium & Battery Tech ETF (LIT) เปรียบเทียบกับ Uranium Futures

เสียดายที่ Lithium ไม่มีการซื้อขายในตลาดล่วงหน้านะครับ ถ้าใครสนใจลงทุน Lithium ต้องลงทุนผ่าน ETF ของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Lithium เท่านั้น (แต่ Uranium มีซื้อขายกันในตลาดชิคาโกนะครับ)

ซึ่ง ETF ของ Lithium คือ LIT ตอนนี้เริ่มกลับตัวจากจุดต่ำสุดที่แถวๆ $17 มาอยู่ที่ $30 แล้ว หรือขึ้นมาเกือบๆ 1 เด้งในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ปีกว่าๆ

ในขณะที่ Uranium ราคาไม่ฟื้นเลย ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ที่ฟุกุชิม่า และโลกทั้งโลกดูเหมือนจะแอนตี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างรุนแรง แต่ลองดูแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของจีนในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า ไม่ใช่เล่นๆ เลยนะครับ

ตอนจีนโต commodity ที่จีนต้องใช้งานก็ราคาพุ่งตามไปด้วย แต่พอจีนซบ commodity ก็ซบตามทั่วโลก แต่ไม่ว่าจีนจะชะลอตัวขนาดไหนก็ตาม 

 "พลังงาน" เป็นเรื่องเดียวที่จีนจะชะลอไม่ได้เด็ดขาด ต้องเตรียมผลิตให้เพียงพอต่อการเติบโตของชนชั้นกลาง

ส่วนตัวผมเคยพูดถึง Lithium กับ Uranium มานานและพูดหลายรอบแล้ว ตอนนี้ Lithium วิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ คิดว่าถึงจุดนึงอาจจะเป็นเวลาของ Uranium บ้าง ตราบใดที่โลกยังต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Uranium ก็จะเป็น commodity ที่ขาดไม่ได้

PS. สำหรับคนที่สนใจเทรด commodity จริงๆ แล้ว commodity ในยุคนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะหมีมาหลายปี จากปัญหาเงินฝืด ดอลล่าร์แข็ง รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกชะงักงันมาหลายปี แต่ในอนาคตอันใกล้ผมเชื่อว่า commodity จะกลับเข้าสู่สภาวะ bull ไม่ได้มาจากเหตุผลว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นหรอกครับ แต่ผมเชื่อว่าเงินจะหนีจากพันธบัตรรัฐบาลและไหลไปยังสินทรัพย์ที่จับต้องได้จริงมากขึ้น แต่อย่าถามว่าเมื่อไหร่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

ใช้ put option สร้างกระแสเงินสดช่วงหุ้น sideway สำหรับ VI

May 2017

โพสต์นี้จะพูดศัพท์เฉพาะของ option เยอะหน่อย ต้องขอโทษสำหรับคนที่ยังไม่เชี่ยวชาญ มีเวลาผมจะมาเขียนอธิบาย option แบบภาษาชาวบ้านให้นะครับ

คนส่วนใหญ่มอง option ว่าเป็นเครื่องมือความเสี่ยงสูงสำหรับนักพนัน แต่จริงๆ แล้วการ short put option เป็นเทคนิคที่ดีของ VI ในการสร้างกระแสเงินสดเลยนะครับ โดยเฉพาะช่วงที่หุ้นไม่วิ่ง คงจะดีถ้าเราทำเงินได้จากช่วงเวลานี้

แนวคิดก็คือ VI จะมั่นใจพื้นฐานของธุรกิจที่ตัวเองเลือกเสมอก่อนเข้าลงทุน

ปัญหาที่เกิดคือ VI​ ซื้อแล้วหุ้นไม่วิ่ง มันเกิดค่าเสียโอกาสขึ้น แม้หุ้นจะพื้นฐานดี แต่การรอคอยจังหวะหุ้นขึ้นนั้นมันน่าเบื่อและน่าอึดอัด

วิธีแก้ไขปัญหานี้ก็คือ การใช้ put option ในการสร้างกระแสเงินสด ระหว่างที่เรารอหุ้นขึ้น

สมมตินะครับ คุณซื้อหุ้น X ที่ราคา $100 และคุณมั่นใจว่าพื้นฐานของหุ้นตัวนี้ราคาเหมาะสมจะไม่ต่ำไปกว่า $70 (ถ้าราคาลงต่ำกว่า $70 เหรียญก็จะเป็นสวรรค์ของ VI ดีๆ นี่เอง)

สิ่งที่สามารถทำได้คือเราสามารถ short put option ที่ strike price $70 โดยเลือกสัญญาที่ยาวที่สุดที่เป็นไปได้ (เช่น 1 ปี)

โดยปกติแล้ว การ short put option ที่สถานะ out of the money มากๆ (strike price ต่ำกว่า market price เยอะๆ) เรามักจะได้ค่าพรีเมียมต่ำ เพราะความเสี่ยงของคนรับ short จะต่ำ แต่คุณจะชดเชยด้วย time decay ที่ยาวมากๆ (time decay นั้นเป็นประโยชน์กับขา short แต่เป็นศัตรูของขา long)

ภาพที่ 40 - Option payoff chat ของ short put position

สถาณการณ์จะมีอยู่สองอย่าง

  1. ถ้าหุ้นไม่ลงต่ำไปกว่า $70 คุณจะได้กำไรจากค่าพรีเมียม ใน 1 ปีอาจจะได้ซัก 5-10% (ขึ้นกับความมั่นใจ ถ้าคุณมั่นใจพื้นฐานมาก คุณก็เพิ่ม position size เข้าไป กำไรคุณก็จะสูงกว่านี้) อันนี้จะช่วยสร้างกระแสเงินสดให้ชาว VI แม้หุ้นจะไม่วิ่งขึ้นเลยก็ตาม
  2. ถ้าหุ้นหลุดต่ำกว่า $70 คุณจะเริ่มขาดทุนจาก option แต่นั่นแปลว่าราคาหุ้นนั้นหลุดลง undervalue มากๆ คุณก็ปิด option แล้วเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มได้ในราคาถูกสุดๆ

คนที่ชอบแช่งให้หุ้นลง ก็ใช้วิธีนี้ได้ หรือ VI ที่อยากสร้างกระแสเงินสดในระหว่างที่รอหุ้นขึ้น ก็ใช้วิธีนี้ได้ แต่น่าเสียดายนะครับ ตลาดไทย ไม่มี single stock option ให้เล่น กลยุทธ์นี้เลยใช้ได้แต่กับตลาดต่างประเทศบางตลาดเท่านั้น

ลองเอาไปใช้กันดูครับ

PS. คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าขา short option มีความเสี่ยงสูง เพราะตามทฤษฏีมักจะบอกว่า limit gain, unlimit loss ซึ่งมันก็จริงตามทฤษฏี แต่ทว่า option มันมี time decay นะครับ ยิ่งเวลาผ่านไป ขา short ก็ยิ่งได้เปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ และ time decay นี่เองที่เป็นประโยชน์กับ VI เพราะในกลุ่มคนเล่นสั้นจะมองว่าถือ position ยาว อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ มันทำให้ค่า premium สูงเมื่อสัญญาอายุมากขึ้น แต่กับ VI ยิ่งคุณมั่นใจในระยะยาว ระยะสั้นจะขึ้นลงยังไงไม่รู้ล่ะ แต่ระยะยาวพื้นฐานมันดี ราคามันต้องไม่ลงต่ำกว่า strike price แน่ๆ time decay จึงเป็นประโยชน์สองต่อสำหรับ VI นั่นก็คือ ทำให้คุณได้ premium ที่เยอะขึ้น และลงความเสี่ยงของสถานะด้วย เพราะในระยะยาวคุณวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วว่าหุ้นมันน่าจะดี
PS. จังหวะ short put ที่ดีควรเป็นช่วงที่ราคาหุ้นปรับฐานลงมา เพราะในช่วงหุ้นขาลง premium ของ put จะสูงขึ้นตามความเสี่ยง การเล่น option ราคา premium ที่คุณจะได้เป็นหัวใจสำคัญมากๆ ของการบริหารความเสี่ยงนะครับ

Fat-Tailed Distribution กับตลาดหุ้น

June 2017

ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “17 สมการเปลี่ยนโลก” ของคุณ Ian Steward ที่เค้าพูดถึงสมการ ​Black-Scholes แล้วไปอ่านเจอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ไม่ได้เป็น Normal Distribution อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน

ผมเลยลองพิสูจน์จากข้อมูลย้อนหลังกว่า 40 ปีของ SET ของประเทศไทยว่าความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นไทยนั้น ไม่ได้เป็น Normal Distribution อย่างที่ผมเคยเชื่อแต่มันเป็น Fat-Tailed Distribution จริงๆ

ประเด็นนี้สำคัญจริงๆ สำหรับคนออกแบบระบบเทรด เพราะทฤษฏีการบริหารความเสี่ยง ที่ยึดอยู่กับการกระจายแบบ Normal Distribution มันจะใช้งานไม่ได้เลยในสภาวะแบบนี้

อธิบายแบบง่ายๆ แบบนี้ว่า โดยปกติการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นจะเป็นแบบ random หมายความว่า %Price Change จะมีหลากหลายไม่ว่าบวกมาก/น้อย ลบมาก/น้อย (การเคลื่อนไหวแบบสุ่มนี้เรียกกันว่าการเคลื่อนที่ของราคาแบบบราวเนี่ยน Brownian Motion)

และเมื่อเอาข้อมูลย้อนหลังของ %Price Change ของหุ้นทุกตัวในตลาดมาพลอตความถี่ เราจะได้กราฟรูปทรงคล้ายๆ Normal Distribution เป็นทรงระฆังคว่ำ

ภาพที่ 41 - Normal Distribution เทียบกับ Fat-tail Distribution

แต่ๆๆๆ...

ระฆังคว่ำนี้ไม่ได้มีคุณสมบัติแบบ Normal Distribution ทั่วๆ ไป คือโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ที่อยู่ข้างใดข้างหนึ่งของปลายระฆังนั้น มันไม่ได้ต่ำอย่างที่เราคิด

ในทางทฤษฏีแล้วโอกาสที่ราคาหุ้นจะเหวี่ยงมากๆ ในระดับ 3σ นั้น ตาม Normal Distribution ทั่วไปแล้ว มีโอกาสเกิดประมาณ 0.15% เท่านั้นเอง

แต่จากข้อมูลจริงที่ลองพลอตออกมาดู โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นอย่างรุนแรงเกินระดับ 3σ ของตลาดหุ้นไทยนั้น สูงมากกว่า 0.15% มากๆๆๆ

พูดภาษามนุษย์ทั่วไปก็คือ ไอ้การที่เราคิดว่า​โอกาสที่หุ้นจะตกหนักแบบ Black Swan อย่างช่วงที่มีข่าวลือเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตนั้น มันไม่น่าจะเกิดบ่อย นานๆ เกิดที ไม่น่าเกิน 0.15% ของเวลาทั้งหมด

ซึ่งถ้าเชื่อแบบนี้เราก็จะมีโอกาสควบคุมความเสี่ยงในการลงทุนได้ แต่พอพิสูจน์มาแล้ว ว่ามันเกิน 0.15% ไปเยอะมาก นั่นก็คือ คุณกำลังเชื่อแบบผิดๆ จากทฤษฏีที่ผิด

อธิบายอีกแง่ก็คือ หุ้นรายตัว เหวี่ยงขึ้นและลงบ่อยมากผิดปกติไป "เยอะ" ดังนั้นทฤษฏีควบคุมความเสี่ยงที่เราเอา Normal Distribution มาใช้นั้นจะใช้กับหุ้นไม่ได้ 

ดังนั้นในวิชา Risk Management หลายตำราที่เอา σ (Standard Deviation) มาใช้วัดความเสี่ยงของหุ้นนั้น ต้องระวังให้ดี เพราะถ้าการกระจายของหุ้นมันผิดมาตรฐาน Normal Distribution ไปเยอะมากๆ คือหางอ้วนมาก ทฤษฏี Risk Management ที่เคยร่ำเรียนกันมา มันก็จะใช้ไม่ได้ผลอย่างที่เราต้องการ

PS. แต่ถ้าถามว่าเหตุผลที่หุ้นไทยมันเหวี่ยงมากกว่าหุ้นหลายๆ ประเทศเพราะอะไร สมมติฐานส่วนตัวของผมก็คือ จริงๆ หุ้นไทยมันไม่ได้เคลื่อนไหวแบบ Brownian Motion จริง แต่มันมีมือที่มองไม่เห็นผลักดันให้มันเคลื่อนไหวไปในทางที่เขาเหล่านั้นต้องการได้นั่นล่ะครับ

The Digital Minerals of the Modern Economy

June 2017

อันที่จริงแล้วผมมอง crypto ทั้งหลายเหมือนกับแร่ธาตุบนโลกนี้

แร่ทุกประเภทบนโลกล้วนมีจำนวนจำกัด มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป

แร่บางอย่างแทบไม่มีประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมเลย (ผมขอไม่นับอุตสาหกรรมจิวเวอรี่นะ) แต่มันหาได้ยากมากจึงถูกนำมาใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (ทองคำ/แพลตตินัม/Bitcoin)

แร่บางอย่างถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรม รวมถึงมีคนนิยมนำมาใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนด้วย (แร่เงิน/Ethereum)

ในขณะที่แร่อื่นๆ บ้างแร่ถูกนำมาใช้ในบางอุตสาหกรรมเฉพาะ สำคัญมากน้อยแตกต่างกันไป (ดีบุก/ทองแดง/เหล็ก/ลิเธียม/Omise Go/Ripple/Tezos/etc)

บางอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งต้นทุนวัตถุดิบอย่างแร่ธาตุก็สูงขึ้นตามไปด้วย (ลิเธียม สำหรับธุรกิจแบตเตอรี่พลังงานทดแทน)

บางอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังจะตาย ราคาแร่ธาตุที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็ร่วงตาม (ยูเรเนียม สำหรับโรงงานนิวเคลียร์?)

แน่นอนว่าจะมีแร่ธาตุที่ไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิงรวมอยู่ด้วย และแม้มันจะมีจำนวนจำกัดมันก็จะไม่มีคุณค่าราคาใดๆ (calcite, mica, เหรียญมีม)

Cryptoasset/Cryptocurrency เองก็น่าจะเหมือนกัน

คำถามคือตอนนี้มนุษย์เรากำลังซื้อดีบุกในราคาของทองคำอยู่หรือเปล่า..?

Deep learning ในความหมายของผม

August 2017

เรื่องของการตัดสินใจของมนุษย์มันมีความเชื่อเกี่ยวกับ gut feeling อยู่

คำถามสำคัญสำหรับผมก็คือ gut feeling มีจริงหรือเปล่า..? หรือแท้จริงแล้วมันเป็นเพียง unconscious reasoning คือจริงๆ สิ่งที่เลือกหรือตัดสินใจมันมีเหตุผลและข้อมูลประกอบแต่มันเกิดขึ้นอัตโนมัติโดยรวดเร็วมากในสมองของเรา จนเจ้าตัวไม่อาจบอกหรืออธิบายได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาผมคุยกับนักเล่นหุ้น day trade ที่เก่งๆ บางคน ว่าเค้ารู้ได้ยังไงว่าหุ้นตัวนี้กำลังจะขึ้น

หลายครั้งผมเจอคำตอบว่า "ไม่รู้ว่ะมันเป็นเซ้นส์"

บางคนคิดว่าเซียนหุ้นคนนี้กั๊กความรู้

บางคนบอกว่ามันเป็นเซ้นส์เฉพาะตัวของเทพ ที่เจ้าตัวเองก็บอกไม่ได้เหมือนกัน แต่ประสบการณ์มันบ่มเพาะให้เขามองขาด หรือที่เราเรียกกันว่า gut feeling นั่นแหละ

แต่อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวของผม

"Gut feeling ไม่มีจริง"

สมองคุณจะต้องรับข้อมูลไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากอดีตหรือปัจจุบันตรงหน้า และนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลออกมาเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ (เว้นแต่คุณจะเชื่อตามแนวคิด collective unconscious ของ Carl Jung ที่ว่ามนุษย์ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลบางอย่างมาจากบรรพบุรุษ)

สมองไม่อาจจะประมวลผลได้โดยไม่มีข้อมูลตั้งต้น

เพียงแต่มนุษย์คนนั้นไม่รู้ว่าข้อมูลตั้งต้นที่นำมาใช้ในการประมวลผลมันคืออะไร..? เพราะสิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิตจนเป็นความเคยชินนั้นน่ะมันธรรมชาติจนฝังลงในจิตใต้สำนึก

ดังนั้นจึงเป็นการป่วยการที่จะพยายามหาคำตอบ

แต่ประเด็นสำคัญของผมอยู่ตรงนี้ว่า ถ้าสิ่งที่ผมคิดคือ gut feeling ไม่มีจริง และถ้าเราสามารถนำข้อมูลทั้งหมดที่มนุษย์คนนั้นเคยใช้ รวมถึงผลลัพธ์ของการตัดสินใจของเขา นำไปใส่ให้ machine learning เรียนรู้

ในทางทฤษฏีแล้ว machine จะสามารถ exploit แนวทางการตัดสินใจของมนุษย์คนนั้นออกมาได้เสมอ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องสนใจว่ากระบวนการคิดของเค้าเป็นอย่างไร

นี่คือการอธิบายนิยาม deep learning แบบกว้างๆ ของผม

นิทานหนี้

August 2017

มีเจ้าพ่ออิทธิพลสูงคนหนึ่ง ร่ำรวยจากการค้าอาวุธ และเก็บค่าดูแลร้านค้าในตลาด

เจ้าพ่อคนนี้เมื่อก่อนร่ำรวย แต่ช่วงหลังเริ่มหัวสูง ใช้เงินเกินรายได้ที่มี

นานวันเข้าก็เงินเริ่มช็อต ชักหน้าไม่ถึงหลัง หนี้บัตรเครดิตเริ่มเต็มทุกใบ

ถึงจุดนึงเจ้าพ่อกำลังจะล้มละลาย ก็บากหน้าไปหาน้องชายตัวเองที่เป็นนายแบงค์ ขอขยายวงเงินบัตรเครดิต

น้องชายก็จำใจต้องขยายวงเงินบัตรเครดิตให้เรื่อยๆ เพราะเป็นพี่น้องกัน ปล่อยให้พี่ล้มละลายไม่ได้

เป็นแบบนี้มานานหลายปี วงเงินบัตรเครดิตก็เพิ่มเรื่อยๆ แต่เจ้าพ่อก็ยังมือเติบใช้จ่ายมันส์มือ เพราะมั่นใจว่านายแบงค์ไม่ทอดทิ้งให้ตัวเองต้องเงินหมดแน่นอน

มาวันนึงแบงค์ของน้องชายเริ่มประสบปัญหา อยากจะลดสินทรัพย์ที่ตัวเองถือครองอยู่ (รวมถึงหนี้ของเจ้าพ่อด้วย)

แล้วเจ้าพ่อก็เริ่มมีหนี้เต็มวงเงินบัตรอีกรอบแล้ว คราวนี้พอเจ้าพ่อไปคุยขอเพิ่มวงเงินบัตรเครดิต

น้องชายมาบอกเจ้าพ่อว่า พี่ๆ ผมเพิ่มวงเงินให้พี่ได้นะ แต่อีกไม่นานผมจะต้องทยอยขายหนี้ของพี่ให้เจ้าหนี้คนอื่นเอาไปดูแลต่อแล้ว คงช่วยพี่ต่อไปได้อีกไม่มากนะ

พอเจ้าพ่อถามน้องว่าทำไมต้องขายหนี้ของพี่ด้วยล่ะ ไม่รักกันแล้วเหรอ น้องชายก็ตอบว่า ผมเป็นน้องพี่ แต่ถ้าผมปล่อยกู้ให้พี่เรื่อยๆ ทั้งที่พี่ไม่มีเครดิตเหลือแล้ว แบงค์ผมมันจะดูไม่น่าเชื่อถือ ระยะยาวผมคงทำธุรกิจต่อไปลำบาก

แถมเจ้าหนี้คนอื่นๆ ของเจ้าพ่อก็เริ่มที่จะทนไม่ไหว อยากที่จะขายทิ้งหนี้ของเจ้าพ่อคนนี้เต็มที แรกๆ พวกเค้าก็ยังเกรงกลัวอิทธิพลของเจ้าพ่ออยู่ ถ้าหักดิบทวงหนี้เจ้าพ่อ ก็กลัวจะมีอันตรายกับชีวิตของตนและครอบครัว แต่นานๆ เข้าก็เริ่มไม่อยากจะทน

นิทานก็จบตอนแรกค้างคาอย่างที่ผมเล่านี่ล่ะ

คำถามง่ายๆ ว่า ถึงนายแบงค์น้องชายและเจ้าหนี้คนอื่นๆ อยากจะขายทิ้งหนี้ของเจ้าพ่อ

แต่ใครจะอยากซื้อหนี้ก้อนนี้ และถ้าเค้าซื้อ เค้าจะยอมซื้อหนี้ในราคา discount เท่าไหร่..?

แล้วชีวิตของเจ้าพ่อหลังจากนี้ในตอนที่สองจะเป็นยังไง..?

ECB's Debt Consolidation

May 2018

มาริโอ ดรากิ ประธาน ECB เสนอแผนรวมหนี้กลุ่มประเทศในยูโร (Debt Consolidation)

รวมหนี้คืออะไร..? ในอดีตที่ผ่านมายูโรมีปัญหาเพราะรวมกลุ่มกันแบบครึ่งๆ กลางๆ ใช้ค่าเงินยูโรร่วมกัน แต่แยกหนี้ประเทศใครประเทศมัน เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นทำให้กลุ่มยูโรประสบปัญหาไม่สามารถใช้กลไกนโยบายการเงินในการช่วยประคองเศรษฐกิจได้

หนักไปกว่านั้น ประเทศที่เครดิตไม่ดีอย่างอิตาลีหรือกรีซก็ยังคงกู้ๆๆ จนเกิดความเสี่ยงที่จะล้มละลาย ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจแข็งแกร่งอย่างเยอรมัน กลับมีดอกเบี้ยติดลบ

มาร์ติน อาร์มสตรองเคยเสนอกลไกการทำ Debt Consolidation ของกลุ่มประเทศในยูโรทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นตลาดเดียว น่าจะเป็นทางรอดเดียวของยูโรที่เป็นไปได้

แต่การรวมหนี้นี้ ประเทศแข็งแรงอย่างเยอรมันหรือฝรั่งเศสจะต้องเจ็บหนัก เพราะหนี้เก่าเน่าๆ ที่พวกเค้าเป็นเจ้าหนี้จะต้องถูก devaluation ลงไปด้วย เพราะพวกประเทศที่อ่อนแออย่างกลุ่ม PIIGS

มาคอยดูกันครับว่าจะเกิด Debt Consolidation จริงๆ มั้ย (บอกได้เลยว่าถ้าเกิด จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่ยุโรปอาจจะรอดได้ในระยะยาว แต่กระบวนการน่าจะยากและซับซ้อนมากๆ แล้วประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมันจะยอมง่ายๆ หรือเปล่า)

PS. รวมหนี้ที่ผมพูดถึงนี้คนละเรื่องกับ European Safe Bonds (ESBies) นะครับ ตัว ESBies คือกลไก financial engineering ที่ทำ securitization คือออก หนี้ใหม่ โดยเอา หนี้เก่าเน่าๆ มามัดรวมกับ หนี้เก่าดีๆ แล้วแต่งหน้าทางปาก ให้เรตติ้งสูงๆ แล้วตั้งชื่อว่า European "Safe" Bonds

อ่านแล้วคุ้นๆ มั้ยครับ เอาปลาเน่ากับปลาดี มายัดลงเข่งเดียวกันแล้วขายในราคาปลาดี

สำหรับผม ESBies มันแทบไม่ต่างจาก CDO ในตอน subprime เลย เอาหนี้เน่าๆ มาปั้นรวมกับหนี้ดีๆ แต่งหน้าทาปาก พร้อมให้เรตติ้ง AAA สร้างฟองสบู่ได้ไม่กี่ปีหลังความแตก subprime ก็ระเบิด

สงครามค่าเงินมาอีกแล้ว

May 2018

ถ้าใครจำประวัติศาสตร์ได้ เมื่อช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ธนาคารแห่งประเทศไทยต่อสู้จนตัวตายเพื่อปกป้องค่าเงินบาทจากการโดนโจมตี ใช้เงินไปประมาณ $30,000 ล้าน เพื่อตรึงค่าเงิน THB อยู่กับ USD ปรากฏว่าเงินหมดคลัง สุดท้ายจำต้องลอยตัวค่าเงินบาท ก่อให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ที่รุนแรง และเกิดลูกโซ่ไปทั่วโลก

วันนี้ผมอ่านข่าวเจอใน Bloomberg ว่า HKMA (Hong Kong Monetary Authority คือธนาคารกลางฮ่องกงน่ะแหละ) ทุกวันนี้ใช้เงิน $2,400 ล้าน หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท "ต่อสัปดาห์" ในการปกป้องค่าเงินดอลล่าร์ฮ่องกง..!!

พอช่วงหลังผมต้องมาฮ่องกงบ่อย รู้สึกว่าทำไมเงินฮ่องกงมันถูกลงๆ เรื่อยๆ (มีบางครั้งหลุดต่ำกว่า 4 HKD/THB อีก) ลองดูกราฟ USD/HKD นะครับ ปี 2017 ที่ผ่านมาคุณเห็นเงิน USD อ่อนๆ มาทั้งปีนั่นแหละ ปรากฏว่า HKD อ่อนกว่า USD ซะอีก..!?! และที่อ่อนในช่วงปี 2018 นี้ อ่อนตัวหลุดกรอบใหญ่ในรอบ 35 ปีเลยด้วย

ถ้าใครสังเกตกราฟค่าเงินของประเทศที่มีการตรึง (pegging) ค่าเงินกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง คุณจะเห็นกราฟเป็นทรง sideway ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปี เนื่องจากธนาคารกลางประเทศนั้นๆ จะทำการซื้อขายเงิน เพื่อปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่เมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เค้าพยายามจะ pegging เอาไว้ ในกรณีนี้ก็คือ HKD พยายาม pegging กับ USD

Robert Mundell นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเคยพูดประเด็นนี้เอาไว้ในกฏที่เค้าเรียกว่า Impossible Trinity

เป็นกฏที่บอกว่า มีสามสิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ นั่นคือ

  1. Free capital flow (กระแสเงินสดไหลเข้าออกประเทศอย่างอิสระ)
  2. Fixed exchange rate (อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือการ peg นั่นแหละ)
  3. Independent monetary policy (นโยบายการเงินอิสระที่ไม่อิงกับประเทศอื่นๆ)

ไทยเคยเจอ Impossible trinity ทำลายประเทศมาแล้วในยุคต้มยำกุ้ง

ผมจะลองอธิบายสถานการณ์ที่ฮ่องกงกำลังเจอให้ฟัง เพื่อให้เข้าใจ Impossible Trinity ได้แบบไม่ยากนักครับ

  • ฮ่องกงตรึง HKD ไว้กับ USD ในกรอบที่ประมาณ 7.75-7.85 USD/HKD มาตลอดระยะเวลานับสิบปี
  • คำว่าตรึง (peg) ก็คือการที่ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) แทรกแซงค่าเงินเมื่อไหร่ก็ตามที่เงิน HKD เริ่มอ่อนแตะ 7.85 HKMA ก็จะซื้อ HKD เพื่อดันให้แข็ง และเมื่อไหร่ที่ HKD เริ่มแข็งแตะ 7.75 HKMA ก็จะขาย HKD เพื่อกดให้อ่อน (เหมือนไทยสมัยก่อนต้มยำกุ้งนั่นแหละครับที่พยายามตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ 25 USD/THB)
  • ปรากฏว่า สหรัฐอเมริกาเริ่มนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงปลายปี 2016 ทำให้ดอกเบี้ยในสหรัฐเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 0.25% ในปี 2016 ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 1.75% แต่พันธบัตร 10 ปีเทรดกันที่ 3% เข้าไปแล้ว
  • อัตราดอกเบี้ยของฮ่องกงก็เลยปรับขึ้นตามสหรัฐไปด้วย ค่อยๆ ยกดอกเบี้ยจาก 0.5% ในปี 2016 ขยับขึ้นตามเรื่อยๆ มาอยู่ที่ 2% ในปัจจุบัน ในขณะที่พันธบัตร 10 ปีเทรดกันที่ 2.35%
  • สาเหตุที่ฮ่องกงต้องพยายามปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นกับสหรัฐ ก็เพราะว่าถ้าฮ่องกงยืนอัตราดอกเบี้ยของตัวเอง มันจะเข้ากฏ Impossible Trinity นี่ล่ะครับ คือ ฮ่องกงจะตรึงค่าเงิน [2] พร้อมวางนโยบายอัตราดอกเบี้ยไม่อิงกับสหรัฐ [3] ไม่ได้ เพราะฮ่องกงมีนโยบาย Free capital flow [1] ต่างจากจีน ถ้าฮ่องกงดึ้อดึงทำแบบนั้น ตอนดอกเบี้ยสหรัฐสูงขึ้น เงินจะไหลออกจาก HKD ไป USD เรื่อยๆ เพราะและสุดท้ายจะเกิดวิกฤติแบบต้มยำกุ้ง คือ HKMA จะไม่สามารถปกป้องค่าเงินได้ตราบใดที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกัน ก็จะเกิดการขาย HKD เพื่อเอากำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ที่เราเคยได้ยินกันว่า Carry Trade
  • ต้องยอมรับว่า HKMA มีโยบายที่ไม่ฝืนกระแส คือเน้น [1] กับ [2] จึงต้องกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐ [3] คือสหรัฐขึ้นดอก กูก็ขึ้นตาม อะไรแบบนั้น
  • แต่ปัญหาก็คือ ทำไมตอนนี้เงินยังคงไหลออกจากฮ่องกงต่อเนื่อง อาจเพราะอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นถึง 3% แล้ว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยฮ่องกงอยู่ที่ 2% แถม USD ช่วงนี้ก็เริ่มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น พอ HKD พุ่งชน 7.85 ทาง HKMA จึงต้องแทรกแซงซื้อ HKD อย่างหนักตามที่ผมเล่าให้ฟังตอนต้น

ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมันไปไกลกว่าทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมมากแล้ว โลกไม่ได้มีผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น แต่กลไกต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงเกมส์การเงินมันซับซ้อนกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตมาก

เชื่อกันว่าถ้าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเพิ่มสูงต่อไป เงินก็มีแนวโน้มจะไหลออกจาก HKD ต่อเนื่อง (นี่เป็นเหตุผลที่ตอบโจทย์ว่า ทำไมยังมีคนอยากได้พันธบัตรสหรัฐอยู่ ทั้งๆ ที่อีกกลุ่มหนึ่งโยนพันธบัตรสหรัฐทิ้งไปแล้ว)

นั่นเป็นเหตุผลที่ “อัตราดอกเบี้ย” ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าอัตราดอกเบี้ยของฮ่องกงขยับตามสหรัฐแล้วจะจบปัญหา ตราบใดที่เงินยังไหลออก มันต้องมีเหตุผลอื่น เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปครับว่า HKMA จะดำเนินนโยบายยังไงกับ USD/HKD ต่อไป

ปัญหาที่ตามมาอีกเรื่องคือ การพยายามตรึงค่าเงินเข้ากับ USD มีผลทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์อาจจะเกิดปัญหาลูกโซ่ตามมา เพราะในอดีตต้นทุนกู้ยืมซื้อบ้านของฮ่องกงถูกมากๆ ถ้าอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องแบบสหรัฐ มีความน่ากลัวว่าจะไปกระทบภาคอสังหาของฮ่องกง เพราะต้นทุนการกู้ยืมจะสูงขึ้นไปกว่าเดิม

อสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงอยู่ในจุดที่หลายคนบอกว่าเป็นฟองสบู่มานานแล้ว "ถ้า" การแทรกแซง HKD เป็นสงครามระยะยาว ภาคอสังหาของฮ่องกงถือว่าน่าเป็นห่วงพอสมควรครับ

อัพเดท 2024

Impossible Trinity ไม่ใช่ทุกอย่าง

ไม่ใช่ว่าออกแบบระบบให้สอดคล้องกับหลัก Impossible Trinity แล้ว ระบบการเงินจะปลอดภัย

ยกตัวอย่างฮ่องกง peg HKD กับเข้า USD + เปิดให้ capital flow ไหลอิสระ + peg Interest Rate เข้ากับ Interest Rate ของสหรัฐ

ทุกอย่างดูเหมือนจะโอเค แต่ระบบสองระบบ ประเทศสองประเทศ ยังไงก็โคลนนิ่งให้เหมือนกันไม่ได้

หรือพูดอีกแง่ Impossible Trinity คือการพยายามฝืนธรรมชาติในการตรึงมูลค่าเงินของสองประเทศที่มีความแตกต่างในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ให้มันเท่ากัน แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด

ผลที่เกิดต่อเนื่องคืออะไร..?

ฮ่องกงมีอัตราดอกเบี้ยเคลื่อนไหวในรูปแบบเดียวกับสหรัฐ

สหรัฐดอกต่ำ ฮ่องกงต่ำด้วย

สหรัฐปรับดอก ฮ่องกงขอปรับด้วย

ภาคส่วนที่กระทบที่สุด ก็คือฝั่งอสังหาริมทรัพย์

พื้นฐานภาคอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงกับสหรัฐอเมริกาต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

อสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เพิ่งผ่านภาวะฟองสบู่แตกมาทศวรรษนึง

ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกง อยู่ในจุดพีค ที่ราคาพุ่งสูงไม่หยุดมาหลายสิบปี

แต่ทั้งสองที่ "ดอกเบี้ยเกือบเท่ากัน"

ผลกระทบที่มีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกง ในทางทฤษฏีจึงควรจะหนักมาก ฮ่องกงควรจะเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกแบบ subprime ที่สหรัฐ จากกลไกการกดดอกเบี้ยต่ำมาตลอดนับสิบปี

แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะกลไกตลาดหลายๆ อย่างในฮ่องกงเอื้อให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ยังคงสูงต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำลังซื้อจากคนจีน, เรื่องระบบเศรษฐกิจที่เติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

สุดท้าย ดอกเบี้ยเท่ากัน แต่ราคาอสังหาตอนนี้ฮ่องกงกับสหรัฐต่างกันลิบลับ

เด็กฮ่องกงที่เรียนจบมาทำงานเก็บเงิน จะใช้เวลาเฉลี่ย 40-50 ปี ในการเป็นเจ้าของห้องเล็กๆ ของตัวเองซักห้อง

ในขณะที่เด็กสหรัฐ จะใช้เวลาไม่ถึง 10 ปีในการเป็นเจ้าของบ้านตัวเอง

แล้วผลลัพธ์คืออะไรล่ะ..?

ฟองสบู่อสังหาของฮ่องกงที่ควรจะแตกเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่อ้างอิงจากสหรัฐ กลับไม่ยอมแตก

ผลก็คืออสังหาริมทรัพย์แพงมากๆ จนกระทั่งคนฮ่องกงไม่มีปัญญาเอื้อมถึง (unaffordable)

ท้ายสุดความผิดเพี้ยนนี้มันควรจะเกิดผลให้ฟองสบู่ระเบิด แต่เมื่อฟองสบู่ดันแข็งแรงมาก ไม่ระเบิดซักที สิ่งที่ระเบิดแทนคือความอัดอั้นของคนที่ถูกกดอยู่ในระบบทุนนิยมที่ทำให้พวกเค้าไม่สามารถเป็นเจ้าของปัจจัย 4 ที่ควรมีได้ แม้จะทุ่มเททำงานทั้งชีวิต

ความอัดอั้นนี้ระเบิดออกมาในรูปแบบของ social unrest ที่ทำให้ฮ่องกงพบปัญหาหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการประท้วง การขอแยกประเทศ ฯลฯ

ดังนั้นดูเผินๆ เหมือน impossible trinity ถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยใช้ธนาคารกลางเข้ามาเพื่อบริหารจัดการ

แบงค์ชาติอาจจะคุมราคาค่าเงินได้ คุณอาจจะคุมอัตราดอกเบี้ยได้ แต่คุณคุมฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ได้ไหม คุณคุมความโกรธแค้นของฝูงชนได้ไหม บางประเทศอย่างจีน อาจจะทำได้ แต่จะทำได้ตลอดไปหรือเปล่า ผ่านไปกี่ปีที่ทุกอย่างจะถึงจุดที่ระเบิดออก?

การพยายามอุดรอยรั่วบางอย่าง นำมาซึ่งรอยรั่วอีกทีหนึ่งที่หนักหน่วงและรุนแรงกว่าเดิมเสมอ การแทรงแซงตลาดจึงมักส่งผลลัพธ์ที่เราคาดไม่ถึงในระยะยาว

อ้าว งั้นแปลว่าเราไม่ควรเข้าแทรกแซงกลไกตลาดเหรอ ถ้าเป็นแบบนั้นระบบเศรษฐกิจโลกก็จะเป็นเหมือนทฤษฏี natural selection ของชาร์ล ดาร์วิน คือ ใครแข็งแรงปรับตัวเก่ง ก็จะชนะไป ใครอ่อนแอปรับตัวไม่ได้ก็จะสูญพันธ์ไปในที่สุด

ซึ่งก็อาจจะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นมากที่สุดแล้ว ในระบบเศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมหรือเปล่า ผมเองก็ไม่แน่ใจ

QE Unwind: Separating Fact from Fiction in the Fed's Balance Sheet Reduction

July 2018

เห็นหลายคนช่วงนี้พูดกันเรื่อง QE Unwind เยอะมาก แล้วแตกประเด็นไปไกลจนดูเกินเลยความเป็นจริง

ประเด็นแรกที่เราต้องเข้าใจก่อนคือ การที่ FED พิมพ์เงินออกมานั้นมีรายละเอียดครบทุกอย่างอยู่ในเว็บของ FED ซึ่งตรวจสอบได้ทั้งหมด ซึ่ง Balance Sheet ของ FED ที่ 4 ล้านล้าน USD นั้นถูกเอาไปใช้สองอย่างหลักๆ

  1. ซื้อ MBS (Mortgage-Backed Securities) หรือหนี้เน่า subprime ของธนาคารในสหรัฐ เพื่อให้พวกแบงค์มีสภาพคล่องที่จะปล่อยกู้ให้กับ real sector ได้ โดยยอด MBS อยู่ที่ประมาณ 8 แสนล้าน USD
  2. ซื้อพันธบัตรสหรัฐ (Treasury Bond) เพื่อกดดอกเบี้ยพันธบัตรและให้เงินรัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงใช้จ่ายต่างๆ อันนี้อยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านล้าน USD

การที่ FED จะลดขนาด Balance Sheet ได้นั้น จะต้องเอาสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็น MBS หรือ Bond ขายให้ใครซักคนเพื่อให้ได้ดอลล่าร์กลับมา ก่อนที่จะสลายดอลล่าร์นั้นไปในอากาศ แบบเดียวกับตอนที่พิมพ์ออกมาก่อนหน้านั้น

FED Balance Sheet (2002-2023) งบดุลของ FED ลดลงมาน้อยมากเมื่อเทียบกับตอนทำ QE ในช่วงปี 2008-2014

ดังนั้นที่มีคนพูดกันว่า เงิน QE ไม่ได้ลงไปที่ real sector นั่นคือความจริงแท้ครับ เพราะเหล่าธนาคารผู้ซึ่ง too big too fail นั้นพอได้เงินจาก QE มาเพิ่มสภาพคล่อง พวกเค้ากลับทำสองอย่างคือ

  1. ไปซื้อพันธบัตรสหรัฐ!! (FED >> QE >> Bank >> Bond) เอากำไรแบบไร้ความเสี่ยง
  2. ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ (หุ้น/คอมโมดิตี้/ค่าเงิน/ทองคำ)

ดังนั้นในบรรดาเงิน QE เกือบ 4 ล้านล้านของ FED นั้น มันไหลเข้าไปในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นไม่ได้เยอะขนาดที่เคยมีคนพูดถึงหรอกครับ เพราะเงินส่วนใหญ่น่าจะเกือบๆ 3 ล้านล้าน (ยอดที่ FED ซื้อตรง รวมกับยอดที่ FED ให้ตังค์แบงค์แล้วแบงค์ไปซื้อพันธบัตร) มันไปกองอยู่ในพันธบัตรสหรัฐ (ซึ่งดูข้อมูลจากเว็บของ FED ได้อย่างละเอียดเลย)

การดึงเงินกลับน่ะเป็นเรื่องจริงแน่ครับ แต่ผมไม่คิดว่าจะสามารถดึงเงินทั้งหมดคืนได้ด้วยสองเหตุผล

  1. ในเมื่อเงินส่วนใหญ่อยู่ในพันธบัตรสหรัฐ การทำ QE unwind ก็คือการทิ้งพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ FED จะอยากทำ เพราะปัจจุบัน FED ถือพันธบัตรสหรัฐอยู่ประมาณ 2.38 ล้านล้าน USD หรือคิดเป็น 20-25% ของพันธบัตรสหรัฐทั้งหมด พูดง่ายๆ คือ FED เป็นเจ้าหนี้อันดับต้นๆ ของพันธบัตรสหรัฐ มากกว่าจีนและญี่ปุ่นรวมกันเสียอีก คำถามสำคัญคือถ้า FED ไม่ถือพันธบัตรสหรัฐ ใครจะอยากถือ..? และจะยอมถือในราคาเท่าไหร่..?
  2. ถ้าขายสินทรัพย์เสี่ยงแล้วดึงเงินดอลล่าร์ไหลกลับสหรัฐแรงมากๆ ดอลล่าร์จะแข็งค่าจนมีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐพังได้ และผมคิดว่าสิ่งที่สหรัฐไม่อยากให้เกิดมากที่สุดตอนนี้ก็คือการแข็งค่าของดอลล่าร์นี่ล่ะครับ เพราะมันจะเร่งวิกฤติพันธบัตรให้เกิดเร็วขึ้นไปอีก

ลองดูกราฟ Balance Sheet ของ FED ผ่านไป 1 ปี ลด Balance Sheet ไปได้ 1.8 แสนล้าน USD (ซึ่งใน 1.8 แสนล้าน USD เนี่ย เป็นพันธบัตรสหรัฐไปซะ 8 หมื่นล้าน USD เหลือที่ลดจากสินทรัพย์อื่นๆ แค่ 1 แสนล้าน) ที่มีคนพูดว่าจะดึงเงินกลับ 2.5 ล้านล้านจึงเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเกินจริงไปมาก และไม่มีทางเป็นไปได้เลยถ้า FED ไม่ทิ้งพันธบัตรสหรัฐเอง 

ซึ่งจีนถือพันธบัตรสหรัฐอยู่แค่ 1 ล้านล้าน USD รัฐบาลสหรัฐเองยังกลัวแทบตายว่า ถ้าจีนทิ้ง 1 ล้านล้านตรงนี้ รัฐบาลสหรัฐอาจจะถึงขั้นล้มละลายได้เลย แล้ว FED จะทิ้งพันธบัตร 2.38 ล้านล้าน ในเร็ววัน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สรุปนะครับ การดึงเงินกลับสหรัฐนั้นเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน แต่ตัวเลข 2.5 ล้านล้านนั้นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างจะเกินจริง และสร้างความกังวลให้นักลงทุนมากเกินไป

ต้อนรับโลกที่เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

August 2018

การขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ทั้งสหรัฐ ยูโร และญี่ปุ่น ดูเหมือนจะดี ดูเหมือนอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดูเหมือนเศรษฐกิจกำลังฟื้น แต่ถ้าไปดูเหตุผลของมันจริงๆ มันคือวิกฤติที่ซ่อนอยู่ที่น่ากลัวมาก คือ อัตราดอกเบี้ยเพิ่มเพราะ นักลงทุนทิ้งพันธบัตร ธนาคารกลางหยุดซื้อพันธบัตรเมื่อไหร่ จะยิ่งน่ากลัวในระยะยาว

โลกหลังยุค subprime เป็นโลกที่แข่งกันลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดภาระหนี้ภาครัฐ

ปัญหาที่เกิดคือ นักลงทุนทิ้งพันธบัตรวิ่งไปหาสินทรัพย์ผลตอบแทนสูง

ในขณะที่โลกหลังยุคหยุด QE จะกลับด้านกัน ดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจจะเพิ่มขึ้น เพื่อหวังดึงเงินกลับเข้าตลาดพันธบัตร เพราะไม่มีธนาคารกลางเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยซื้อแล้ว

ปัญหาที่เดิมก็น่าจะกลับมา คือภาระภาครัฐที่หนักขึ้น คำถามคือ คนจะยังเชื่อรัฐอีกนานแค่ไหน

ผมเคยยกตัวอย่างญี่ปุ่นไปแล้วว่า BOJ แบกพันธบัตรรัฐบาลอยู่ 47% ถ้า BOJ ไม่ซื้อพันธบัตรต่อ ใครจะซื้อ

อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมาของพันธบัตรญี่ปุ่น มีคนไปตีความว่ามันสะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ความคิดที่ฝังหัวมนุษย์แบบ Homo Capitalus คือ รัฐน่าเชื่อถือที่สุด รัฐไม่มีวันล่มสลาย

นักวิเคราะห์บางรายยังมองโลกในแง่ดีว่า แม้ธนาคารกลางจะทิ้งพันธบัตร ก็จะไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพราะภาคเอกชน และกองทุนทั้งหลายจะยังคงกังวลกับเศรษฐกิจโลก และจะหาที่พักเงินที่ปลอดภัยอย่างตลาดพันธบัตรเสมอ

แต่ส่วนตัวผมคิดว่าความคิดนี้ยึดติดกับกรอบระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมมากเกินไป กรอบที่ว่าแหล่งพักเงินบนโลกนี้มีอยู่แค่ตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น ทองคำ

ความจริงแล้วแหล่งพักเงินใหม่ของโลกกำลังเกิดขึ้น และค่อยๆ ได้รับการยอมรับอย่างช้าๆ พูดไปตอนนี้คงมีบางคนหัวเราะ แต่ผมมั่นใจว่า Cryptoasset ในอนาคตจะกลายมาเป็นแหล่งพักเงินใหม่ แม้จะยังต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะได้รับการยอมรับจากนักลงทุนส่วนใหญ่ และคงจะมีเพียงแค่บาง Cryptoasset เท่านั้นที่สอบผ่านที่จะเป็นแหล่งพักเงิน

ถ้ายังตอบคำถามไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐในช่วงเวลาหลังจากนี้ไป ก็เหมือนกับการเล่นเก้าอี้ดนตรี ไม่มีใครอยากเป็นคนสุดท้าย

ดูภาพกราฟการทิ้งพันธบัตรสหรัฐในช่วงก่อนรัฐบาลสหรัฐหยุด QE สิครับ น่าจะพอตีความกันได้ ว่าทำไมยักษ์ใหญ่ต้องเริ่มขึ้นดอกเบี้ยพันธบัตร

Net Foreign Transactions of US Treasuries and Notes by Foreign Institutions (1980-2018)

แล้วลองมาดูกันว่าหลังหยุด QE และดอกเบี้ยขึ้นแล้ว ความปั่นป่วนจะมาในรูปแบบไหน ผมเชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ

Turkey's Economic Turmoil: A Crisis of Confidence and Its Global Implications

August 2018

ปัญหาหลักของวิกฤตเศรษฐกิจของตุรกี ไม่ได้เกิดจากค่าเงินดอลล่าร์แข็ง ไม่ได้เกิดจากการขึ้นภาษีของอเมริกา

แต่ปัญหามันสะสมมาตั้งแต่เออโดกันขึ้นมาบริหาร รัฐบาลเออโดกันมีนโยบายหลายอย่างที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะทำลายความเชื่อมั่นของตุรกี

คุณจะทำอะไรก็ได้รัฐบาลไม่มีวันล่มสลายหรอก ตราบเท่าที่ความเชื่อมั่นในรัฐยังคงอยู่ แต่เมื่อความเชื่อมั่นหมดไป ก็ end game

ไม่ว่าคุณจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนักขนาดไหน ถ้าความเชื่อมั่นมันหายไปแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยมันก็เป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ในมุมมองส่วนตัวผมรู้สึกว่าสถานการณ์ของตุรกีครั้งนี้ใกล้เคียงกับที่เกิดในรัสเซียเมื่อหลายปีที่ผ่านมา คือค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง อัตราดอกเบี้ยกระชากในระยะเวลาสั้นๆ

แต่ถ้าเรามาดูในรายละเอียดเราจะเห็นว่าในตอนวิกฤตของรัสเซียนั้น ความเชื่อมั่นในรัฐบาลของปูตินยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม การกระชากอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

แต่วิกฤตของตุรกีรอบนี้ตรงกันข้าม ประชาชนหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลแล้ว

ในมุมมองผมทางแก้ปัญหาระยะสั้นคือต้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน แต่สิ่งที่ต้องทำมากกว่านั้นคือรัฐบาลเออโดกันจะต้องลงจากตำแหน่งและให้ทีมงานชุดใหม่ขึ้นมาบริหารแทน

ปรับนโยบายเรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด การบังคับประชาชนให้ถือ lira กลับยิ่งสร้างความหวาดกลัว และทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

PS. คุณสามารถทำกำไรจากการ arbitrage ในสถานการณ์ที่ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรงและดอกเบี้ยกระชากสูงได้ ด้วยการ long ค่าเงิน lira และ long พันธบัตรตุรกี

เพราะสุดท้ายแล้วทั้งสองอย่าง (ค่าเงิน และ yield พันธบัตร) จะต้องปรับตัวเข้าหากันสู่จุดดุลยภาพ (เหมือนดังที่เคยเกิดกับรัสเซีย)

แต่มีเงื่อนไขเดียวนะครับว่า คุณต้องเชื่อมั่นว่าประเทศตุรกีนั้นจะไม่ล้มละลาย

PS. สิ่งที่ผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดหลายปี ว่ายุโรปพ้นวิกฤตแล้วเหรอ..? ตกลงยุโรปทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้ตัวเองพ้นวิกฤตมาบ้าง..? คำตอบที่ได้คือ “ไม่มีเลย” ปัญหาของยุโรปทั้งหมดยังคงอยู่และหนักข้อขึ้นด้วยซ้ำ แต่ปัญหาทั้งหมดถูกซ่อนไว้ในเครื่องมือที่เรียกว่า QE ของ ecb

ผมมักจะเสนอความเห็นส่วนตัวว่าถ้าให้ผมเดา วิกฤติพันธบัตรจะเริ่มขึ้นจากที่ยุโรปก่อนอเมริกาหรือญี่ปุ่น แน่นอนว่ามันจะต้องมีตัวจุดระเบิด ก็ได้แต่หวังว่าวิกฤติตุรกีนี้จะไม่ใช่ตัวจุดระเบิดที่ผมพูดถึง

อัพเดท 2024

รัฐบาลเออโดกันยังคงคุมอำนาจบริหารตุรกีอยู่ แต่กลับไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ประกอบกับวิกฤติการณ์โควิด-19 ในช่วงปี 2020-2022 ทำให้เศรษฐกิจตุรกีมีปัญหาหนักมากขึ้นไปอีก โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของตุรกีเพิ่มขึ้นทะลุ 26% บ่งบอกถึงความไม่เชื่อมั่นของเจ้าหนี้ และแม้ผลตอบแทนพันธบัตรจะสูงเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถจูงใจให้คนเชื่อมั่นในสกุลเงิน lira ได้เลย คนยังคงทิ้ง lira อย่างหนัก ทำให้ค่าเงิน lira อ่อนค่าอย่างรุนแรง เริ่มมีความใกล้เคียงกับสภาวะ Hyperinflation มากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2024 ค่าเงิน lira อ่อนค่าเป็นสถิติจากปี 2010 ที่ 1 USD แลกได้ 1.52 TRY พุ่งเป็น 1USD แลกได้ 32.78 TRY หรือคิดเป็นการอ่อนค่ามากกว่า 2,000% ซึ่งหากเป็นแบบนี้ต่อไปมีโอกาสสูงมากที่ค่าเงิน lira จะล่มสลาย

ราคาที่ดินในตุรกีพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับตลาดหุ้น โดย Borsa Istanbul 100 Index ของตุรกีพุ่งขึ้นทำ new all time high ที่ 10,796 จุด ในภาวะที่ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรงและราคาที่ดินและหุ้นพุ่งสูง เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของตลาดของประเทศที่ค่าเงินใกล้จะล่มสลาย ในขณะที่ landlord จำนวนมากในตุรกีเริ่มใช้เงินดอลล่าร์ในการซื้อขายที่ดินแทนเงิน lira แล้ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีและ USDTRY (2010-2024)

Hong Kong's Real Estate Tightrope: Monetary Policy Constraints and Real Estate Bubble Concerns

August 2018

นโยบายการเงินของฮ่องกงผูกติดกับสหรัฐ

ตามกฏ Impossible Trinity ของ Mundell เป็นกฏที่บอกว่า มีสามสิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้ นั่นคือ

  1. Free capital flow (กระแสเงินสดไหลเข้าออกประเทศอย่างอิสระ)
  2. Fixed exchange rate (อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือการ peg นั่นแหละ)
  3. Independent monetary policy (นโยบายการเงินอิสระที่ไม่อิงกับประเทศอื่นๆ)

ฮ่องกงมีข้อ 1 คือ ธนาคารกลางไม่ได้ควบคุม capital flow แบบเข้มงวด

ฮ่องกงมีข้อ 2 คือ อัตราแลกเปลี่ยนผูกติดกับดอลล่าร์สหรัฐ

ดังนั้นฮ่องกงจึงไม่สามารถมีข้อ 3 ได้ นี่เป็นเหตุผลที่อัตราดอกเบี้ยของฮ่องกงถึงจะต้องอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ

สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ฮ่องกงขึ้นด้วย

สหรัฐลดดอกเบี้ย ฮ่องกงก็ลดตาม

ทุกอย่างถูกต้องตามทฤษฏี จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดต้มยำกุ้งแบบสมัยเมืองไทยเปิดเสรีการเงิน

แต่จริงๆ ปัญหามันไม่ได้แก้ง่าย หรือจบง่ายแบบนี้

การปรับอัตราดอกเบี้ยของฮ่องกงตามสหรัฐ เกิดผลกระทบหลายอย่างตามมา ยกตัวอย่างเช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์

เราลองมาดูราคาอสังหาริมทรัพย์เมื่อเทียบกับรายได้ของประเทศต่างๆ 

ข้อมูลราคาอสังหาฯทั่วโลกเทียบกับรายได้ต่อหัวของประชากร

จะเห็นได้ว่า ฮ่องกงมีราคาอสังหาริมทรัพย์แพงที่สุดในโลก (ผมขอไม่นับเวเนซุเอลาที่ขึ้นอันดับ 1 เพราะ fail state) เมื่อเทียบกับ Income ของประชนชน (Price to Income Ratio) อยู่ที่ 46.89

หมายความว่า ประชาชนต้องใช้เงินเก็บ 46.89 ปี ถึงจะมีปัญหาซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ (เก็บเงินโดยไม่จ่ายเลยแม้แต่บาทเดียวตลอด 47 ปีนะครับ !!)

และ yield ของอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกงอยู่ที่ 1.89% เท่านั้น

ช่วงที่ผมอยู่ฮ่องกงผมมีโอกาสแวะไปที่หาด Repulse Bay หาดยอดฮิตของชาวฮ่องกง และเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกอภิมหาเศรษฐีของฮ่องกง ราคาคอนโดแถว Repulse Bay บางห้องบ้าเลือดถึงระดับ HKD150M ต่อ 1 ห้อง (680 ล้านบาทโดยประมาณ)

ในขณะที่อสังหาของสหรัฐแพงในอันดับ 90 คือใช้เงินรายได้แค่ 3.44 ปีก็ซื้อบ้านได้ละ (ผลจาก subprime ที่ยังไม่ฟื้นดีนัก)

และ yield ของอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอยู่แถวๆ 2.9-3%

ในมุมมองส่วนตัวของผม อสังหาก็เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ที่ฮ่องกงตอนนี้ดูแพงมากๆๆ และผลตอบแทนก็ต่ำ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นตามสหรัฐ

เราจะเห็น gap ความแตกต่างตรงนี้ ที่สุดท้ายแล้วความต่างจะต้องถูกปรับมาให้สมดุลกัน นั่นแปลว่า ในที่สุดอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงอาจจะถึงจุดที่จะต้องปรับฐาน คนขายเอากำไร และนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ

เมื่อราคาปรับลงมา yield ของอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงก็จะสูงขึ้น

แต่คนพูดแบบนี้กันมานานเป็นสิบปีแล้วครับ ฟองสบู่อสังหาของฮ่องกงก็ไม่แตกซักที แต่ยุคนี้มันแตกต่างจากอดีต ที่อัตราดอกเบี้ยกำลังจะเริ่มเป็นขาขึ้น

ผมไม่ได้บอกว่าฟองสบู่อสังหาฮ่องกงกำลังจะแตกนะครับ อย่าเพิ่งรีบไป short กันล่ะ แค่อยากจะบอกว่า ระบบเศรษฐกิจโลกมันจะมีความผิดปกติแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลและธนาคารกลางก็จะหาทางฝืนกลไกตลาด ผ่านมันไปให้ได้

อสังหาที่แพงที่สุดในโลก ในสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะต้องเจอกับอะไรบ้าง น่าสนใจติดตามนะครับ

อัพเดท 2024

ผมได้เขียนอธิบายไปในบทความก่อนหน้านี้แล้ว ว่าในช่วงปี 2018-2019 นั้น วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกงไม่ได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลของประชาชนฮ่องกง นอกจากนี้หลังการเข้ามาของโรคระบาดโควิด-19 และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปี 2023 ทำให้นักลงทุนจากจีนเทขายอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกง ราคา Residential Property ในฮ่องกงลดลงเฉลี่ยมากกว่า 20% และยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของนักลงทุนจีนที่น้อยลงมาก และเศรษฐกิจของฮ่องกงที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการประท้วงใหญ่ในปี 2019 และการเข้ามาควบคุมฮ่องกงอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีน จนคนจำนวนมากเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียไปแล้ว

The Global Interest Rate Dilemma (Part 1): Potential Consequences of BOJ and ECB Tapering Quantitative Easing

July 2018

อ่านเจอข่าวที่ว่า BOJ กับ ECB จะลดละเลิก QE แล้วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คิดว่าการลดละเลิกนี้จะมีผลกระทบอะไรกับตลาดพันธบัตร ตลาดเงิน ตลาดหุ้น และระบบเศรษฐกิจโลกบ้าง ผมจะเอาข้อมูลมาแชร์กันนะครับ

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าสหรัฐหยุด QE และ FED ลด Balance Sheet จะดึงสภาพคล่องออกจากตลาดทุนทั่วโลก ถ้าสิ่งนี้เกิดกับญี่ปุ่นและยูโร สภาพคล่องจะไม่ยิ่งหายไปจากโลกเหรอ..?

ก่อนอื่นเราต้องเริ่มที่คำถามแรกเลย BOJ พิมพ์เงินไปทำอะไรเยอะแยะ..?

เงินส่วนใหญ่ที่พิมพ์ออกมาทาง BOJ เอาไปกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น หรือพูดง่ายๆ BOJ พิมพ์เงินมาให้รัฐบาลใช้ จนถึงตอนนี้ BOJ ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ถึง 47.5% แล้ว..!! หรือคิดเป็น 433 ล้านล้านเยน (433 ตามด้วย 0 สิบสองตัว)

งบดุลของ Bank of Japan เทียบกับ Velocity of Money ของญี่ปุ่นที่บ่งบอกถึงภาวะเงินฝืดเรื้อรังที่เป็นมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

สัดส่วนการถือครองพันธบัตรของ BOJ เทียบกับยอดหนี้สินของรัฐบาลญี่ปุ่น (2010-2022)

พูดอีกแง่คือ BOJ เป็นเจ้าหนี้รัฐบาลเกือบครึ่งของมูลหนี้ทั้งหมด..

ตัวเลขนี้โหดร้ายมากนะครับ

เพราะสัดส่วนในปี 2016 BOJ ยังเป็นเจ้าหนี้รัฐแค่ 34%

ปี 2017 กระโดดมา 41.6%

ปี 2018 แค่กลางปี (สถิติเดือนเมษา) พุ่งไป 47.5% แล้ว

(อัพเดท 2024) ปี 2024 ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่ 53.34%

ลองถามย้อนกลับนะครับ..

ทำไม BOJ ถึงต้องกว้านซื้อหนี้รัฐเยอะขนาดนี้..? คำตอบง่ายมากคือ ไม่มีใครอยากให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้ไง คนเทขายพันธบัตรรัฐบาล จนดอกเบี้ยพุ่ง BOJ ต้องรับหน้าเสื่อเข้ามากว้านซื้อพันธบัตรที่คนแห่ทิ้งทุกราคา (เพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำ)

รัฐบาลเงินหมด จะกู้เพิ่ม ออกพันธบัตรใหม่มา ไม่มีคนซื้อ BOJ ก็ต้องซื้อ

แถมพันธบัตรเดิมๆ ยังโดนคนเททิ้งเป็นว่าเล่น BOJ ก็รับซื้อหมด

พอเห็นแบบนี้ ถ้า BOJ ยกเลิก QE ใครจะมาซื้อพันธบัตรแทนครับ..?

และเมื่อคนที่ถือพันธบัตรญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันรู้ว่า เดี๋ยวจะขายพันธบัตรยากแล้วนะ เพราะไม่มีเจ้ามือมากว้านซื้อทุกราคาแบบเมื่อก่อนแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับตลาดพันธบัตรญี่ปุ่น..?

(อัพเดท 2024) สังเกตสัดส่วนการถือครองพันธบัตรที่ BoJ เพิ่มขึ้นจาก 490 ล้านล้านเยน พุ่งไปถึง 580.5 ล้านล้านเยน ในขณะที่เจ้าหนี้รายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร, ธุรกิจประกัน ล้วนถือครองพันธบัตรรัฐบาลน้อยลง ในขณะที่จุดได้เปรียบอย่างหนึ่งของตลาดพันธบัตรญี่ปุ่นคือ เจ้าหนี้ต่างประเทศถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเจ้าหนี้ในประเทศ จึงทำให้ความกังวลเรื่องการถูกดึงเงินออกจากตลาดพันธบัตรญี่ปุ่นเมื่อเกิดวิกฤติสภาพคล่อง (แบบที่เคยเกิดกับสหรัฐอเมริกาในช่วงวิกฤติ subprime) มีน้อยลง

ถ้า BOJ หยุด QE จริง สุดท้ายแล้วเงินจะไหลออกจากตลาดพันธบัตรอย่างรวดเร็ว อัตราดอกเบี้ยจะพุ่งสูง แต่เงินจะไหลไปไหน..?

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น..? ก็เป็นไปได้ ก่อนหน้านี้ประกันสังคมของญี่ปุ่น (GPIF) เทขายพันธบัตรรัฐบาล โยกเงินไปลงในตลาดหุ้น ทำเอา Nikkei พุ่งเป็นกระทิงอยู่ช่วงสั้นๆ

ถ้าเป็นแบบนั้นเยนอาจจะแข็งขึ้น (เพราะถ้าตลาดหุ้นวิ่ง อาจจะมี fund flow ต่างชาติเข้ามาสมทบ)

แต่ถ้าไหลออกไปตลาดอื่น เงินเยนจะอ่อนปวกเปียก (ที่น่าคิดคือ ถ้าเงินยังอยากไหลไปที่ความเสี่ยงต่ำอย่างตลาดพันธบัตรอยู่ล่ะก็ ตลาดพันธบัตรไหนในโลกที่ผลตอบแทนดี๊ดี และยังเสี่ยงล้มน้อยกว่าที่อื่น – สหรัฐไง นี่เป็นเหตุผลที่ผมเชื่อว่าในภาพใหญ่ ดอลล่าร์จะยังคงแข็งค่าต่อเนื่องหลังเกิดวิกฤติพันธบัตรญี่ปุ่นกับยูโร)

(อัพเดท 2024) ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและค่าเงินเยนหลัง GPIF เทขายพันธบัตรรัฐบาล

แต่ระยะยาว ถ้ารัฐบาลไม่มีเงิน ขอกู้ยากขึ้น แถมอัตราดอกเบี้ยสูง เมื่อนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็น่าจะถึง end game

เรามาดูกันครับ การยื้อชีวิตของรัฐบาลญี่ปุ่น น่าจะใกล้ถึงปลายทางแล้ว

ส่วน ECB ก็มีสภาพไม่ต่างกัน เผลอๆ หนักกว่า โพสถัดไปไว้ผมจะมาเล่าให้ฟัง

The Global Interest Rate Dilemma (Part 2): Why the Euro is Trapped and the Dollar May Strengthen

August 2018

สิ่งหนึ่งที่เป็นความขัดแย้งที่สำคัญมากของโครงสร้างเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคือ ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย

เป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยเพียงประเทศเดียว เพราะเงินจะไหลทะลักเข้าไปที่สหรัฐ หากประเทศอื่นๆ ดอกเบี้ยยังต่ำติดดิน

แต่ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน ที่ยูโรหรือญี่ปุ่น จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะตลาดพันธบัตรจะเสี่ยงที่จะพังทลาย และภาระหนี้ของภาครัฐจะหนักหน่วงมากจนทำลายความน่าเชื่อถือ

ถ้ายูโรคง QE และกดดอกเบี้ย (เหมือนที่อิตาลีร้องขอ) ผลคือ พยุงตลาดพันธบัตรได้ แต่สุดท้ายเงินก็จะหนีจากผลตอบแทนต่ำ ไหลออกไปที่ผลตอบแทนสูงกว่า ก็คือดอลล่าร์และตลาดพันธบัตรสหรัฐ

แต่ถ้ายูโรหยุด QE และขึ้นดอกเบี้ย ผลคือ ตลาดพันธบัตรอาจจะพังเพราะไม่มีคนรับซื้อ และเงินก็จะหนีจากความเสี่ยงสูง ไหลออกไปที่ความเสี่ยงต่ำกว่า ก็คือดอลล่าร์และตลาดพันธบัตรสหรัฐอยู่ดี

นี่คือที่มาของความเห็นส่วนตัวของผม ที่บอกว่าไม่ว่ามองมุมไหน ยูโรก็ไม่มีทางออก และไม่ว่ามองทางไหน ดอลล่าร์ก็มีแต่จะแข็งขึ้นหลังจากนี้

PS. เอาจริงๆ อาจพอมีทางที่ยากมากๆ และก็คงสายไปแล้ว นั่นคือการ consolidate หนี้ทั้งหมดในกลุ่มยูโรเป็น single debt market และยอม discount หนี้ปริมาณมหาศาลของกลุ่มประเทศอ่อนแอในยูโร

Global Economic Crossroads: Interest Rates, Stock Markets, and Currency Dynamics in the Post-Low Interest Era"

October 2018

ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานหนักจากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยของอเมริกาที่เพิ่มขึ้นมาตลอดจนทะลุ 3% แล้วในปัจจุบัน

ตามทฤษฎีวิชาเศรษฐศาสตร์เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสูงเงินจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นตลาดความเสี่ยงต่ำเช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือไม่ก็เอาเงินไปฝากธนาคารก็ได้

อีกแง่หนึ่งคือต้นทุนการกู้ยืมก็จะสูงขึ้นทำให้ภาคเอกชนจำเป็นจะต้องชะลอการขยายธุรกิจลง จะเป็นการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น

ปัญหามันเกิดที่ตรงนี้แหละครับ

โลกเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกมาร่วม 10 ปี จู่จู่สหรัฐอเมริกาก็เริ่มขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องด้วยข้ออ้างที่ว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว (ฟื้นจริงไหมขอไม่พูดในตรงนี้)

มันมีประเด็นที่ตามมาต่อเนื่องหลายอย่างครับหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา

  1. นักลงทุนกังวลการขึ้นดอกเบี้ยจนเทขายหุ้นทำให้ดาวโจนส์ตกหนักในช่วงที่ผ่านมา
  2. ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆเริ่มถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยเรื่อย
  3. ประเทศอื่นๆเช่นประเทศไทยมีทางเลือกอยู่สองทางคือ ขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกา หรือเลือกที่จะคงดอกเบี้ยเอาไว้
  4. หากประเทศไทยเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ยผลที่จะตามมาก็คือ เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวตามทฤษฎี ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนั้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเรายังลูกผีลูกคน อาจจะมีผลทำให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงหลังจากนี้ 
  5. แต่ถ้าประเทศไทยเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ย ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยง ที่เงินทุนในไทยจะไหลออกไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ยที่มากกว่าหรือแม้กระทั่งการทำ carry trade (กู้เงินในประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำและเอาไปปล่อยกู้ในประเทศที่ได้รับอัตราดอกเบี้ยสูง)
  6. ลองคิดภาพว่าตอนนี้แทบทุกประเทศในโลกไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยไล่ตามสหรัฐอเมริกาได้ทัน แน่นอนว่าจะต้องมีเงินส่วนหนึ่งไหลบ่ากลับเข้าไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะมีผลทำให้ค่าเงินดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  7. เงินจำนวนหนึ่งที่ไหลเข้าสหรัฐอาจจะไม่ได้ไปพักอยู่ในตลาดพันธบัตรอย่างเดียว แต่อาจจะวนกลับไปลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งแนวโน้มการแข็งค่าของดอลล่าร์อาจจะมีผลทำให้หุ้นสหรัฐวิ่งต่อเนื่อง (เหมือนตอนที่ญี่ปุ่นเจอ plaza accord ที่ทำให้เงินเย็นแข็งตัวอย่างรวดเร็ว)
  8. ซึ่งประเด็นนี้กลับไปขัดแย้งกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่บอกว่าขึ้นดอกเบี้ยแล้วตลาดหุ้นจะชะลอความร้อนแรงลง นั่นเป็นเพราะในอดีตตลาดหุ้นถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันและอนาคตตลาดหุ้นถูกขับเคลื่อนด้วยเงินทุนที่ไหลเข้าออกประเทศนั้นๆ
  9. แต่ปัญหามันไม่ได้หมดแค่นั้นเนื่องจากการที่ดอลล่าร์แข็งค่าในระยะยาวแล้วไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐอเมริกาและธุรกิจของสหรัฐเลย นั่นแปลว่าในอนาคตหลังจากนี้จะเกิดภาวะที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ (ดอกเบี้ยสูง เงินดอลล่าร์แข็ง) แต่ตลาดหุ้นกลับวิ่งไปข้างหน้าจากผลของกระแสเงินทุน
  10. ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็จะประสบวิกฤติเงินไหลออก ทำให้เงินอ่อนค่าโดยเฉพาะประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เมื่อค่าเงินไม่แข็งแรงวิกฤติเศรษฐกิจก็มีความเสี่ยงที่จะตามมาไม่ว่าจะทั้งจากเรื่องของภาระหนี้สินสกุลเงินต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

อาจจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันให้ดีว่าในปี 2019 และปีต่อๆไปเศรษฐกิจโลกอาจเกิดภาวะชะงักงัน หรืออาจจะถึงขั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในรูปแบบแปลกๆ ที่เราไม่เคยเจอมาในอดีตก็ได้ครับ

(อัพเดท 2024) หลังการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในปี 2016 ตลาดหุ้นสหรัฐไม่ได้ชะลอความร้อนแรงลงเลย จากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาที่ดอลล่าร์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการเข้ามาของวิกฤติโควิด-19 ธนาคารกลางทั่วโลกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยลงที่ศูนย์หรือต่ำกว่าศูนย์เปอร์เซ็น จน FED กลับมาขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 2022 ตลาดหุ้นสหรัฐยังมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กับดอลล่าร์แข็งค่าจากสภาพคล่องทั่วโลกที่ไหลกลับเข้าดอลล่าร์

US Interest Rate Hikes, Trade Wars, and Worldwide Stock Market Declines

October 2018

ย้ำก่อนว่าบทความนี้ของผมเป็นทัศนคติส่วนตัวของผม อ่านแล้วใช้วิจารณญาณด้วยนะครับ

มีประเด็นนึงที่ผมตั้งสมมติฐานเอาไว้นานแล้ว ว่าสาเหตุที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้มาจากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวอย่างที่เขากล่าวอ้าง แต่จริงๆ เป็นขั้นตอนหนึ่งของเกมส์การเงินระดับโลก ที่ผู้เล่นหลักอย่างสหรัฐกระทำการอย่างเชี่ยวชาญเพื่อควบคุมให้การเงินโลกเดินตามเส้นทางที่ตัวเองวางเอาไว้

  1. ประเด็นเริ่มจากความกังวลว่าการพิมพ์เงินดอลล่าร์จำนวนมหาศาล (งบดุล FED ก่อน QE คือ 0.8 ล้านล้าน หลัง QE อยู่แถวๆ 4.2 ล้านล้าน เพิ่มมาประมาณ 500%) จะทำให้เกิดการด้อยค่าของดอลล่าร์ ซึ่งสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุผลที่เงินจำนวนมากที่ถูกพิมพ์ออกมา ไหลไปยังตลาดหนี้ (QE -> ซื้อพันธบัตรรัฐ) และตลาดทุน (QE -> ซื้อหนี้เน่าแบงค์ -> แบงค์เอาเงินที่ได้ไปลงทุนเก็งกำไรในตลาดทุน+ตลาดพันธบัตร) แต่กลับไม่ลงไปที่ real sector ทำให้ธุรกิจจริงๆ ไม่ได้อานิสงค์จากการ QE นี้ (ที่ได้คือรัฐบาลได้เงินฟรีมาใช้จ่ายสนุกมือ แล้วพวก Big Bank ก็ได้เงินต้นทุนต่ำโคตรๆ มาเก็งกำไร)
  2. ยักษ์ใหญ่ล้วน QE ตามสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ยูโร อังกฤษ ญี่ปุ่น ทำให้เกิดภาวะเงินท่วมโลก สินทรัพย์แทบทุกประเภทมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นแบบมหาศาลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
  3. แต่ปัญหาที่ซ่อนใต้พรมของทุกๆ รัฐบาลมหาอำนาจก็คือ ธนาคารกลางของพวกเค้า เป็นเจ้าหนี้รัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธนาคารกลาง พิมพ์เงินมากว้านซื้อพันธบัตรรัฐ (หรือเรียกง่ายๆ ว่าพิมพ์เงินมาให้รัฐยืมไปใช้จ่ายน่ะแหละ)
  4. ธนาคารกลางไม่สามารถพิมพ์เงินไปได้ตลอดไป เพราะสุดท้ายความน่าเชื่อถือของรัฐจะถูกทำลายจากการพิมพ์เงินแบบไม่อั้น ดังนั้น ซักวันหนึ่งการพิมพ์เงินจะต้องหยุดลง แต่ปัญหาที่ตามมามันใหญ่กว่านั้นมาก ถ้าธนาคารกลางเลิกพิมพ์เงิน ใครจะเป็นคนซื้อพันธบัตร (ใครจะเอาเงินไปให้รัฐยืมใช้จ่าย)
  5. FED หรือธนาคารกลางสหรัฐในช่วงนั้นถือพันธบัตรสหรัฐอยู่ประมาณ 20% ECB หรือธนาคารกลางยูโรถือพันธบัตรยูโรอยู่ประมาณ 40% BOJ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นโหดที่สุดครับ เพราะถือพันธบัตรญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 47% หรือพูดง่ายๆ ว่าธนาคารกลางเป็นเจ้าหนี้เกือบครึ่งหนึ่งของรัฐ
  6. ถ้าทุกประเทศหยุด QE จริง และดูดเงินทั้งหมดตรงนี้ออกไปจากระบบเศรษฐกิจ จะไม่มีคนสนใจให้รัฐบาลยืมเงินอีกต่อไป ประเทศมหาอำนาจจะล้มทั้งยืน จากวิกฤติพันธบัตร สิ่งนี้ไม่ช้าก็เร็วจะต้องเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีใครสามารถพิมพ์เงินไปได้ตลอด
  7. ซึ่งตรงนี้คือกลไกสำคัญของสหรัฐครับ คือ ถ้า FED หยุด QE และดูดเงินกลับ หัวใจที่จะทำให้สหรัฐรอดจากการล้มก็คือ "การสร้างแรงจูงใจ ให้คนสนใจมาถือพันธบัตรแทน FED" ทำยังไงล่ะ ให้คนอยากเอาเงินมาให้สหรัฐยืม..?
  8. วิธีการก็คือ "ขึ้นดอกเบี้ย" แม้การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้นักลงทุนขาดทุนจากราคาหน้าตั๋ว (Mark to Market) แต่ยังไงก็ตาม ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐนั้นจะสูงกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรชาติอื่นๆ อยู่แล้ว
  9. FED จึงชิงจังหวะ ลด QE ไปตั้งแต่ปลายปี 2016 (จนถึงตอนนี้ดูดเงินออกจากระบบไปแล้ว 10% จากที่พิมพ์ออกมา หรือประมาณ 0.5 ล้านล้านดอลล่าร์) และขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจูงใจให้เงินไหลเข้าไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 3% ในขณะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ บางแห่งถึงกับติดลบ
  10. ทุกรอบที่ FED ทำการ roll พันธบัตรชุดใหม่ เราจะสังเกตเห็นว่าค่าเงินดอลล่าร์แข็งอย่างมีนัยยะ กลไกการดูดเงินกลับสหรัฐในรอบนี้เป็นกลไกระยะยาว (ต่างจากตอน subprime ซึ่งเป็นการดึงเงินกลับแบบเฉียบพลัน) นั่นหมายถึงเงินจาก QE ที่เคยไหลไปในตลาดทุนและตลาดหนี้ทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไหลกลับไปที่สหรัฐจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย
  11. เพื่อกระทุ้งให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เร็วและรุนแรงขึ้น สงครามการค้าจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความไม่มั่นใจในระบบเศรษฐกิจโลก (ในโหมด Risk On เงินจะไหลจากที่ผลตอบแทนต่ำไปที่ผลตอบแทนสูง แต่ในโหมด Risk Off เมื่อคนหวาดกลัววิกฤติเศรษฐกิจ เงินจะไหลจากที่ความเสี่ยงสูงไปความเสี่ยงต่ำ) เมื่อเกิดความกลัวเรื่องสงครามการค้า เงินจึงมีโอกาสไหลจากตลาดหุ้น กลับไปยังตลาดพันธบัตร ซึ่งความเสี่ยงต่ำกว่า
  12. แล้วตลาดพันธบัตรไหนล่ะ ที่คนเชื่อว่าความเสี่ยงต่ำ แถมผลตอบแทนสูงกว่าชาวบ้าน หันไปหันมา ก็เจอแต่พันธบัตรสหรัฐเท่านั้น นั่นเป็นที่มาที่ตลาดหุ้นทั่วโลกล้วนถูกเทขาย เงินไหลออกอย่างต่อเนื่อง จนคนหลายคนงงว่า ฝรั่งทำไมมันถึงขายได้ขายดีตลอดปีขนาดนี้
  13. แล้วใครล่ะที่จะซวย..? ตอนนี้สิ่งที่จะเกิดคือ ประเทศมหาอำนาจอย่างยูโร กับญี่ปุ่นกำลังเข้าตาจนครับ เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น แต่เจอส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจากการขึ้นดอกของสหรัฐ การเดินเกมส์มีทางเลือกไม่มากไม่ว่าจะเป็น (ก) หยุดพิมพ์เงินแล้วขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐ (ข) ยืนดอกเบี้ยเท่าเดิม แล้วถ้าเงินไหลออกไปเรื่อยๆ ก็พิมพ์เงินมาซื้อพันธบัตรเรื่อยๆ สิ
  14. ทางเลือก (ก) ยากลำบากมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและยูโรยังเปราะบาง การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่จะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ส่วนทางเลือก (ข) ก็อันตรายเพราะยิ่งการพิมพ์เงินนานวันเข้า จะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ และสุดท้ายก็ต้องถึง end game ในที่สุด
  15. เกมส์นี้เหมือนเก้าอี้ดนตรี ใครนั่งก่อน คนนั้นได้เปรียบ ตอนนี้สหรัฐแย่งคนอื่นนั่งเก้าอี้เป็นคนแรกแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ดอลล่าร์แข็งค่า เงินไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตร ในขณะที่ยูโรกับญี่ปุ่นถือว่าน่าเป็นห่วงมากๆ หากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยยังถ่างกว้างมากขึ้นไปเรื่อยๆ
  16. ที่แน่ๆ ธนาคารกลางของทั้งยูโรและญี่ปุ่น ไม่เหลืออาวุธมากนัก เพราะหากธนาคารกลางยังถือพันธบัตรรัฐเยอะไปกว่านี้ จะเป็นการเร่งทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ แต่จะหยุดพิมพ์เงินแล้วจูงใจให้คนมาถือพันธบัตร ก็มีทางเดียวคือการขึ้นดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ความเสี่ยงมหาศาลก็รออยู่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
  17. และถ้าสิ่งที่ผมคิดมันมีความใกล้เคียงความเป็นจริงอยู่บ้าง สิ่งที่จะเกิดหลังจากนี้คือภาวะเงินฝืด จากการแข็งค่าของดอลล่าร์ รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกที่จะซบเซาต่อเนื่องจากกลไกดังกล่าวข้างต้น
  18. แต่เกมส์เศรษฐกิจมันไม่ได้มีผู้เล่นคนเดียวอย่างสหรัฐครับ ดังนั้นผมเชื่อว่าหลังจากนี้ประเทศอื่นๆ ก็จะมีกลไกในการแก้เกมส์ ซึ่งจะสำเร็จหรือล้มเหลว เราก็คงต้องมาติดตามกันต่อไป แต่ดูแล้วยูโรกับญี่ปุ่นอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากจริงๆ

(อัพเดท 2024) ดูจากกราฟจะเห็นได้ว่า FED เริ่มขึ้นดอกเบี้ยปี 2016 และในปี 2018 ตอนที่เร่ิมลด

QE ก็มีประเด็นสงครามการค้ากับจีนเกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน เมื่อคนกังวลความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ เงินทุนทั่วโลกก็ไหลไปพักในพันธบัตรสหรัฐ ในช่วงที่ FED จะทิ้งพันธบัตรพอดี หรือถ้าเราดูในช่วงปี 2022 หลังวิกฤติการโควิด-19 เมื่อ FED ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในปลายปี 2021 และทำการขึ้นดอกเบี้ยและลด QE ในช่วงต้นปี 2022 ซึ่งก็เป็นเรื่องบังเอิญที่สงครามรัสเซีย ยูเครนปะทุขึ้นในช่วงนั้น และสหรัฐอเมริกาก็เข้าไปหนุนยูเครน และความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกกับความไม่มั่นคงในเรื่องเศรษฐกิจฝั่งยูโรสืบเนื่องจากสงคราม เงินทุนก็ไหลกลับเข้าไปพักในพันธบัตรสหรัฐในช่วงเวลาที่ FED จะทิ้งพันธบัตรพอดี

AI, Automation, and the Future of Work: From Economic Pain to Utopian Possibilities

November 2018

อ่าน AI Superpowers ของ Kai Fu Lee จบไปบทแรก มุมมองของ Kai Fu Lee ยืนยันความเชื่อของผม เรื่องการแย่งงานมนุษย์ในระยะยาว จะสอดคล้องกับอัตราการเกิดที่ลดลง ช่วงแรกคือใน 10-15 ปีข้างหน้า จะเป็น pain ของระบบเศรษฐกิจโลก คือ Aging Society + AI disrupts Human workforce วิกฤติประกันสังคม น่าจะเลี่ยงได้ยากมากๆ

แต่เมื่อรุ่นลูกของเราโตขึ้น วิกฤติจะพลิกกลับเป็นโอกาส คือในช่วง 30-40 หลังจากนี้ เด็กจะน้อยลง สอดคล้องกับการเข้ามาของ AI ที่มาทดแทนมนุษย์ และโลกจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่มีชนชั้นแรงงาน (ที่เป็นมนุษย์) อีกต่อไป

เมื่อไม่มีชนชั้นแรงงาน (ที่เป็นมนุษย์) ส่วนตัวผมคิดว่า...

มาร์กซิส น่าสนใจกว่าทุนนิยม

เพราะปัญหาความล้มเหลวของมาร์กซ เกิดจากการดึงศักยภาพของกรรมาชีพไม่ได้เพียงพอ แต่เมื่อเป็นหุ่นยนต์ ปัญหานี้น่าจะหมดไป เพราะเราจะไม่มีกรรมาชีพที่เป็นมนุษย์อีกแล้ว

ขยายขนาดรัฐ น่าจะดีกว่าลดขนาดรัฐ

ปัจจุบันผมเห็นด้วยกับการ downsize ภาครัฐ และให้เอกชนลุยแทน เพราะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐ เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ

ลองคิดนะครับ เราลดขนาดรัฐ เพราะรัฐและข้าราชการขาดประสิทธิภาพ แต่เมื่อรัฐที่ไม่มีข้าราชการ (ที่เป็นมนุษย์) การขยายขนาดรัฐ ผมเชื่อจะทำให้ต้นทุนรัฐสวัสดิการลดต่ำลง และเกิด UBI ได้จริง

ผมมองโลกอนาคตเป็น Utopia มากกว่า Distopia นะ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น เศรษฐกิจโลกจะต้องเจอจุดเปลี่ยนผ่านที่เจ็บปวดแสนสาหัสเสียก่อน

China and Techno-utilitarian Approach: A Keynesian Gamble on AI Supremacy

December 2018

อ่าน AI Superpowers ของ Kai-Fu Lee ได้ครึ่งเล่มแล้ว มีประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องที่เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งผมว่าน่าจะพูดถึง

นั่นคือ เรื่องให้ "รัฐ" มีส่วนร่วมที่จะช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีของจีน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน สาธารณูปโภค นโยบายภาษี ปรับเปลี่ยนกฏหมาย หรือการสนับสนุนด้านอื่นๆ ที่จะช่วยให้เหล่านักวิจัย, Startups ด้าน AI ทั้งหลายได้มีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยี AI ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และสะดวกมากขึ้น ซึ่ง Kai-Fu Lee เรียกว่า Techno-utilitarian approach

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้จีนวิ่งแซงหลายๆ ประเทศในเรื่องงานวิจัย AI และมีโอกาสที่จีนจะแซงสหรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (AI ในยุคปัจจุบันแข่งกันที่ปริมาณและคุณภาพของข้อมูล ซึ่งจีนได้เปรียบกว่าทุกประเทศในโลกตรงที่มีข้อมูลมหาศาลจาก O2O (Online-to-Offline) ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้แบบจีน)

แต่ถ้าเรามอง Techno-utilitarian ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ จริงๆ แล้วเป็นการแทรงแซงเศรษฐกิจแบบหนึ่งของรัฐตามหลักเศรษฐศาสตร์แบบเคนเชียน คือรัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนใน AI แน่นอนว่าหนี้สินภาครัฐจะเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ (และแน่นอนว่าต้องมีเงินสูญเปล่าจากโครงการที่ล้มเหลวเป็นจำนวนมาก)

หลายประเทศโจมตีจีนเรื่องนี้ เพราะหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่ากลัว และมีหลายอย่างที่รัฐจีนแทรกแซงแล้วล้มเหลว ขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม Solar panel, อุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ

แต่รัฐบาลจีนกล้าที่จะ bet กับ AI เพราะหากการแทรงแซงครั้งนี้ได้ผล จะเกิด economic shift ครั้งใหญ่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนก้าวกระโดดแบบพลิกฝ่ามือ

ยกตัวอย่างเช่น self-driving car จีนถึงขนาดสร้างเมือง Xiongan ที่ออกแบบถนนสำหรับรถอัตโนมัติ เพื่อใช้เป็นแลปยักษ์สำหรับทดลอง self-driving car เลย เทียบกับสหรัฐที่ยังโดนพวกสหภาพรถบรรทุกออกมาต่อต้านการวิจัย self-driving car เราจะเห็นความแตกต่างที่มากจริงๆ

การลงทุน AI ของรัฐบาลจีนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดทุกปี

ผมเคยอ่านหนังสือของ Toffler ชื่อ Revolutionary Wealth ที่พูดถึงความล่าช้าในการเปลี่ยนแปลงของสถาบันต่างๆ ในโลก ทำให้วิวัฒนาการของมนุษย์ชะลอตัว ซึ่งสถาบันด้านกฏหมายเป็นอะไรที่ปรับตัวช้าที่สุด แต่จีนกำลังแก้ไขปัญหาที่ต้นตอนี้ ซึ่งจะทำให้จีนเร่งความเร็วแซงสหรัฐได้ในเวลาไม่กี่ปี

ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจีนให้กลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดอุบัติเหตุ, ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติก, เพิ่มผลิตผล

แต่อย่าลืมว่า ในทางกลับกัน economic shift นี้ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม คนขับรถแทกซี่, รถบรรทุก อาจจะต้องตกงาน

อุตสาหกรรมใหญ่อย่างการซ่อมบำรุง ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงธุรกิจประกันภัย จะเริ่มจำเป็นน้อยลง (เพราะอุบัติเหตุลดลง) และอันนี้ไม่ได้กระทบแค่จีนครับ ไทยที่เป็นประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์นี่แหละ จะกระทบแบบเลี่ยงไม่ได้เลย

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจะต้องคิดเผื่อการ subsidise เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมและประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีด้วย (เช่น ฝึก skill งานด้านอื่นล่วงหน้า, ให้เงินสนับสนุน UBI ฯลฯ)

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แบบเคนเชียน รัฐแทรกแซง เพื่อก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจ ช่วงแรกที่แทรกแซง รัฐก็จะเกิดภาระหนี้ เป็นการใช้จ่ายแบบขาดดุลงบประมาณ

แต่เมื่อเกิด economic shift การลงทุนก็จะเริ่มผลิดอกออกผล ธุรกิจในประเทศก็จะสู้กับคู่แข่งต่างชาติได้ดีขึ้น ต้นทุนลดลง สุดท้ายก็จะส่งผลดีกลับไปให้รัฐ เพราะจะเก็บภาษีได้สูงขึ้นเอามาชดเชยการลงทุนในช่วงแรกไป

นี่คือ Good Keynesian ซึ่งจีนกำลังพยายามทำอยู่ เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

  1. กระตุ้นเศรษฐกิจ ในยามที่การเติบโตเริ่มชะลอตัว
  2. สร้าง economic shift ที่จะเร่งขับเคลื่อนให้จีนเป็นผู้นำ AI ของโลก

ตอนนี้ Techno-utilitarian ของรัฐบาลจีนและ O2O data มหาศาลกลายเป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้จีนทิ้งชาติอื่นๆ ในเรื่อง AI ห่างออกไปทุกที ๆ

อสังหาราคาขึ้นเพราะมีจำนวนจำกัดจริงหรือ?

December 2018

หลายคนเชื่อว่าการถือครองอสังหาริมทรัพย์จะช่วยรักษาความมั่งคั่งของตนเองในระยะยาว เพราะความเชื่อดั้งเดิมคือ ระยะยาวอสังหามีแต่จะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าปัจจัยพื้นฐานของโลกเปลี่ยน เข้าสู่ยุค aging society

อัตราการเกิดต่ำ จำนวนประชากรลดลง จะเกิดอะไรกับราคาอสังหาในอนาคต..?

เมื่อ demand ลดลง ในระยะยาวราคาเฉลี่ยของ supply จะลดลงตาม

แต่ไม่ได้หมายความว่าอสังหาริมทรัพย์ในอนาคตทั้งหมดจะถูกลงหรอกนะครับ

แต่มันจะมี variance ที่สูงขึ้น นั่นหมายถึงที่ดินทำเลแย่ๆ จะราคาตกต่ำหนัก ในขณที่ที่ดินทำเลดีจะยังคงราคาสูงต่อเนื่อง

Gap ของราคาในแต่ทำเลจะแตกต่างกันมากขึ้น การลงทุนในอสังหาจะยากขึ้นอีก

ตัวอย่างเริ่มเกิดแล้วในญี่ปุ่น มีบ้านแจกฟรีจำนวนมากในตลาด เพราะเจ้าของจ่ายภาษีและค่าดูแลรักษาไม่ไหว แต่ในทำเลทองอย่างชิบุยะ, กินซ่า หรือ นัมบะ ยังราคาสูงต่อเนื่อง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้าสู่ aging society แบบเต็มตัว ทุกวันนี้คนญี่ปุ่น 40% อายุเข้าวัยเกษียณแล้ว

ใน 10 ปีข้างหน้า ประชากรญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่ขาลงในอัตราเร่ง

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป จะสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ กับระบบเศรษฐกิจในทศวรรษหน้าอย่างมหาศาล

ไทยก็เป็นอีกประเทศที่เข้าสู่ aging society การบริโภคในประเทศจะเติบโตได้ลำบาก อสังหาในอนาคตก็มีโอกาสจะเดินตามรอยญี่ปุ่นได้

ปัญหานี้เหมือนไม่มีทางออก แต่ความจริงแล้วถ้าเราจะปฏิวัติระบบเศรษฐกิจของไทย ยังมีความเป็นไปได้

เพียงแต่ต้องอาศัยความกล้า และวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเราจะมีโอกาสได้คนแบบนั้นมาบริหารประเทศหรือเปล่า

The Game the State Can Never Win

December 2018

ฝรั่งเศสเจอม๊อบเสื้อเหลืองล้อมปารีส มองมุมหนึ่งเป็นเรื่องการปล้นคนจน (ขึ้นภาษีน้ำมัน) ไปช่วยคนรวย (ลดภาษีนิติบุคคล) แต่มองอีกมุมมันเป็นปรากฏการณ์ผลพวงจาก นโยบายเศรษฐกิจฝืนธรรมชาติของยุโรปที่ยาวนานมานับสิบปี ไม่ใช่แค่ฝรั่งเศส แต่มันเกิดกับยุโรปทั้งยุโรป เพียงแค่ฝรั่งเศสเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ภาพที่ 55 - ม๊อบเสื้อเหลืองฝรั่งเศส
  1. รัฐให้สวัสดิการกับประชาชนเกินกำลังรัฐ ใช้จ่ายขาดดุลงบประมาณ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้รัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐกิจหลายประเทศในยุโรปแย่ แต่ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนตอนไทยเจอต้มยำกุ้ง เพราะค่าเงินกลุ่มยูโรใช้ร่วมกันทั้งหมด
  2. รัฐเงินหมด ต้องกู้ แต่รัฐหนี้ท่วม ไม่มีใครอยากปล่อยกู้ สุดท้ายธนาคารกลาง (ECB) พิมพ์เงิน เอามาให้รัฐกู้ (ปัจจุบัน ECB เป็นเจ้าหนี้ประมาณ 40% ของหนี้ยุโรปทั้งหมด)
  3. หนี้เยอะ ก็ต้องลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ลดดอกจนแทบจะติดลบ แต่หนี้ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะหยุด QE ยังไง ในเมื่อนอกจากธนาคารกลางแล้ว ไม่มีใครอยากให้ยุโรปกู้
  4. รัฐจำเป็นต้องหาทาง ไม่เพิ่มรายได้ ก็ต้องลดรายจ่าย แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีนั้นเป็นการ "ลดรายได้" อ้าว.. ตรงข้ามกับที่ควรจะทำเลยนี่
  5. รายได้ลดลง งั้นรัฐต้องใช้มาตรการ austerity รัดเข็มขัดเพื่อลดรายจ่าย รวมถึงรีดภาษีให้ได้มากขึ้น ภาษีน้ำมันเป็นเพียงผลพวงแรกของปัญหานี้ ในอนาคตน่าจะต้องมีการรีดเงินจากประชาชนในรูปแบบที่หลากหลาย
  6. แต่อย่างที่ผมจั่วหัว เกมนี้เป็นแค่เกมซื้อเวลา เพราะมันเป็นหนทางที่รัฐไม่มีวันชนะ คุณจะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยลดภาษี ผลก็คือ รายได้หด ก็ต้องไปรีดเอาจากช่องทางอื่น แต่ถ้าคุณไม่ออกนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไม่มีกระสุนอย่างอื่นที่จะใช้แล้ว เพราะนโยบายการเงินคุณใช้ไม่ได้เพราะค่าเงินผูกกันทั้งยูโร
  7. แต่อัดนโยบายการคลังมากๆ หนี้ก็ล้นหนักขึ้น พิมพ์เงินเท่าไหร่ก็ไม่ไหว แถมเครดิตกลุ่มยูโร เทียบกับสหรัฐแล้วก็ยังต่างชั้น นอกจากนี้สหรัฐยังเดินเกมส์เร็วกว่าด้วยการลด QE และขึ้นดอกเบี้ยไปตั้งแต่ปีมะโว้
  8. สุดท้ายการรีดภาษี ก็จะทำให้เกิดวิกฤติศรัทธา ประชาชนลุกฮือ (social unrest) ซึ่งไอ้สิ่งนี้แหละที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้ trust ของรัฐสูญเสียไป
  9. เมื่อไหร่ที่ trust หมดลง เมื่อนั้นวิกฤติหนี้ภาครัฐที่ดองปัญหาไว้เป็นสิบปีก็มีโอกาสจะระเบิดออก คนไม่เชื่อในรัฐ (ลูกหนี้) เงินก็จะไหลออกไปที่ความเสี่ยงต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยยูโรจะพุ่งสูง เกิดวิกฤติ Sovereign Debt Crisis ในที่สุด เงินไหลบ่าไปสหรัฐ ที่คนคิดว่าปลอดภัยกว่า แถมดอกเบี้ยสูง
  10. การประท้วงเล็กๆ อาจจะเกิดจากปัญหาที่ฝังรากลึกที่รัฐเตะถ่วง kick the can down the road มาเป็นระยะเวลายาวนาน และหากรัฐไม่รีบจัดการ ปัญหานี้อาจจะเป็นการจุดระเบิดที่เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ไปสู่ปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่พวกเราจะคาดคิดก็ได้

ผมเคยบอกว่า ถ้าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ โอกาสที่จะเกิดสูงมากคือที่ยุโรป เพราะว่าตั้งแต่ ECB พิมพ์เงินออกมา ก็ยังไม่เห็นว่า fundamental ยุโรปจะมีอะไรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเลย

หวังแค่ว่า ขอให้ผมคิดผิด และยุโรปสามารถยุติปัญหานี้ได้ในเร็ววันด้วยเถอะ 

Will the US Collapse? (Again?)

January 2019

มีคนพูดกันมาเป็น 10 ปี เรื่องสหรัฐหนี้สูง และจะล้มละลาย ดอลล่าร์จะด้อยค่า ฯลฯ ผมให้ความเห็นแบบเป็นกลาง (ส่วนตัวผมก็เกลียดสหรัฐ แต่เอาข้อเท็จจริงมาพูดกัน)

ข้อเท็จจริงก็คือ หากเจ้าหนี้ยังยินดีให้กู้ ลูกหนี้ก็ไม่มีวันล้ม

ไม่ว่าดอกเบี้ยจะสูงแค่ไหน ไม่ว่ามูลหนี้จะมากขนาดไหน ถ้าเจ้าหนี้ยังเชื่อเครดิตและยังให้ยืม ลูกหนี้ก็ยังอยู่ต่อได้

ภาพที่ 56 - เพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นในทุกรัฐบาล และถ้าสังเกตในช่วงหลังจะเห็นว่ามีการยกเลิกเพดานหนี้ชั่วคราวในช่วงที่รัฐบาลเงินหมดอยู่บ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ แหล่งข้อมูล: BBC Research

สหรัฐจะล้มหรือไม่ มันไม่สำคัญว่าหนี้มากเท่าไหร่หรอกครับ

มันสำคัญว่า เจ้าหนี้จะหยุดให้สหรัฐกู้เมื่อไหร่ต่างหาก..

ผมไม่ปฏิเสธว่าสหรัฐกำลังเดินหน้าไปสู่จุดจบ แต่มันไม่น่าจะเป็นในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่ๆ เพราะอะไร..?

เพราะเจ้าหนี้รายใหญ่ ยังไม่สามารถปล่อยให้สหรัฐล้มได้

ประกันสังคมหรือ FED ที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่สุดของสหรัฐ ก็เป็นเจ้าหนี้ในประเทศ ซึ่งอยู่ในการควบคุมของสหรัฐอยู่แล้ว

ส่วนเจ้าหนี้ต่างประเทศล่ะ สองรายใหญ่คือจีนและญี่ปุ่น ถือพันธบัตรสหรัฐอยู่ 1 ล้านล้านเหรียญโดยประมาณ

จีน ณ ตอนนี้ยังคงต้องพึ่งพาสหรัฐ จนกว่าจีนจะผลักดันการเติบโตจากภายในได้ (ซึ่งผมคิดว่าไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี)

บางคนคิดง่ายๆ ว่า แค่จีนเทขายพันธบัตรสหรัฐทั้งหมด สหรัฐก็ล้มละลายแล้ว เอาจริงๆ ต้องคิดย้อนกลับไปด้วยนะครับ "ขายให้ใคร..?" คนซื้อจะยอมซื้อในราคาเท่าไหร่ และจีนจะขาดทุนหนักแค่ไหนจากเกมส์นี้

ส่วนญี่ปุ่น ตั้งแต่ Plaza Accord เป็นต้นมา ญี่ปุ่นก็เหมือนลูกน้องสหรัฐ สั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ตามใจ แทบเป็นไปไม่ได้ที่ญี่ปุ่นจะแปรพักตร์

ผมย้อนกลับมาคำถามเดิม สหรัฐจะล้มหรือไม่ "ขึ้นกับว่าเจ้าหนี้จะหยุดให้สหรัฐกู้เมื่อไหร่"

ลองคิดนะครับ เงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ถือพันธบัตรสหรัฐ จะเอาเงินไปวางบนสินทรัพย์ไหนได้..? ตราบใดที่โลกใบนี้ยังไม่มีที่วางเงินที่ขนาดใหญ่ระดับล้านล้านได้ด้วยความเสี่ยงต่ำ ก็เป็นเรื่องยากมากที่เงินจะถูกย้ายจากตลาดพันธบัตรสหรัฐรุนแรงจนถึงระดับที่สหรัฐจะล้ม

ในทางกลับกัน สหรัฐเป็นประเทศเดียวในบรรดามหาอำนาจที่อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 3% ในขณะที่ ยูโร อังกฤษ ญี่ปุ่น อัตราดอกเบี้ยยังต่ำเรี่ยติดดิน การปรับขึ้นดอกของสหรัฐ แน่นอนว่ามันจะทำให้หนี้เพิ่ม และภาระสูงขึ้นแน่ๆ แต่มันก็ช่วยจูงใจให้เจ้าหนี้ วิ่งหนีจากพันธบัตรประเทศอื่นมาที่สหรัฐเพิ่มขึ้น

ความแข็งแกร่งที่สุดของสหรัฐก็คือ Trust ครับ ตราบใดที่คนยังเชื่อ สหรัฐก็ไม่พัง

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ Trust มันหาย เมื่อนั้นแหละ วิกฤติที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกจะตามมา

แต่อย่างที่ผมบอกในตอนต้นแหละครับ ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดเร็วๆ นี้หรอก อย่างน้อยวิกฤติสหรัฐก็ไม่น่าจะเกิดก่อน ญี่ปุ่น หรือยูโร

PS. สมมติเล่นๆ อีกข้อนะครับ ถ้าสมมติพรุ่งนี้ญี่ปุ่น หรือยูโรจะล้มละลาย คิดว่าเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรญี่ปุ่น กับยูโร จะโยกเงินไปไว้ที่ไหนได้บนโลกใบนี้ ถ้าไม่ใช่พันธบัตรสหรัฐ..?
PS. กลัวคนเข้าใจผิดขยายความอีกนิด ผมไม่ได้บอกว่าสหรัฐจะ Invincible นะครับ ทุกประเทศมหาอำนาจตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เกิดและดับ เปลี่ยนมือมาตลอด จากโปรตุเกส > สเปน > ฮอลันดา > ฝรั่งเศส > อังกฤษ > สหรัฐ > ในจุดใดจุดหนึ่งในอนาคต ก็น่าจะเปลี่ยนไม้จากสหรัฐไปเป็นจีน

วันนึงสหรัฐจะล้มครับ ผมมั่นใจ เพียงแค่ตอนนี้ยังไม่เห็นวีแววเท่านั้นเอง

อวสานระบบบำนาญ

December 2019

อ่านข่าวเรื่องระบบบำนาญดีสุดในโลกของเนเธอแลนด์กำลังล่มสลาย สาเหตุเพราะอัตราการเกิดที่ต่ำ มาพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นจาก aging society ซ้ำด้วยผลตอบแทนจากดอกเบี้ยพันธบัตรติดลบในยุโรป ทำให้กองทุนบำนาญของเนเธอแลนด์ประสบภาวะ shortage จนอาจจะต้องลดบำนาญ หรือเรียกเก็บเงินสมทบมากขึ้น 

พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมคิดว่าคนให้ความสำคัญกับปัญหาที่รออยู่น้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็นมาก ประกันสังคมของไทยขอเก็บเงินสมทบเพิ่ม ก็เห็นคนไทยโพสด่ากันเต็มไปหมด

จริงๆ ผมพูดถึงปัญหาเรื่อง pension fund ทั่วโลกมีแนวโน้มจะขาดดุลหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงความเสี่ยงที่จะล้มละลายมาหลายครั้งในรอบ 3 ปีนี้ ไม่ว่าจะเนเธอแลนด์ตามข่าว หรือญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งประเทศไทย

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะ pension fund คือกลไกที่ใช้หลักคิดของระบบสังคมนิยมมาค้ำยันระบบทุนนิยมให้ยืนอยู่ได้ในภาวะที่ความมั่งคั่งถูกถ่ายเทไปสู่คนรวยมากขึ้นเรื่อยๆ

หากกลไกนี้ล่มสลาย ปัญหาของเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นจะยิ่งใหญ่และรุนแรงมาก เพราะรอบนี้ปัญหาจะเกิดกับคนจำนวนมาก (เมื่อเทียบกับ subprime หรือ dot com bubble ที่เกิดกับคนกลุ่มเล็กๆ)

เมื่อคนรากหญ้า ไม่เหลือสวัสดิการที่จะช่วยค้ำจุนชีวิต การเรียกร้องการช่วยเหลือจากภาครัฐ และการแตกหักกับนายทุนจะเกิดขึ้น (คุ้นๆ มั้ยครับ เรื่องนี้มาร์กซพูดมานานแล้ว แล้วก็โดนชาวทุนนิยมดูถูกมาเป็นร้อยปี)

เราดูกรณีศึกษาจากฮ่องกงเป็นตัวอย่าง เมื่อประชาชนไม่ยอมรับกับระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ เมื่อนั้นความวุ่นวายจะบังเกิด รัฐที่สูญเสียความเชื่อมั่น จะเป็นตัวจุดชนวนให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย

เราเห็นมาตลอดว่า สหรัฐอเมริกาพิมพ์เงิน ยูโรปพิมพ์เงิน ญี่ปุ่นพิมพ์เงิน แต่ทำไมสกุลเงินยังแข็งแรง ไม่เกิดอภิมหาเงินเฟ้อแบบที่กลัวกัน

สาเหตุหลักๆ เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในรัฐยังคงอยู่

แต่เมื่อไหร่ที่วิกฤติ pension fund เกิดขึ้น ความเชื่อมั่นในรัฐจะสูญสลายหายไปเร็วมาก และเมื่อนั้นบาปที่สะสมจากการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ neo-keynesian ไม่ลืมหูลืมตา มันจะย้อนกลับมาทำร้ายรัฐบาล

และเมื่อนั้นการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก็จะตามมา

Hyperinflation vs. Inflation

December 2019

อภิมหาเงินเฟ้อ กับ เงินเฟ้อ แตกต่างกันยังไง..?

โพสนี้จริงๆ ผมโพสเมื่อช่วงก่อนฟองสบู่ crypto แตกช่วงปลายปี 2017 แต่คิดว่าน่าจะดีถ้าเอามาโพสใหม่อีกครั้ง

ในอดีตที่ผ่านมา Zimbabwe เงินเฟ้อหนักๆ รอบสองช่วงปี 2017 นั้น สาเหตุแตกต่างจากรอบแรกช่วงปี 2008 เท่าที่เข้าใจตอนนี้ new zim dollar อิงกับ us dollar อยู่แล้ว คือจำกัด money supply ไม่ให้ปัญหาซ้ำรอบแบบปี 2008 แต่พอรัฐบาลมูกาเบ้เจอปัญหาเงินหมด แล้วประชาชนกลัว "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" ก็เลยทิ้ง new zim ไปถือสินทรัพย์อื่นๆ แทน

ภาพที่ 57 - Hyperinflation ของซิมบับเวในช่วงปี 2008 แหล่งข้อมูล: FED Dallas AR 2011
ภาพที่ 58 - ธนบัตร zimbabwean dollar มูลค่า 100 ล้านล้านดอลล่าร์ ที่ถูกพิมพ์ออกมาในช่วง hyperinflation ซึ่งเปลืองค่าน้ำหมึกและค่ากระดาษโดยเปล่าประโยชน์ เพราะมันหมดสิ้นมูลค่าทันทีที่ออกจากโรงพิมพ์มาถึงมือประชนชน เงินก็เฟ้อมากกว่าเดิมไปหลายเท่าตัว แหล่งข้อมูล: Wikipedia

รอบแรก 2008 hyperinflation เพราะ เพิ่มปริมาณเงิน -> เงินหมดค่าจริง -> คนทิ้งเงิน

รอบ 2017 เริ่ม hyperinflation เพราะ คนกลัว -> คนเริ่มทิ้งเงิน (แต่ปริมาณเงินเท่าเดิม)

พอรัฐบาลใหม่มาแทนมูกาเบ้ ก็เรียกความมั่นใจกลับ inflation ก็ลดลงเพราะ คนมั่นใจ -> คนเก็บเงิน

สุดท้ายแล้ว inflation กับ hyperinflation โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันมีพื้นฐานที่แตกต่างกันอย่างมาก บางคนคิดว่า hyperinflation คือระดับ inflation แบบสูงสุด แต่จริงๆ แล้ว inflation ปกติจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ demand/supply ส่วน hyperinflation เกิดจากการหมด trust ของประชาชนที่มีต่อรัฐ

ดังนั้นสาเหตุที่มันลดลงอย่างรวดเร็วได้ก็คือ เกิดสิ่งตรงข้าม คือ เกิดความเชื่อมั่นในรัฐกลับมา

cryptocurrency เองเริ่มต้นด้วยแนวคิดเดียวกัน คือคุม scarcity ด้วยจำนวน limit supply ของตัวเอง อย่าง bitcoin คุมไว้ที่ 21m เหรียญ แต่ scarcity เป็นแค่ตัวสร้าง trust ตัวนึง สุดท้ายแม้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจะมี scarcity แต่ถ้าคนไม่ trust ก็ไม่มีประโยชน์

เป็นเหตุผลที่ผมเชื่อว่า bitcoin จะยังคงอยู่ ตราบเท่าที่คน trust ไม่ใช่ว่ามันยังคงอยู่เพราะมันมีจำกัด money supply (คือถึงจะจำกัด supply ยังไง ถ้าคนไม่ trust มันก็พัง) แต่สกุลเงินดิจิตอลอื่นๆ แม้จะจำกัด supply (แบบ new zim dollar แต่ถ้าคนไม่ trust ซะอย่างทุกอย่างก็จบเห่ได้)

ทีนี้ มีของอะไรในโลกที่ไม่ได้มีคุณค่ากับระบบเศรษฐกิจ แล้วแต่คนยังอยากได้อยู่ในครอบครองไหม คำตอบคือ​ "มี" และสิ่งนั้นจะทรงคุณค่าตลอดไปตราบเท่าที่คนยังให้ค่ามันอยู่ (ผมชอบยกตัวอย่างงานศิลปะ) แต่คุณสมบัตินี้ผมเชื่อว่าจะไม่มีทางได้พบเจอในสินทรัพย์แบบดิจิตอล (เพราะแม้มันจะมี uniqueness และ limit supply แต่มันขาดคุณค่าทางจิตใจ)

ถ้าใช้ความเห็นผม เงินดิจิตอล ถ้ามันไม่มีการใช้เพื่อธุรกรรมจริงๆ ไม่ได้มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ก็มีแนวโน้มว่า trust จะหายไป และถ้ามันหายมันจะไม่ได้ค่อยๆ หาย แต่จะหล่นวูบหายแบบพรวดพราดเหมือนที่เกิดกับ hyperinflation บน fiat currency เลย และวันนั้นก็ดูเหมือนจะใกล้เข้ามาทุกทีๆ ละ (ผมพูดเคสนี้ก่อนฟองสบู่ crypto แตกช่วงปลายปี 2017)

PS. อัพเดท 2019 zimbabwean dollar เริ่มใกล้ hyperinflation อีกรอบแล้ว ด้วยปัญหาเดิมๆ trust in government เสื่อมลงPS. อัพเดท 2024 ในช่วงหลังโควิด-19 สุดท้ายสกุลเงิน zimbabwean dollar ก็ล่มสลายอีกครั้ง รัฐบาลสร้างสกุลเงินขึ้นมาใหม่ในปี 2024 โดยใช้ทองคำเป็นตัวค้ำมูลค่าเงิน zimbabwean dollar สุดท้ายต้องจับตาดูว่า จะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนได้หรือไม่
​PS. มีตัวอย่างแบบสุดโต่งที่ตรงข้ามกับเคสนี้ คือประเทศอะไรเอ่ย ที่พิมพ์เงินชิบหาย พิมพ์เยอะสุดๆ คำว่า money supply เป็นเพียงมโนภาพเมื่อพูดถึงสกุลเงินนี้ แค่คนก็ยัง trust ไม่เสื่อมคลาย

สรุปแล้ว trust is everything, scarcity is just bullshit ครับ..

ใครถือ crypto เพราะเชื่อมั่นเรื่อง scarcity โปรดคิดใหม่ แต่ถ้าคุณถือเพราะเชื่อว่าคน trust อันนั้นจัดไปครับ

รัฐสวัสดิการ จะทำให้ทุนนิยมอยู่รอดได้จริงหรือ..?

December 2019

ช่วงนี้เราเห็นปัญหาจากระบบประกันสังคมและระบบบำนาญที่กำลังเจอวิกฤติ aging society ทำให้มีโอกาสที่รัฐสวัสดิการเหล่านี้จะ "ขาดทุน" หรือถึงขั้น "ล้มละลาย" ในอนาคต

รัฐสวัสดิการถูกสร้างขึ้นมาแรกเริ่มเพื่อช่วยประคองทุนนิยม ให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง "นายทุน" กับ "กรรมาชีพ" ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ เชื่อไหมว่าที่เมืองแมนเชสเตอร์ประเทศอังกฤษ (เมืองเดียวกับที่มีทีมฟุตบอลที่เคยรุ่งเรื่องแต่ตอนนี้รุ่งริ่งอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดนั่นแหละ) เป็นเมืองอุตสาหกรรมสิ่งทอในยุคนั้น ประชากรในเมืองแมนเชสเตอร์มีอายุขัยเฉลี่ยเพียงแค่ 42 ปีเท่านั้นเอง เพราะการทำงานหนักจากระบบโรงงานนรก 80-100 ชม ต่อสัปดาห์ ไม่นับรวมถึงการใช้แรงงานเด็กอย่างทารุณ

จากภาพที่ 59 จะสังเกตได้ว่าหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม อายุขัยเฉลี่ยของประชากรค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นจากไม่ถึง 40 ปี เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจนเข้าใกล้ 80 ปีแล้วในช่วงหลังปี 2000 แต่ต้องกล่าวว่าอายุขัยที่ยาวขึ้นนี้ในช่วงแรกไม่ได้เกิดจากแนวคิดทุนนิยม แต่เกิดจากการผสมผสานนโยบายเชิงสังคมนิยมเข้ามา ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนค่อยๆ ดีขึ้น

เมื่อทุนนิยมทำให้คุณภาพชีวิตเลวร้าย ทำให้ช่วงนั้นมาร์กซิสจึงเป็นเหมือนทางเลือกใหม่ให้กับคนในกลุ่มประเทศยุโรป จนคอมมิวนิสต์ฉกฉวยนำมาร์กซิสมาแต่งหน้าทาแป้งใหม่จนผิดเพี้ยนจากรากเดิมของคาร์ล มาร์กซไปไกล

แต่ตอนนั้นทุนนิยมจะยอมให้ตัวเองล่มสลายไม่ได้ การรอมชอมระหว่าง นายทุน รัฐ และกรรมาชีพจึงเกิดขึ้น นี่เป็นจุดตั้งต้นของรัฐสวัสดิการพื้นฐานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม การริเริ่มเรื่องสวัสดิภาพแรงงาน ระบบประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ เริ่มก่อร่างสร้างตัวจนเป็นรูปเป็นร่าง (พรรคแรงงานของอังกฤษก็มีจุดเริ่มต้นจากการต่อสู้เพื่อสิ่งนี้)

บางคนจะพูดว่า รัฐสวัสดิการคือ การพบกันตรงกลางระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม หรือตรงกลางของซ้ายและขวา ฟังหรูดูดี

แต่เอาเข้าจริงๆ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ..?

ใช้การคำนวนง่ายๆ ทางคณิตศาสตร์ เงินบนโลกนี้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งหลังวิกฤติ subprime ของสหรัฐในปี 2008 จากการ QE มหาศาลของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยูโร อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ

แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ได้รวยขึ้นในอัตราเร่งเดียวกัน นั่นหมายถึงว่าปริมาณเงินบนโลกส่วนใหญ่นั้นไหลเข้าสู่คนส่วนน้อยมากขึ้นๆ จนเริ่มทำลายกฎพาเรโต 80/20 ที่ว่าด้วยเงิน 80% บนโลก อยู่ในมือคน 20% (ตอนนี้กระแสเงินค่อยๆ ไหลเข้าสู่กฏ 99/1 เรื่อยๆ แล้ว)

ภาพที่ 60 - Wealth gap ที่บ่งบอกถึงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน โดยที่ 70.1% ของประชากรโลกในปัจจุบันมีทรัพย์สินรวมกันเพียงแค่ 2.7% ของทรัพย์สินทั้งหมดบนโลกเท่านั้น ในขณะที่ 0.7%ของประชากรโลกในกลุ่มอภิมหาเศรษฐี มีทรัพย์สินรวมกันถึง 45.93% ของทรัพย์สินทั้งหมดบนโลก หรือคิดเป็นทรัพย์สินโดยรวมมากกว่า 128.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

Wealth gap ที่บ่งบอกถึงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

ด้วยคณิตศาสตร์เด็กประถมก็คำนวนได้ ว่าถ้าเงินบนโลกไม่ได้อยู่ในมือคนส่วนใหญ่ การสร้างรัฐสวัสดิการ โดย "เจียด" เงินของคนส่วนใหญ่ มาเป็นกองทุน แล้วนำกองทุนไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน การเติบโตของเงินนั้นไม่มีทางที่จะเทียบกันได้กับความมั่งคั่งที่ไหลไปสู่กลุ่มชนชั้นสูงของโลก

คุณเป็นหมากบนกระดาน monopoly ที่ทุกช่องตาเดินมีโรงแรมของคนอื่นเปิดมาครบหมดแล้ว ถึงคุณเดินครบรอบแล้วได้เงินมาอีกรอบละ $2,000 ก็คงไม่ช่วยให้คุณมีชีวิตรอดในกระดาน monopoly นี้ต่อไปได้

พูดง่ายๆ คือ เราไม่มีทางจะเท่าเทียมกันมากขึ้นผ่านระบบรัฐสวัสดิการ ตราบใดที่ชนชั้นสูง ไม่เต็มใจที่จะลดความมั่งคั่งของตัวเองลง (เช่นการเก็บภาษีคนรวยมากขึ้นอย่างมีนัยยะ เพื่อนำไปสมทบกับรัฐสวัสดิการของคนส่วนใหญ่ แต่สิ่งนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง) บทบาทของรัฐมีสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด คือ การดึงความมั่งคั่งจากคนรวยเข้ามาเป็น input ใหม่ของรัฐสวัสดิการให้สำเร็จ

ท้ายที่สุดความผิดเพี้ยนของทุนนิยม รวมถึงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้รัฐสวัสดิการ ความหวังสุดท้ายของทุนนิยม กำลังจะล่มสลายไปตามๆ กัน

ไม่นับรวมไปถึงสุขภาพของดาวเคราะห์ดวงนี้ที่ทรุดโทรมหนักขึ้นเรื่อยๆ จากทุนนิยม ที่รีดทรัพยากรของโลกอย่างเต็มที่เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งของคน จนดาวเคราะห์ดวงนี้แทบไม่มีโอกาสฟื้นฟูกลับไปสู่ prosperity ที่เคยมีมาในอดีตอีกต่อไปแล้ว

เห็นบิลเกตต์แนะนำหนังสือ Factfulness (จริงๆ แล้วโลกดีขึ้นทุกวัน) เราคิดว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ แล้วเหรอ..?

The Fed's Intervention in the Repo Market: A Silent Threat

December 2019

การที่ FED แทรงแซงอัตราดอกเบี้ย Repo Market เป็นอะไรที่แอบน่ากลัวอยู่เงียบๆ นะครับ

อัตราดอกเบี้ย Repo Rate ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มันบ่งบอกถึงความไม่เชื่อใจซึ่งกันและกันของแบงค์ใหญ่ (เลยทำให้อัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมข้ามคืนระหว่างธนาคารมันกระโดดไปไกล จน FED ต้องเอาเงินอัดฉีดเพื่อกดดอกเบี้ยลง)

ภาพที่ 61 - อัตราดอกเบี้ย Repo Rate พุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงปลายปี 2019 แต่เรายังไม่ทันได้ทราบผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ โลกก็โดนโจมตีโดยโรคระบาดโควิด-19 เสียก่อน ทำให้เรื่อง Repo Rate กลายเป็นประเด็นเล็กๆ ที่ถูกลืมเลือนไปในที่สุด

ภาพที่ 61 - อัตราดอกเบี้ย Repo Rate พุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติในช่วงปลายปี 2019

เค้าว่ากันว่า ผีมักจะเห็นผีด้วยกัน แบงค์ใหญ่ก็คงพอรู้ไส้รู้พุงกันอยู่

ถ้าแบงค์ไม่เชื่อใจกันแล้ว มันคงต้องมีเหตุผลที่น่ากลัวอยู่เบื้องหลังพอสมควร

ความเสี่ยงอะไรที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มธนาคารสหรัฐ ที่กำลังรอวันระเบิดอยู่หรือเปล่า..?

การแทรกแซงนี้ก็ยังไม่น่าจะจบง่ายๆ เห็นว่าจะอัดฉีดประมาณ 5 แสนล้านเหรียญในปีนี้ และปีหน้าก็อาจจะมีต่อเนื่องอีก แสดงว่าปัญหานี้มันไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นแล้ว

Conspiracy Theory ก่อนนอนคืนนี้.. จริงๆ ผมไม่มีข้อมูลอะไรเลยครับ เหมือน Hidden Markov Model คือ เห็นแต่ข้อมูลเล็กๆ ตรงหน้า แต่ต้องมาเดาว่าจริงๆ ข้างหลังมันมีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า

ไม่ได้อยากให้กังวลอะไรกันมากครับ อาจจะไม่มีอะไรในกอไผ่เลยก็ได้ แต่ระวังเรื่องนี้กันไว้ซักนิดก็ดี

Repo Market คืออะไร?

ตลาด Repo หรือตลาดซื้อคืนพันธบัตร คือตลาดที่ธนาคารและสถาบันการเงินใช้กู้ยืมเงินระยะสั้นระหว่างกัน โดยทั่วไปเป็นการกู้ยืมข้ามคืน วิธีการคือ ผู้กู้จะขายหลักทรัพย์ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) ให้ผู้ให้กู้ และตกลงที่จะซื้อคืนในราคาที่สูงกว่าเล็กน้อยในวันรุ่งขึ้น ส่วนต่างของราคานี้คืออัตราดอกเบี้ย ตลาด Repo มีความสำคัญมากเพราะช่วยให้ธนาคารจัดการสภาพคล่องระยะสั้นได้ และเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราดอกเบี้ย Repo Rate เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะ:

  • บ่งชี้ถึงปัญหาสภาพคล่อง: อัตราดอกเบี้ย Repo Rate ที่พุ่งสูงขึ้นแสดงว่าธนาคารต้องการเงินสดมากขึ้นและยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงเพื่อให้ได้มา
  • สะท้อนความไม่เชื่อมั่น: ธนาคารอาจไม่เต็มใจให้กู้ยืมแก่กันเพราะกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของคู่สัญญา
  • ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินอื่นๆ: อัตราดอกเบี้ย Repo Rate ที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมในตลาดอื่นๆ สูงขึ้นด้วย
  • บ่งชี้ถึงปัญหาในระบบการเงิน: อาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ลึกกว่านั้นในระบบธนาคาร
  • ท้าทายนโยบายการเงิน: ทำให้ธนาคารกลางต้องเข้าแทรกแซง ซึ่งอาจส่งผลต่อนโยบายการเงินโดยรวม

Universal Basic Income (UBI): What Is It Really For?

February 2020

วันนี้อ่านโพสของน้องคนนึงที่พูดเรื่องการทดลอง Basic Income ในฟินแลนด์แล้วผมค่อนข้างตกใจ

ตกใจที่คนหลายคน แม้แต่สื่อที่เขียนเรื่องนี้ มองว่า Basic Income ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน

แต่ตัวชี้วัดว่า Basic Income ใช้ได้ดีหรือไม่ ไม่ใช่ดูที่ “อัตราการว่างงานลดลงหรือเปล่า?” เพราะการแก้ปัญหาด้วย Basic Income ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการทำให้เกิด Job มากขึ้น..!!

แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ว่า แม้โลกเราจะถึงยุคที่ Job น้อยลงเรื่อยๆ มนุษย์ก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ต่างหาก..!!

นั่นคือการบ่งบอกว่า “งานประจำกินเงินเดือน” อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญในการดำรงชีพอีกต่อไปแล้วในอนาคต

ในโลกทุนนิยม คนเรายึดติดกับสามัญสำนึกที่ว่า เกิดมา เรียนจบ ทำงาน มีครอบครัว เกษียณ ตาย เป็นแบบนี้มานับร้อยๆ ปี เพราะ ถ้าคุณไม่ทำงาน คุณจะไม่มีเงินมาเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว

ในโลกทุนนิยมเราเลยมีความคิดฝังหัวว่า เศรษฐกิจที่ดี ต้องว่างงานต่ำ คนต้องมีงานทำ ชาติจะเจริญรุ่งเรือง

แต่ทางกลับกัน ผลพวงจากทุนนิยมหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ร่วมๆ 250 ปี ในด้านตรงข้ามกับ civilization ที่เพิ่มขึ้น เราเห็นอะไรกันบ้าง..?

เราเห็นโลกทุกวันนี้แย่ลงไปเรื่อยๆ ถึงขนาดที่เราจะต้องเอาหน้ากากปิดหน้าเวลาออกนอกบ้านกันเลยทีเดียว โลกแย่ลงถึงขนาดที่ทะเลมีสารพิษจากพลาสติก ป่าหายไปเกือบทั้งโลก อากาศเป็นพิษขั้นรุนแรง คนกำลังอดตายเกิน 15% ของประชากรโลก ส่วนมนุษย์มีอันจะกินก็บริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง สารเคมีจากการผลิตที่เราบริโภคเข้าไปทุกวัน ทั้งพาราควอต ทั้งยาฆ่าแมลง ยาปฏิชีวนะจากสัตว์ อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า สภาวะทางจิต และความเครียดของคน ฯลฯ

ลูกหลานของเราจะต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตอย่างไร หากทุนนิยมยังดำเนินต่อไปในทิศทางแบบนี้เรื่อยๆ

เราลองคิดมุมกลับครับ..

ถ้าคนไม่ต้องทำงาน แต่มีรายได้เลี้ยงชีวิตอยู่ได้ เวลาที่เหลือจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกที่ดีขึ้นได้อย่างไร..?

ถ้าคนเราไม่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ พวกเราจะสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ เราจะใช้เวลา volunteer เพื่อสังคม เพื่อธรรมชาติ หรือเพื่อโลกได้เพิ่มขึ้นไหม..?

เราจะคืน prosperity (ขอโทษจริงๆ ผมนึกคำไทยที่เหมาะกับบริบทนี้ไม่ออก) ให้กับดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ไหม..? prosperity ที่เราทำลายไปจนเกือบหมดจากยุคทุนนิยม

เราจะสร้าง Job ในยุคใหม่ ที่ใช้ตอบโจทย์โลกใบใหม่ เป็น Job เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนบนโลกใบนี้ได้ไหม Job ที่ในยุคทุนนิยมไม่เคยเกิดขึ้น ด้วยข้ออ้างที่ว่า เราต้องดิ้นรน ต้องหาเลี้ยงตัวเอง และครอบครัว ดังนั้นในยุคที่ข้ออ้างเหล่านั้นหมดไปแล้ว พวกเราจะสร้าง Job อะไรเพื่อโลกใบนี้ได้มากขึ้นบ้าง Job ที่ไม่ได้ให้ value กับแรงงานในรูปแบบของ “เงิน” แต่เป็นรูปแบบอื่น..?

ดังนั้น มนุษย์ในอนาคตจะสามารถมีตัวชี้วัดความสำเร็จ ในฐานะมนุษย์ นอกเหนือไปจาก “ความมั่งคั่ง” ได้ไหม ตัวชี้วัดใหม่ที่จะบ่งบอกว่าคุณมี “ความเป็นมนุษย์” สูงแค่ไหน จาก contribution ที่คุณมีให้กับโลก ไม่ใช่จากเงินที่คุณสะสมเพื่อตัวคุณเอง

นี่ต่างหากครับ เป้าหมายที่ Basic Income ต้องการหาคำตอบ.. ไม่ใช่การลดอัตราการว่างงาน..

PS. ผมยังไม่พูดถึงประเด็นว่า รัฐจะหาเงินที่ไหนมาเป็น Basic Income ให้ประชาชน (เดี๋ยวโพสอื่นๆ ผมจะลองอธิบายที่มาที่ไปให้ฟัง) อันนั้นไว้พูดทีหลังนะครับ เราพูดเรื่อง “การวัดความสำเร็จ” ของ Basic Income เสียก่อน

พอผมเห็นคนพูดว่า “Basic Income ไม่เวิร์กหรอก ว่างงานไม่เห็นลดลงเลย” มันทำให้ผมค่อนข้างตกใจ และตั้งคำถามใหญ่มากๆ ว่าคนเขียนข่าว และคนวิจารณ์นั้นเข้าใจ Basic Income และเป้าประสงค์ของมันมากแค่ไหน

สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้ยินแนวคิด UBI ลองอ่านด้านล่างครับ

UBI คืออะไร..?

Elon Musk ให้ความเห็นกับสื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าโลกของเราจะเข้าสู่ยุค Universal Basic Income

UBI คือสวัสดิการรูปแบบใหม่ที่รัฐจะแจกเงินขั้นต่ำให้กับประชาชน สาเหตุหลักก็คือ ในอนาคตระบบ automation จะมาทดแทนแรงงานมนุษย์ในตำแหน่งงานจำนวนมาก (ว่ากันว่าอีก 20 ปี ตำแหน่งงานของมนุษย์อาจจะถูกระบบ automation ทดแทนไปถึง 80%) เช่น คนขับรถ, พนักงานเสิร์ฟ, เกษตรกร, พนักงานโรงงาน, ประชาสัมพันธ์, พนักงานขายตั๋ว, แคชเชียร์, นักวิเคราะห์หุ้น, มาร์เก็ตติ้งหุ้น ฯลฯ

เมื่อคนถูกแย่งงาน ก็จะเกิดปัญหาการตกงานอย่างรุนแรงทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตของโลกจะลดลงอย่างมหาศาล แต่ประชาชนก็จะไม่มีกำลังซื้อ เกิดภาวะเงินฝืดเรื้อรัง (ปัญหาคล้ายกับ the great depression ปี 1929)

ในช่วง the great depression ใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยหลักเศรษฐศาสตร์แบบเคนเชียน (Keynesian) นั่นก็คือให้รัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างงาน เมื่อคนมีงาน มีเงินเดือน ก็จะเริ่มมีการหมุนเวียนการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ในที่สุด

แต่ในอนาคตอันใกล้ การแก้ไขในรูปแบบเคนเชียนอาจจะไม่สามารถทำได้ เพราะ “งาน” ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้คน ดังนั้นการเพิ่ม “งาน” โดยรัฐ จึงอาจจะไม่ใช่ทางออก

นักวิทยาศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์หลายคน รวมถึง Elon Musk, Andrew Ng ให้ความเห็นว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเงินฝืดขั้นรุนแรงที่จะเกิดจากการ disrupt แรงงานมนุษย์โดยระบบอัตโนมัติ ก็คือ “แจกเงินให้ประชาชนซะ”..!!

นี่แหละครับ คือ UBI

แต่คำถามของนักเศรษฐศาสตร์คือ รัฐจะหาเงินจากไหนมาทำ UBI อันนี้ในทางทฤษฏีถือว่ามีทางออกที่ค่อนข้างชัดเจน และดูจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ครับ ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสถัดไป

Global Pension Funds: Shifting Strategies in Low-Interest Environments

February 2020

สิ่งหนึ่งที่เห็นจากกองทุน Pension Fund ระดับใหญ่ๆ ของโลก

อันดับ 1. Social Security Trust Funds (US)
สินทรัพย์ 2.9T - ลงทุนในพันธบัตรสหรัฐเกือบ 100%

อันดับ 2. Government Pension Investment Fund Japan (JP) 
สินทรัพย์ 1.5T - ลดการลงทุนในพันธบัตร เพิ่มการลงทุนในหุ้น และ Alternative Asset

อันดับ 3. Military Retirement Fund (US)
สินทรัพย์ 0.8T - ลงทุนในพันธบัตรสหรัฐเกือบ 100%

อันดับ 4. Federal Employees Retirement System (US)
สินทรัพย์ 0.7T - ลงทุนในพันธบัตรสหรัฐเกือบ 100%

อันดับ 5. National Pension Service of Korea (KR)
สินทรัพย์ 0.7T - ลดการลงทุนในพันธบัตร เพิ่มการลงทุนในหุ้น และ Alternative Asset

ภาพที่ 63 - กองทุนประกันสังคมของญี่ปุ่น (GPIF) เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น และลดการลงทุนในพันธบัตรแหล่งข้อมูล: Government Pension Investment Fund

ดูแล้วเห็นความแตกต่างระหว่างฝั่งเอเชียกับอเมริกาชัดเจน

ฝั่งเอเชีย (ญี่ปุ่น เกาหลี) ลดการถือครองพันธบัตร ไปลงทุนสินทรัพย์อื่น เพื่อเพิ่มผลตอบแทน (แน่นอนความเสี่ยงเพิ่มขึ้น) GPIF ของญี่ปุ่นจะโหดกว่า KNPS ของเกาหลี คือเทขายพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอื้อซ่า ย้ายไปเพิ่มการลงทุนในหุ้นเพิ่มจาก 10 เป็น 25%

ในขณะที่ฝั่งสหรัฐ ยังยึดหลักถือครองพันธบัตร ทั้งๆ ที่ดอกเบี้ยต่ำติดดิน

เมื่อผลตอบแทนไม่เพียงพอ มาติดตามกันว่าฝั่งสหรัฐจะหาทางออกให้กับ Pension Fund ยังไงในยุค Aging Society..?

PS. ถ้ากองทุน Pension Fund กับพวก Sovereign Wealth Fund ในโลก ย้ายการลงทุนจากพันธบัตรความเสี่ยงต่ำ มาหาสินทรัพย์อย่างหุ้นหรือ Alternative มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต้องแปลกใจที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงวิ่งขึ้นต่อได้ (ยกเว้นตลาดไทย) แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง นั่นบ่งบอกว่า ยิ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินจะยิ่งไหลไปยังตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
PS. ถ้าสังเกตกรณี Sovereign Wealth Fund หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งโดยมากเป็นกองทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่ากองทุน Pension Fund เราจะเห็นได้ว่ากองทุนเหล่านี้กระจายการลงทุนลงในสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะกลุ่มกองทุน Sovereign Wealth Fund ของประเทศในเอเชีย

The Hidden Peril of Risk-Free Government Bonds: A Critical Look at Modern Portfolio Theory

February 2020

การประเมินความเสี่ยงพันธบัตรรัฐบาลเป็น 0 คือ ความน่ากลัวที่สุดของกลไก Risk Management และ Asset Allocation

ด้วยความเชื่อที่ว่ารัฐไม่มีวันล่มสลาย ทำให้แนวคิดการกระจายสินทรัพย์จึงวนเวียนอยู่กับตลาดพันธบัตรซึ่ง "เชื่อกันว่า" low risk low return

ภาพที่ 66 - Modern Portfolio Theory

ผมพูดเสมอเวลาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่อง Asset Allocation กับหลายๆ ท่าน ที่ผมยืนยันว่า Modern Portfolio Theory มีปัญหา (และเป็นปัญหาใหญ่มากด้วย) ไม่ใช่เพราะตัวทฤษฏีของมันเอง

แต่เป็นแนวคิดการวัด Expected Risk/Return จาก "อดีต" ต่างหาก คุณแค่ "เชื่อ" ว่าพันธบัตรปลอดภัย เพราะเมื่อก่อนมันเป็นแบบนั้น และคิดไปว่าอนาคตก็คงจะเป็นแบบนั้นนั่นแหละ ไม่เปลี่ยนแปลงหรอก (ใครสนใจประเด็นนี้ อยากให้ลองอ่านทฤษฏีไก่งวงใน The Black Swan ของ Nassim Taleb)

สาเหตุที่คนมองว่าพันธบัตรความเสี่ยงต่ำ เพราะเสถียรภาพของรัฐเป็นสำคัญ

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าพรุ่งนี้เช้าเราตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าพันธบัตรกลายเป็นสินทรัพย์ high risk low return

ผมพูดไปแล้วในโพสก่อนๆ ว่าปัญหาของรัฐมหาอำนาจ อย่าง ญี่ปุ่น (หรือแม้แต่อเมริกา กับยูโร) มีเหมือนๆ กันคือ การบิดเบือนกลไกตลาด แทรกแซงตลาดด้วยมือที่สามอย่างแบงค์ชาติ

ตลาดพันธบัตรถูกบิดเบือนความเป็นจริงตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา และความจริงนี้ถูกบิดเบือนมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาในการประเมินความเสี่ยงมันอยู่ที่ว่า เรารับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาในโมเดลมากแค่ไหน และข้อมูลเพิ่มเติมนั้นทำให้เราปรับระดับความเสี่ยงของพันธบัตรใหม่ได้หรือเปล่า

แนวทางการวัดความเสี่ยงด้วยการที่คุณเอา variance ในอดีต มาใช้ทำนายความเสี่ยงในอนาคต ก็ไม่ต่างจากคุณขับรถแบบปิดกระจกหน้า แล้วดูแต่กระจกหลังเพื่อนำทาง

แล้วนักการเงินส่วนใหญ่ก็ดันเชื่อซะด้วยว่า ดูแต่กระจกหลังแล้ว จะไปถึงเส้นชัยได้ปลอดภัย

PS. แอบหวังว่า โมเดลประเมินความเสี่ยงสินทรัพย์ของทีม Avareum ที่กำลังพยายามวิจัยกันอยู่โดยใช้ Causal Inference และ Deep Learning จะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามเรื่อง Asset Allocation ที่ค้างคาใจผมมาตลอดหลายปี


Disclaimer: Avareum Research is an independent crypto research firm committed to providing unbiased and informative content. While we strive for complete objectivity, it's important to note that the research industry is inherently complex and may be influenced by various factors. To ensure transparency, we disclose any potential conflicts of interest, such as financial sponsorships or investments in the crypto space. Ultimately, all research and analysis provided by Avareum Research is intended for informational purposes only and should not be considered financial advice. Please consult with a qualified professional before making any investment decisions.

© 2024 Avareum Research. All Rights Reserved. This article is provided for informational purposes only. It is not offered or intended to be used as legal, tax, investment, financial, or other advice.

Read more

Crypto Narrative 2024: Web 3.0 and Blockchain Adoption

Crypto Narrative 2024: Web 3.0 and Blockchain Adoption

Introduction to Web 3.0 and Blockchain Technology ประเด็นสำคัญ Web 3.0 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “Semantic Web” หรือ “Decentralized Web” นับเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโลกดิจิทัล โดยนำเสนอประสบการณ์ส่วนบุคคล ผ่านระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)

By Avareum Research
Avareum Market Outlook 2024: Perpetual Protocol

Avareum Market Outlook 2024: Perpetual Protocol

Derivative and Derivative in DeFi Derivative เป็นกลไกการทำธุรกรรมบนราคา ที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องถือครอง Asset ตัวอย่าง Asset ได้แก่ Bond, Stock, Commodity, Interest rate, Currency และ Crypto รูปแบบที่นิยมนำมา Trade กันได้แก่ Forward, Future และ Option เป็นต้น มูลค่าการซื

By Avareum Research